เปิด 2 โมเดลองค์กรใหม่ดับไฟใต้ บูรณาการหรือทหารยึดเรียบ!
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะถูกโจมตีหนักเรื่อง “ดีแต่โม้” หรือเปล่า ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามผลักดันงานหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน แม้วิกฤตการณ์น้ำท่วมจะเป็นงานใหญ่ที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ภาพที่ออกมาก็ยังพยายามทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ละเลยงานด้านอื่นๆ
ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เพิ่งเริ่มดีเดย์ “จำนำข้าว” (ทั้งๆ ที่ชาวนาจำนวนมากยังไม่รู้จะเอาข้าวที่ไหนมาจำนำ เพราะจมน้ำหมด) ขณะที่อีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า คือวันที่ 18-19 ต.ค.จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ “เวิร์คชอป” เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะประเด็นที่รัฐบาลเตรียมตั้ง “องค์กรบริหารใหม่” ที่ชื่อ ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบ.กช.ตามมติที่ประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา
การเวิร์คชอปครั้งนี้ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) รับผิดชอบปัญหาภาคใต้เป็นเจ้าภาพ เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และมีการบูรณาการแผนงานตลอดจนโครงการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ รวมทั้งกำหนดโครงสร้างของ “องค์กรบริหาร” ที่ทำหน้าที่การบูรณาการทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ด้วย
ประเด็นสำคัญที่สุดก็อยู่ที่ “องค์กรบริหาร” ที่ว่านี้นั่นเอง เพราะคือหัวใจสำคัญของการตั้ง “ศบ.กช.” เนื่องจากในส่วนของยุทธศาสตร์ จากที่มีพัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน เกือบจะเรียกได้ว่าสมบูรณ์และเห็นตรงกันทุกหน่วยแล้ว กล่าวคือ
ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้
ยุทธศาสตร์รอง มี 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้าใจเพื่อลดและขจัดเงื่อนไขเรื่องอัตลักษณ์ รวมทั้งประวัติศาสตร์ อันนำมาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
- ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพและความถนัดของแต่ละบุคคล รวมทั้งโอกาสที่เท่าเทียมกัน
- ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน อันได้แก่ ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ และน้ำมันเถื่อน รวมทั้งการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้รับการสนับสนุนจากทั้งภายในและภายนอกพื้นที่
- ยุทธศาสตร์การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ในพื้นที่ถูกยกระดับเข้าสู่เวทีสากล โดยยึดถือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่มีการกระทำนอกกฎหมายอย่างเด็ดขาด
- ยุทธศาสตร์การรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยและประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
- ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิคความร่วมมือและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน
สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งคาดว่าจะต้องมีส่วนในโครงสร้างใหม่ของ ศบ.กช.ด้วย มีทั้งสิ้น 27 หน่วยงาน เป็นระดับกระทรวง 16 กระทรวง และหน่วยงานระดับสำนักงาน 11 หน่วยงาน อาทิเช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานพระพุทธศาสนา เป็นต้น
เป้าหมายของการเวิร์คชอปและการจัดตั้ง “องค์กรบริหารใหม่” ได้แก่
1.สามารถตอบสนองต่อการบูรณาการร่วมกันระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยได้อย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนภายใต้กรอบยุทธศาสตร์เดียวกัน
2.สนับสนุนให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เป็นไปอย่างมีเอกภาพ และต้องสามารถสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ “โมเดล” หรือ “โครงสร้าง” ของ “องค์กรบริหารใหม่” ที่จัดวางเอาไว้เป็นตุ๊กตารอการพิจารณาในวันเวิร์คชอปมีอยู่ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย
1.ศูนย์บูรณาการ จชต.
- ระดับนโยบาย มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ และมีเลขาธิการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ เลขาฯรมน. เป็นเลขาธิการศูนย์ โดยมี ศปป.5 ทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการร่วม
จุดเด่นของโครงสร้างนี้ คือ มีคณะทำงานด้านความมั่นคง ให้ กอ.รมน.รับผิดชอบ และคณะทำงานด้านการพัฒนา ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รับผิดชอบ
โดยคณะทำงานด้านความมั่นคง จะดูแลงานด้านป้องกันภัยแทรกซ้อน รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการสร้างการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ
ขณะที่คณะทำงานด้านการพัฒนา จะดูแลงานด้านการเสริมสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ งานด้านสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรรม และงานด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- ระดับพื้นที่ มีผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นผู้อำนวยการ และมีการตั้ง ศอ.บต.ส่วนแยก หรือ ศอ.บต.ส่วนหน้า เพื่อให้เป็นหน่วยปฏิบัติที่มีความพร้อมในการปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นก็มีคณะทำงานด้านต่างๆ ในระดับพื้นที่ล้อมาจากคณะทำงานในระดับนโยบาย (ดูแผนภาพที่ 1 ประกอบ)
2.คณะกรรมการบริหาร จชต. (กบชต.)
