เปิดตัวเว็บ ‘พลเมืองเสวนา’ ชงคำขอแก้ไขร่าง รธน.จากภาค ปชช.
เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปจับมือภาคีเครือข่ายเปิดเว็บไซต์ ‘พลเมืองเสวนา’ หวังเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน แสดงความเห็นร่าง รธน. ปธ.มูลนิธิเพื่อคนไทยเชื่อเป็นพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วม ระบุ ปชช.อยากเห็นทำประชามติมีคุณภาพ เกิดการยอมรับกว้างขวาง
วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป และภาคีเครือข่าย จัดเปิดตัวพื้นที่พลเมืองเสวนา (Citizen Forum) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ เพื่อเป็นพื้นที่กลางของพลเมืองในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน และเสนอแนะต่อการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา รวมถึงร่วมโหวตลงคะแนนต่อประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น ควรมีมติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่, ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ การปฏิรูปตำรวจควรทำอย่างไร เป็นต้น ผ่าน www.citizenforum.in.th
นายปรเมศวร์ มินศิริ สมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ในฐานะผู้พัฒนาเว็บไซต์ ‘พลเมืองเสวนา’ กล่าวถึงเว็บไซต์ www.citizenforum.in.th ไม่เพียงเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนความเห็นเท่านั้น แต่ยังได้รับการออกแบบให้มีการนำประเด็นต่าง ๆ เสนอให้ประชาชนโหวตว่า ต้องการปฏิรูปในแต่ละประเด็นอย่างไร โดยกำหนดระยะเวลาให้เครื่องมือพลเมืองเสวนามีอายุการใช้งานต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีก 1 ปี หลังจากรัฐธรรมนูญผ่านออกมาและมีการประกาศเพื่อใช้เป็นเครื่องมือติดตาม ผลักดันประเด็นการปฏิรูปต่าง ๆ ที่อยู่ในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ
“หากเครือข่ายนำข้อมูลมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นระบบ จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้” ผู้พัฒนาเว็บไซต์ กล่าว
ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมและกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เป้าหมายระยะยาวของพลเมืองเสวนา คือ การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความปรองดอง เพื่อนำสังคมสู่สันติสุข ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นของไทย เพื่อไม่ให้สังคมติดหล่มอยู่ในวงจรของความขัดแย้งและความเสี่ยงเกิดรุนแรงในอนาคต ดังนั้นจำเป็นต้องขยายความร่วมมือไปสู่ภาคพลเมือง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบหลากหลายกิจกรรม และขณะนี้ได้รับคำขอยื่นแก้ไขของ สปช.และครม. แล้ว แต่ยังคิดว่า ข้อคิดเห็นของพลเมืองก็มีความสำคัญ ดังนั้นทุกคนสามารถนำเสนอผ่านเว็บไซต์พลเมืองเสวนาได้ เพื่อให้มีคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจากภาคพลเมืองจริง ๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีเสวนา ‘เสียงพลเมืองกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ช่วงเวลาขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในอีก 90 วัน’
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแตกต่างจากปี 2540 ที่เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ มีการจัดเสวนาร่วมกับชาวบ้าน สามารถผลักดันให้เกิดการต่อรองกันได้ แต่ปัจจุบันกลับไม่เปิดกว้างในเรื่องเหล่านี้ จึงเห็นว่า บริบทแตกต่างกันมาก เพราะเรามีกระบวนการธงเขียว ไม่เป็นประชาธิปไตย หน้าตารัฐธรรมนูญจึงเป็นเช่นนี้
สำหรับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญนั้น นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าวว่า ให้ความสำคัญการแก้ปัญหาคนชนบท คนขายเสียง และนักการเมืองเป็นหลัก แต่ละเลยการถ่ายโอนอำนาจลงสู่ประชาชน ส่วนใหญ่มักออกแบบให้อำนาจอยู่เบื้องบน แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม ถ้าปล่อยเป็นแบบนี้เชื่อจะไม่แก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตาม ชื่นชมการขยายช่องทางมีส่วนร่วมครั้งนี้ และสำเร็จหรือไม่ต้องผลักดันต่อไป
ด้านน.ส.สฤณี อาชวานันทกุล บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันอยู่ในสภาพไม่มีกฎอัยการศึก แต่รัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งหลายคำสั่งมีการกำจัดสิทธิเสรีภาพ ยากที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็น หากรัฐต้องการให้พลเมืองเป็นใหญ่ต้องสร้างบรรยากาศการรับฟังเหมือนปี 2540 และมีกลไกให้มากขึ้น ซึ่งเว็บไซต์ พลเมืองเสวนาถือเป็นตัวอย่างหนึ่งสร้างการรับฟังจากพื้นที่
ทั้งนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญมีข้อกังวล คือ ประเด็นแรก ทุกคนยอมรับประชาธิปไตยเป็นหลักการพื้นฐาน แต่ระบบตัวแทนในฉบับปัจจุบันกลับลดลงค่อนข้างมาก ดังเช่น สัดส่วน ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ไม่สำคัญเท่าอำนาจมีมากเพียงใด และยังมีสัดส่วนของทหารด้วย
ผู้บริหาร บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวต่อว่า ประเด็นถัดมา รัฐธรรมนูญมุ่งเน้นการลงโทษมากกว่าการกำกับตรวจสอบ ยกตัวอย่าง นโยบายตั้งศาลปกครองแผนกคดีวินัยและการคลังงบประมาณ เพื่อตัดสินคดีละเมิดวินัยทางการคลังหรือการใช้งบประมาณมิชอบ ทั้งที่ต้องให้อิสระและดุลยพินิจในการใช้นโยบายด้วย มิฉะนั้นจะสร้างความกังวลและทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้
กรณีนี้เสนอตั้งหน่วยงานทำหน้าที่ประเมินและวิเคราะห์งบประมาณ เผยแพร่สาธารณะตามการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นกลไกเพิ่มพลังประชาชนตรวจสอบติดตาม โดยไม่เน้นวิธีการลงโทษด้วยการคิดสุ่มเสี่ยง
ขณะที่นายวิเชียร พงศธร ประธานมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า ทุกฝ่ายล้วนมีความเชื่อที่จะมุ่งหวังส่งมอบรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ แต่จะสำเร็จได้ต้องปรับแนวคิดให้ความสำคัญกับความมีส่วนร่วมของประชาชน ลบล้างความรู้สึกเป็นเรื่องยุ่งยากหรืออุปสรรคไม่ให้เกิดความสำเร็จ แต่ลองมองย้อนกลับว่า หากมีกระบวนการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นจะช่วยอำนวยให้บรรลุเป้าหมายมากขึ้น รวมถึงกรณีทำประชามติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็นและเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ได้รับการยอมรับกว้างขวาง
“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญเรื่องความเป็นพลเมืองมาก และในการแก้ไข 90 วันหลังจากนี้ เชื่อพื้นที่เว็บไซต์ พลเมืองเสวนาจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมีส่วนร่วม” ประธานมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าว