“จับ” แล้ว “จบ” ผลักดันผู้อพยพ ไม่ใช่การใช้กฎหมาย
"ที่ผ่านมารัฐไทยมีนโยบาย “ไม่รู้ไม่เห็น” และเราก็ผลักดันผู้อพยพโรงฮิงญาออกไป การผลักดัน เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมายให้ทำ... จับแล้วจบ ทำไมไม่จับ กลับปล่อยให้กระบวนการค้ามนุษย์เติบโตเรื่อยๆ มีกระบวนการเรียกค่าไถ่"
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ร่วมในเวทีเสวนา โรฮิงญา รัฐ ชาติ ประวัติศาสตร์ และความหวัง ซึ่งจัดโดยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายสุรพงษ์ ได้มองกรณีผู้อพยพ หรือผู้เคลื่อนย้ายผ่านประเทศไทยชาวโรฮิงญาว่า ประเทศไทยมีข้อมูลคนเหล่านี้น้อยมาก "เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจึงเป็นไปได้ยาก เพราะเราไม่เข้าใจเขาเลย"
คนกลุ่มนี้เป็นใคร ที่บ้างก็บอกว่า เป็นกลุ่มคนของเมียนมาร์ที่ถูกกดขี่และอพยพมาไทย จากนั้นก็มีความพยายามค้นหาที่ไปที่มาเชื้อสายเป็นมาอย่างไร มีความพยายามถอยหลังไปหาประวัติศาสตร์ให้มากที่สุด ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ ตั้งคำถาม ที่เราพยายามถอยหลังไปมากแล้วนำไปสู่การแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญาอย่างไร
"ความพยายามหารากเหง้า โดยย้อนกลับไปหารากเหง้านั้น ไม่มีนัยยะที่สำคัญ เพราะทั่วโลกไม่มีใครเขาหากัน ดังนั้น หากเราตั้งประเด็นผิดกลับไปคิดรากเหง้า เราจะหลงทาง กลับกลายเป็นไปเกลียดอังกฤษ ชาติโน้นชาตินี้ไปเรื่อย"
นายสุรพงษ์ ได้ยกตัวอย่างในสังคมไทยเรียนรู้เรื่องนี้ตลอดมา เช่น มีการนำคำว่า "เชื้อชาติ" เอาออกจากทะเบียนบ้านมาแล้ว 30 ปี ปัจจุบันนี้เหลือแต่คำว่า "สัญชาติ"
"คำว่า เชื้อชาติระบุไปในกฎหมายจะทำให้คนเกลียดกัน ไม่ชอบกัน มีการแบ่งแยกกัน"
สำหรับข้อเท็จจริง โรฮิงญา ในฐานะคนทำงานเรื่องผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น นายสุรพงษ์ เห็นว่า ส่วนหนึ่งมาจากเมียนมาร์ ส่วนหนึ่งมาจากบังคลาเทศ ใน 2 กลุ่มนี้เราไม่รู้ใครมากกว่ากัน ดังนั้น หากจะพูดถึงปัญหานี้ ก็ต้องพูดถึงเมียนมาร์และบังคลาเทศอย่างสมดุลกันด้วย ไม่ใช่พูดแต่เมียนมาร์แต่บังคลาเทศไม่พูดถึงเลย ก็ไม่นำสู่การแก้ไขปัญหาเช่นกัน
"เรื่องศาสนา โรฮิงญาที่ทุกคนบอกว่า มีแต่มุสลิม แต่เชื่อหรือไม่ ตอนที่ไปดูแคมป์โรฮิงญา มีชาวฮินดูจากบังคลาเทศ มีบางคนเป็นยะไข่นับถือศาสนาพุทธ แม้จะเป็นส่วนน้อย ดังนั้นทฤษฎีศาสนาอย่างเดียวตอบโจทย์นี้ไม่ได้ การบอกว่า เป็นเรื่องเกลียดชังทางศาสนาอย่างเดียว พบว่า ยังมีมิติอื่นมีองค์ความรู้หลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง มิเช่นนั้น เราจะเดินหลงทาง"
