มุมมองอีกด้านของ MARA Patani กับการพูดคุยสันติสุขที่ยังลูกผีลูกคน
MARA Patani กลายเป็นข่าวที่คนสนใจติดตามปัญหาชายแดนใต้ต้องเงี่ยหูฟัง
เรื่องราวของ MARA Patani มาจากความเคลื่อนไหวของสำนักงานเลขานุการคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข ซึ่งมี ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม เป็นประธาน จัดประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ในนามองค์กร MARA Patani หรือ สภาพันธะแห่งประชาชนปาตานี เพื่อเป็นองค์กรตัวแทนของผู้เห็นต่างจากรัฐในการร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุขดับไฟใต้กับรัฐบาลไทย
โดย 6 กลุ่มที่เข้าร่วม ประกอบด้วย บีอาร์เอ็น, พูโล 3 กลุ่มย่อย, บีไอพีพี และจีเอ็มไอพี
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว บวกกับชื่อองค์กร MARA Patani ตามที่หน่วยงานความมั่นคงไทยรายงานว่า ย่อมาจาก Majlis Amanah Rakyat Patani สร้างทั้งความสนใจและความสับสนกับคนในพื้นที่ที่รับข่าวสาร
โดยเฉพาะฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐเอง!
อดีตแกนนำขบวนการพูโลรายหนึ่งที่เคยเคลื่อนไหวในพื้นที่ ให้ข้อมูลว่า ชื่อองค์กรที่ถูกพูดถึงและตกเป็นข่าวนี้ น่าจะมาจากความเข้าใจผิดของหน่วยงานความมั่นคงไทย เพราะองค์กรที่ใช้ชื่อว่า Majlis Amanah Rakyat Patani นั้น มีตัวย่อว่า MRA เป็นองค์กรที่ตั้งมานานหลายสิบปี อยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ของรัฐบาลมาเลเซีย
องค์กรนี้รับผิดชอบงานด้านฝึกอบรมตามความต้องการของพี่น้องจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือคนจากสามจังหวัด โดยเฉพาะในเรื่องของการอบรมอาชีพ ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ก็เคยส่งคนในพื้นที่ชายแดนใต้เข้าอบรมกับองค์กรนี้ แต่ข้อสังเกต คือ ชื่อย่อ MRA ไม่ใช่ MARA
ส่วนองค์กรของผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มนั้น ใช้ตัวย่อว่า MARA ที่แปลว่า Majlis-ash-Shura องค์กรนี้เพิ่งตั้งขึ้นมาเพื่อเป็น "องค์กรร่ม" ในการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ คำว่า MARA มาจากภาษามลายูกลางที่มีความหมายว่า "ความก้าวหน้า" มีกลุ่มผู้เห็นต่างเข้าร่วมแล้ว 4 กลุ่มหลัก คือ
1.พูโล มีกลุ่มย่อยของพูโล ภายใต้การนำโดย นายลุกมัน บินลิมา 1 กลุ่ม กับอีก 2 กลุ่ม ภายใต้การนำโดย นายซำซูดิง ข่าน กับ นายกัสตูรี มาห์โกตา
2.กลุ่มบีอาร์เอ็น ภายใต้การนำของ นายอาวัง ยาบะ ซึ่งมีกลุ่มย่อย คือ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต กับ บีอาร์เอ็น อูลามา ยังไม่มั่นใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งคาดว่า บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต กับ บีอาร์เอ็น อูลามา จะเข้าร่วมวงพูดคุยก็ต่อเมื่อรัฐบาลไทยยอมรับ 5 ข้อเรียกร้องที่เคยยื่นเอาไว้สมัยการพูดคุยสันติภาพในรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งมี นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น
3.กลุ่มบีเอ็นพีพี ภายใต้การนำโดย ดร.กามาลุดดิน
และ 4.กลุ่มมูญาฮีดีนอิสลามปัตตานี หรือ จีเอ็มไอพี นำโดย นายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ
"ต้องยอมรับว่าการพูดคุยเจรจาครั้งนี้จะเป็นปัญหาเหมือนกัน ถ้ากลุ่มย่อยของบีอาร์เอ็นทั้ง 2 กลุ่ม คือ โคออร์ดิเนต กับ อูลามา ไม่เข้าร่วม เพราะเจรจาไปก็ไม่จบ" อดีตแกนนำพูโล ระบุ
เขายังบอกอีกว่า ผู้เห็นต่างทั้ง 4 กลุ่มหลัก รวม 6 กลุ่มย่อย รวมตัวกันตั้งองค์กร MARA Patani ขึ้นมา เพราะต่างก็มีความหวังว่าการพูดคุยเจรจาครั้งนี้จะมีความก้าวหน้า ตามชื่อที่ใช้ MARA ที่แปลว่าความก้าวหน้า การเดินไปข้างหน้า
"ตอนนี้ทั้ง 4 องค์กรก็รอความหวังว่าจะมีการพูดคุยอย่างจริงจังหรือไม่ หรือจะเลื่อนอีก จากที่เคยเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว ปัญหาสามจังหวัดจะจบลงได้ ตัวแปรสำคัญอยู่ที่รัฐว่าจะเล่นด้วยขนาดไหน ไม่ใช่ทำเพียงแค่สร้างฉากเท่านั้น"
กลุ่มผู้หญิงตั้งคำถาม "ตัวจริง?"