- ระดับนโยบาย มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีเลขาฯรมน.เป็นเลขาธิการ กบชต. โดยมี ศปป.5 ทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการร่วมเช่นกัน
โดยในระดับนโยบายจะมีการตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ รับผิดชอบงานตามยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ กรรมการเสริมสร้างความเข้าใจ กรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กรรมการแก้ปัญหาภัยแทรกซ้อน กรรมการด้านสิทธิมนุษยชน กรรมการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และกรรมการด้านการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ จะมีหน่วยปฏิบัติคือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ศอ.บต.ส่วนแยก และคณะทำงานด้านต่างๆ (ดูแผนภาพที่ 2 ประกอบ)
จากโมเดลที่ตั้งเป็นตุ๊กตาทั้ง 2 รูปแบบ จะเห็นได้ว่าแบบที่ 2 คือ “กบชต.” นั้น มีสายการบังคับบัญชากระชับกว่า แต่แบบแรก คือ “ศูนย์บูรณาการ จชต.” แม้มีสายการบังคับบัญชาที่ยาวกว่า แต่ก็กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน คือ กอ.รมน. กับ ศอ.บต.
อย่างไรก็ดี โมเดล “ศูนย์บูรณาการ จชต.” นี้ ไม่ต่างจากโครงสร้างปัจจุบันที่ใช้มาตั้งแต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มากนัก กล่าวคือ ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ได้กำหนดให้ กอ.รมน.รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง และ ศอ.บต.รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและการให้ความเป็นธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว เพียงแต่การจัดรูปองค์กรขึ้นมาใหม่ก็เพื่อกระชับการบังคับบัญชา และกำหนดเจ้าภาพชัดเจนในแต่ละภารกิจ รวมทั้งให้มีฝ่ายการเมืองคือ “รองนายกรัฐมนตรี” รับผิดชอบในภาพรวมนั่นเอง
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ ซึ่งเคยรับผิดชอบปัญหาภาคใต้ในสมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้รับทราบเกี่ยวกับโครงสร้าง “องค์กรบริหารใหม่” เพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้แล้ว คิดว่าเป็นเจตนาดีของรัฐบาล เป้าหมายคือสร้างความเชื่อมั่นทั้งกับหน่วยราชการด้วยกันเอง และต่างประเทศ
“พิจารณาจากแผนที่กำหนดออกมา นับว่าเป็นความตั้งใจที่จะบูรณาการงานให้เป็นเอกภาพ เห็นความตั้งใจในการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ เพราะมีการกำหนดคณะทำงานและหน่วยงานลงไปรับผิดชอบอย่างชัดเจน ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ต้องรอดู” นายชาญเชาวน์ ระบุ
ขณะที่แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ไม่ใช่ทหาร มองว่า โครงสร้างองค์กรบริหารใหม่ที่ออกมาแม้จะยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย แต่สิ่งที่มองเห็นก็คือความรับผิดชอบหลักๆ ไปอยู่ที่ทหารโดยผ่านโครงสร้าง กอ.รมน. ซึ่ง กอ.รมน.ปัจจุบันมีกองทัพบกเป็นหัวเรือใหญ่ โดยเฉพาะเลขาธิการโครงสร้างใหม่ที่ให้เลขาฯ รมน.นั่งโดยตำแหน่งนั้น ก็คือเสนาธิการทหารบกนั่นเอง
“ทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติ หน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ กอ.รมน. โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ยิ่งเห็นได้ชัด คือให้ ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นหลัก ซึ่งก็คือแม่ทัพภาคที่ 4 ส่วน ศอ.บต.กลับเป็นส่วนเสริม ทั้งๆ ที่น่าจะมีความสำคัญเท่ากันทั้งงานด้านความมั่นคงและการพัฒนา”
แหล่งข่าวรายนี้ยังบอกด้วยว่า รัฐบาลยังละเลยงานสำคัญไป 2-3 ประการ คืองานด้านอำนวยความยุติธรรม การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการเจรจากับแกนนำผู้ก่อความไม่สงบ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องยอมรับความจริง และดำเนินการอย่างจริงจังเสียที
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 โครงสร้างศูนย์บูรณาการ จชต.
2 โครงสร้าง กบชต.
ขอบคุณ : ฝ่ายกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าในประเทศ ฉบับวันจันทร์ที่ 10 ต.ค.2554