ส่วนประเด็นที่ไปที่มา กระแสเดียวขณะนี้ คือ ถูกรัฐบาลเมียนมาร์กดขี่ ชาวโรฮิงญาจึงอพยพมานั้น ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ กล่าวว่า ความจริงแล้วมีอะไรมากกว่านั้น ความจริงผู้อพยพ ครึ่งหนึ่งมาจากบังคลาเทศ ถามว่า เมียนมาร์กดขี่ตรงไหน และฮินดู พุทธ มายังไง หรือบางกระแสที่บอก ผู้อพยพเข้ามาหางาน แล้วผู้หญิงกับเด็กมาหางานอย่างไร เขาเหล่านั้นมาหาครอบครัว เรื่องที่ไปที่มาผู้อพยพโรฮิงญา แต่ละคนจึงหลากหลายมาก
"การสรุปง่ายๆ ผู้อพยพโรฮิงญา เข้ามาหางาน หนีความยากลำบาก กดขี่ จึงจำเป็นต้องค้นหาปัจจัยหลายอย่างที่ต้องศึกษาร่วมกัน เพื่อหาทางออกที่ตรงกับปัญหาจริง" นายสุรพงษ์ กล่าว และว่า ส่วนกลุ่มใหม่ที่เข้ามา บางทีก็สมัครใจมา หรือถูกอุ้มมาก็เยอะมากช่วงหลังๆ แล้วกลุ่มเหล่านี้เราจะแยกอย่างไร มีข้อมูลอีกจำนวนมากที่เราต้องไปศึกษาด้วย
แม้แต่กรณีเหตุการณ์ล่าสุด 14 พฤษภาคม พบเรือประมงของผู้อพยพชาวโรฮิงญาบริเวณด้านตะวันออก เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ในเขตน่านน้ำไทย สื่อมวลชนสรุปเองเลยว่า นายหน้าค้ามนุษย์ทิ้งเรือไปแล้ว และผู้ลี้ภัยโรฮิงญาต้องการไปประเทศมาเลเซีย
ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ นายหน้าทิ้งเรือไปทั้งลำจริงหรือไม่ เรือขนาดใหญ่ 3 ชั้น มีเรด้า มีจีพีเอส เป็นเรือแม่ และมีเรือลูก ราคาเรือลำละกี่ล้าน มันใช่หรือไม่
"จริงอยู่นายหน้ารายใหญ่ทิ้งเรือไป แต่ยังมีนายหน้ารายเล็กๆ ก็ยังคุมเรืออยู่"นายสุรพงษ์ ชี้จุด พร้อมตั้งข้อสังเกตุ ผลประโยชน์มหาศาลใครจะทิ้งง่าย คนที่คุยกับเจ้าหน้าที่ ถามว่า เป็นคนอพยพมาหรือคนคุมเรือ และชาวโรฮิงญาจนจริงๆ พูดภาษาอังกฤษได้หรือไม่ ส่วนคนที่เป็นเหยื่อจริงๆ จะกล้าเอ่ยปากพูดหรือไม่ หรือขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ เป็นคนพูดแทน รวมถึงการที่ผู้อพยกต้องพูดว่าไปมาเลเซีย หากไม่พูดแบบนี้ก็โดนจับ และหากถูกจับและสอบสวน คนนำพา มีโทษหนัก
ทั้งนี้ การผลักออกไปเป็นเจตนาของใคร เรื่องเหล่านี้ต้องศึกษาให้มากขึ้น ยิ่งนานวัน เขาพบว่า ยิ่งพบข้อมูลที่หลากหลาย
"หากปลายทางเป็นประเทศที่ 3 มาเลเซีย ถามว่า ทำไมต้องลอยลำในน่านน้ำไทย ทำไมต้องขึ้นบกที่ประเทศไทย ก็เพราะปลายทางในระยะแรก คือประเทศไทย เรือเหล่านี้มีปลายทางที่ประเทศไทย เรือจากไทยไปรับมา รวมไปถึงมีกระบวนการไปหลอกคนเหล่านี้ถึงหมู่บ้าน
ถามว่า ลอยในน้ำน่าน 2 เดือน ทำไมต้องรอ 2 เดือน เนื่องจากสมัยก่อนเรือลำเล็กจุคนได้ไม่เกิน 100 คน ปัจจุบันนี้เรือลำใหญ่ขึ้นจุได้มากถึง 600-700 คน ไม่เต็มไม่ออก ไปจอดรออยู่น่านน้ำ และรอเรือเล็กทยอยจากบังคลาเทศและเมียนมาร์ เมื่อออกมาถึงประเทศไทย ขึ้นฝั่งไม่ได้ ก็ลอยลำรอการขึ้นฝั่งที่ประเทศไทย”
นายสุรพงษ์ ยังบอกอีกว่า เรือไทยไปมาเลเซีย อินโดนีเซียไม่ได้ รุกล้ำน่านน้ำประเทศเขาแน่นอน อีกทั้งชายฝั่งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไม่มีกระบวนการรอรับเรือเหล่านี้ กระบวนการรอรับคนอพยพโรฮิงญา อยู่ทางบก ขึ้นฝั่งประเทศไทย และไปทางบกมีกระบวนการรอรับฝั่งมาเลเซีย