กลุ่มผู้หญิงในพื้นที่ จ.นราธิวาส กล่าวถึงองค์กร MARA Patani ว่า เคยได้ยินชื่อองค์กรนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าคืออะไร ถ้ามองตามความรู้สึกของคนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะตั้งคำถามทันทีว่า รัฐบาลจ้างขึ้นมาเพื่อพูดคุยหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านก็เคยทำลักษณะนี้ ขณะที่กลุ่มขับเคลื่อนเรื่องพูดคุยเจรจาก็กำลังหามวลชนเพื่อรวมกันเป็นกลุ่ม ให้รัฐดูว่ามีคนมาก สามารถคุมเกมได้
"เหตุผลที่เขาต้องทำแบบนี้ เพราะว่าตัวจริงไม่ออกมา เนื่องจากไม่ไว้ใจรัฐบาลชุดนี้ เห็นอยู่ว่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นอย่างไร ออกมาก็เข้ากรงเสือทันที มีแต่จะล่อเสือให้ออกมา ไม่มีทางสงบศึกแน่ ขณะที่กลุ่มขบวนการที่ทำเพื่ออุดมการณ์จริงๆ ตอนนี้มีไม่กี่คนเท่านั้น ส่วนใหญ่ที่อ้างเป็นขบวนการเพราะมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน"
แกนนำเยาวชน ชี้ บรรยากาศไม่เอื้อ
ขณะที่แกนนำเยาวชน จ.ยะลา กล่าวว่า ไม่เคยได้ยินชื่อองค์กรนี้ และไม่รู้ด้วยว่าทำเกี่ยวกับอะไร น่าจะเป็นองค์กรใหม่ที่บางฝ่ายพยายามจัดให้ดูเหมือนว่ามีการขยับ เพราะบรรยากาศในพื้นที่ไม่เอื้อเลย อยู่ๆ จะมาคุยแล้วปัญหาจะจบลงได้อย่างไร
"ขอถามว่าจะเจรจากันอย่างไรในเมื่อบรรยากาศในพื้นที่มันไม่เอื้อ มีคนฆ่ากันอยู่ มีการใส่ร้ายป้ายสีกัน มีการฆ่าเผาคนบริสุทธิ์ ผู้หญิงและเด็กยังถูกกระทำ คู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายยังเล่นป้ายสีกันไปมา" เขาตั้งคำถาม
กระบวนการพูดคุยยังลูกผีลูกคน
มีรายงานจากประเทศมาเลเซียว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีตัวแทนผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจากมาเลเซีย เดินทางมายังประเทศไทย และเข้าพบหารือกับตัวแทนรัฐบาลไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุย
ทั้งนี้ มีข่าวว่าตัวแทนผู้อำนวยความสะดวกฯ ได้นำแผนการพูดคุยสันติสุขกับองค์กร MARA Patani มาเสนอกับรัฐบาล แต่ก็มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความไม่เห็นด้วยกับการตั้งองค์กร MARA Patani ขึ้นมาเป็นตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างในการพูดคุย เพราะยังไม่มีตัวแทน กลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ซึ่งทางการไทยเชื่อว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
จนถึงขณะนี้จึงยังไม่มีความชัดเจนว่า การพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับองค์กร MARA Patani จะมีขึ้นได้จริงหรือไม่ หรือว่าต้องล้มไปตั้งแต่ยังไม่ได้พูดคุย