นี่เป็นเหตุทำไมต้องมาไทย และเรือที่ไปรับมาก็เป็น “เรือไทย”
เขาเห็นว่า เมื่อเราเข้าใจปัญหาจะนำสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากขึ้น
เมื่อถามว่า แล้วไทยจะแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ มองว่า ที่ผ่านมารัฐไทยมีนโยบาย “ไม่รู้ไม่เห็น” และเราก็ผลักดันออกไป
การผลักดัน เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมายให้ทำ ไปอ่านกฎหมายไหนให้อำนาจเจ้าหน้าที่ผลักดันไม่มี ฉะนั้น การกระทำที่ผ่านมาผิดกฎหมายทั้งนั้นเลย ความจริง เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กฎหมายนี้ใช้คำว่า "ส่งกลับ"
ดังนั้นการผลักดันกับการส่งกลับแตกต่างกันมาก
"ผลักดัน" คือ หากล้ำเขตแดนไทยเข้ามา ทหารเป็นรั้วผลักไว้ ซึ่งยังไม่ทำผิดกฎหมาย แต่ "การส่งกลับ" คือการทำผิดกฎหมายไทย เข้ามาในน่านน้ำไทยเรียบร้อยแล้ว เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองที่ต้องทำคดี สืบสวนสอบสวน ส่งให้อัยการ และส่งฟ้องศาล เมื่อศาลตัดสิน ทำผิดกฎหมาย ตรวจคนเข้าเมืองต้องดำเนินการส่งกลับประเทศต้นทาง การส่งกลับ ต้องมีคนรับ ประเทศต้นทางต้องรับอย่างเป็นทางการ กระบวนการส่งกลับ จึงเป็นกระบวนการที่ทั่วโลกใช้กัน
เมื่อถามย้ำว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยทำกระบวนการอย่างนี้หรือไม่ เขายืนยันว่า ที่ผ่านมาเราแทบไม่ได้ทำ
พร้อมกับให้ ข้อมูลตัวเลขยืนยัน ผู้อพยพทางเรือ เข้ามาประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2548 ระยะเวลา 10 ปีผ่านไป
ปี 2549 ข้อมูลของ กอรมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จับกุมคนผู้อพยพโรฮิงญาเหล่านี้ได้ 1,225 คน
ปี 2550 จับกุมได้ 2,763 คน
ปี 2551 จับกุมได้ 4,886 คน
นายสุรพงษ์ ชี้ชัดว่า นโยบายผลักดัน ยิ่งผลักดันคนเหล่านี้ ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนเหล่านี้ “ไม่มี” จุดมุ่งหมายไปมาเลเซีย อินโดนีเซียทางเรือเลย เป้าหมายคือประเทศไทย เนื่องจากมีกระบวนการรองรับอยู่
“ยิ่งผลัก ยิ่งเข้า เพราะไม่โดนจับ”
จนปี 2551 ปลายปี สำนักข่าว CNN ออกข่าวทั่วโลก ไทยผลักดันและดูแลคนเหล่านี้ไม่ดีพอ เตรียมออกแถลงการณ์ประนามไทย มาเลเซีย ค้ามนุษย์โรฮิงญา
จนปี 2552 เมื่อเรือผู้อพยพเหล่านี้มาไทยอีก สิ่งที่รัฐไทยทำ คือ มีการนำขึ้นบกที่จังหวัดระนอง และเข้าสู่กระบวนการฟ้องศาล ตามพ.ร.บ.เข้าเมือง เป็นครั้งแรก คนมีทั้งหมด 78 คน ส่งกลับประเทศต้นทาง
ผลจากนั้นคราวนั้น สหรัฐฯ ประกาศมาเลเซียค้ามนุษย์โรฮิงญา ไม่มีประเทศไทย และไม่มีเรือโรฮิงญาเข้ามาประเทศไทยอีกเลย
ข้อมูลทั้งปี 2552 จึงเหลือ 93 คน
และปีต่อมา ก็หายไม่มาอีกเลย
กระทั่งฝ่ายความมั่นคงของไทย ประกาศว่า หากหน้ามรสุมหมด ผู้อพยพมาอีก เราจะเอาจริง เราจะผลักดัน จากนั้นโรฮิงญา ก็มาประเทศไทยอีกเรื่อยๆ จนปัจจุบัน
ด้วยเป็นเพราะ ประเทศไทยไม่จับ !!
ถามว่า แก้ไขอย่างไร นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยเสียงหนักแน่นว่า “ก็จับซิครับ เพราะจับแล้วจบ ทำไมไม่จับและปล่อยให้กระบวนการนี้เติบโตเรื่อยๆ มีกระบวนการเรียกค่าไถ่"
ฉะนั้น ประเทศไทยต้องใช้กฎหมาย การผลักดันคือการไม่ใช้กฎหมาย เราต้องเอาคนเหล่านี้มาตรวจสอบว่า เขาเป็นใคร กรณีปี 2552 จับได้ 78 คนที่มีการจับกุม พบว่า ใช้เวลาคุย 3 เดือน มี 5-6 คนเป็นคนของกระบวนการนายหน้า และ 29 คนเป็นบังคลาเทศ กระทั่งสามารถส่งกลับบังคลาเทศอย่างปลอดภัย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553
ส่วนโรฮิงญาที่บอกกลับไม่ได้ นายสุรพงษ์ ยืนยันว่า กลับได้แน่นอน ทางออกมี แม้กระทั่งกลุ่มจากเมียนมาร์ที่บอกไม่รับกลับ แต่พบว่า กลับได้ หากรัฐบาลไทยเอาจริง
"การพูดว่า เรามีนโยบายผลักดันผู้อพยพโรงฮิงญาแล้วทำให้ประเทศไทยมั่นคง ถามว่า มั่นคงอย่างไร คุณผลักดันมา 10 ปี ยิ่งผลักดันยิ่งเพิ่ม ยิ่งผลักกระบวนการยิ่งเติบโต สหรัฐฯ ก็ประกาศว่า ไทยค้ามนุษย์โรฮิงญา กระแสรัฐบาลเอาจริงเอาจังกระบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา เริ่มช่วยเหลือ เอาเหยื่อออกมาจากที่พักพิงชั่วคราว และกำลังขยายผลไปยังรายใหญ่ สามารถเล่นงานเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ เจ้าพ่อคุมสตูล ระนองได้ สิ่งที่ต่อไปคือระดับใหญ่ แต่ปรากฎว่า ขณะที่งานกำลังเดินไป เป็นเจตนาของคนบางคนไม่ให้ถึงตรงนั้น จึงได้มีกระแสที่ออกมาช่วงหลัง ไม่พูดถึงกระบวนการค้ามนุษย์อีกเลย"
สุดท้ายเมื่อถามถึงการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคม นี้ ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ นายสุรพงษ์ ฝากว่า รัฐบาลทุกประเทศที่มาคุยกันเพื่ออะไร หากมาหาทางแก้ไขร่วมกัน ช่วยกัน เช่น ไทยแอบค้ามนุษย์ เมียนมาร์แอบส่ง หากมีการคุยเมียนมาร์จับ เรือไทยเข้ามาจับ และส่งให้ไทย หรือเข้ามาเขตไทย รัฐบาลไทยจับ และส่งให้เมียนมาร์ หากคุยแบบนี้จะแก้ไขปัญหาได้ และไม่ควรโยนภาระให้คนอื่น มิเช่นนั้น จะแก้ไม่ได้ ที่สำคัญทุกประเทศต้องไม่ผลักภาระไปให้คนอื่น
ที่มาภาพ:http://www.supinya.com