กระบวนการรัฐธรรมนูญกับการสร้างความสามัคคี
ในขณะที่กำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ในปัจจุบันก็น่าจะลองคิดว่ากระบวนการรัฐธรรมนูญจะสร้างความสามัคคีได้อย่างไร
๑. สามัคคีสร้างอนาคตประเทศไทย
เราทะเลาะกันมามากเกินและนานเกิน จนเลยขอบเขตการสร้างสรรค์ไปสู่การทำลายและความชะงักงันของประเทศ และเสี่ยงต่อการเกิดมิคสัญญีกลียุค
หากคนไทยสามัคคีกัน สิ่งที่ยากๆทั้งหลายก็เป็นไปได้ เช่น สร้างประชาธิปไตยทั้งทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ นำประเทศหลุดออกจากความยากจน ส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสันติภาพ หรือโดยสรุปร่วมสร้างประเทศไทยที่น่าอยู่ที่สุด
เราได้ใช้การต่อสู้เชิงปฏิปักษ์ (antagonistic) มาตั้งแต่ ๒๔๗๕ ซึ่งได้สร้างความแค้นและเกลียดชังขึ้นมาเป็นความรู้สึกนึกคิดของสังคมไทย และยังไม่มีทางออกจากภพภูมิเช่นนี้ น่าจะทดลองเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิด เป็นมุ่งสร้างความสามัคคีท่ามกลางความหลากหลายสู่อนาคตของเราร่วมกัน ในขณะที่กำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ในปัจจุบันก็น่าจะลองคิดว่ากระบวนการรัฐธรรมนูญจะสร้างความสามัคคีได้อย่างไร
๒. หลักการการสร้างความสามัคคีท่ามกลางความหลากหลาย ขอเสนอหลัก ๘ ประการ เพื่อการสร้างความสามัคคีท่ามกลางความหลากหลาย
(๑) เห็นคุณค่าของความหลากหลาย ความหลากหลายเป็นธรรมชาติ การเข้าถึงคุณค่าของความหลากหลายเป็นธรรมะของผู้เจริญ และเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความสุขและความสร้างสรรค์ ความแตกต่างไม่พึงเป็นสาเหตุของความเกลียดชัง
(๒) ไม่คิดแบบสุดโต่งตายตัว เพราะความสุดโต่งตายตัวทำให้ไม่มีทางต่อไปอย่างสร้างสรรค์ แต่จะแตกหักรุนแรง แต่คิดเชิงเข้าใจว่าอะไรทำให้เกิดอะไร หรือความเป็นเหตุเป็นผล ทางสายกลางหรือทางสายปัญญานี้ จะทำให้ทะลุทะลวงฝ่าความยากไปได้ ด้วยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) อันจะสร้างความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) อันเป็นพลังแห่งความสุข และความสร้างสรรค์
(๓) เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนเป็นศีลธรรมพื้นฐานของสังคม และเป็นรากฐานของสิ่งดีงามทั้งปวง เช่น ประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การสำนึกในศักดิ์ศรีความเป็นคนของตนเองและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนอื่นก่อให้เกิดความสุขอย่างลึกล้ำและปลุกศักยภาพในความสร้างสรรค์ในตัวคนเป็นการระเบิดพลังแห่งความเป็นมนุษย์จากภายใน
(๔) เข้าใจธรรมชาติของปถุชนทุกคนว่ามีทั้งกิเลสและเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในตัว ปุถุชนทุกคนเป็นเช่นนั้น จะไม่มีกิเลสเลยนั้นไม่มี จะไม่มีความดีเลยนั้นไม่มี สุดแต่เหตุปัจจัยและเงื่อนไข จึงไม่ควรมองใครๆอย่างตายตัว แล้วติดอยู่ในความคิดตายตัวเช่นนั้น เช่นว่านักการเมืองไม่ดี สีเหลือง สีแดง ดีหรือไม่ดีตายตัว ธรรมชาติไม่ได้เป็นเช่นนั้น ถ้าเราสร้างเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขที่เหมาะสม เมล็ดพันธุ์แห่งความดีในตัวคนทุกคนก็สามารถงอกงามออกมาเชื่อมโยงกัน ถ้าเราเห็นเช่นนี้โลกจะมีความงามกว่าที่เราคิด และมีพลังสร้างสรรค์
(๕) ไม่ติดอยู่ในอดีตจนเคลื่อนสู่อนาคตที่ดีไม่ได้ อดีตมีรากยาวไกลมีบุคคลและสถาบันต่างๆเกี่ยวข้องด้วยมาก ความพยายามที่จะแก้ปัญหาในอดีตจะทำให้ทะเลาะกันมากขึ้น จนออกจากความซับซ้อนของความขัดแย้งจากอดีตไม่ได้ หมดโอกาสที่จะเคลื่อนสู่อนาคตที่ดี เหมาเจ๋อตุงผู้นำการสร้างประเทศจีนใหม่ ก่อความเสียหายแก่ประเทศในสิ่งที่เรียกว่าปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างมหาศาล แต่คณะผู้นำใหม่อันมีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นประธานประกาศว่า ประธานเหมาทำความผิดพลาดจริงแต่ถ้าไม่มีประธานเหมาก็ไม่มีประเทศจีนใหม่ คนจีนจะต้องรวมตัวกันมุ่งไปข้างหน้ามากกว่าติดอยู่ในอดีต
อนาคตไม่มีจำเลย การรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดีจะง่ายกว่าการพยายามแก้ปัญหาของอดีต และคนไทยจะรักกันมาก ในการมุ่งสร้างอนาคตของเราร่วมกัน
(๖) ใช้สัมมาวาจา สัมมาวาจา หมายถึง
• ความจริง มีที่มา มีที่อ้างอิง
• พูดเป็นปิยวาจาไม่ส่อเสียด ทิ่มแทง เยาะเย้ย ถากถาง ยุยงให้เกลียดชังกัน
• พูดถูกกาละเทศะ
• พูดแล้วเกิดประโยชน์
สัมมาวาจาเป็นที่มาของความสามัคคีและความสร้างสรรค์ ที่ผ่านมามีการใช้สัมมาวาจาน้อย แต่ใช้การด่าทอมาก วาทกรรมแห่งความเกลียดชังเกือบนำสังคมไทยไปสู่มิคสัญญีกลียุค
(๗) มีจินตนาการใหม่ถึงประเทศไทยในอนาคต สังคมไทยติดอยู่ในอดีตที่หมักหมมจนวิกฤตหมดพลังที่จะออกจากสภาวะวิกฤต ต้องใช้อนาคตมาเป็นพลังดึงเราออกจากวิกฤติการณ์ นั่นคือการมีจินตนาการใหม่ ซึ่งเป็นจินตนาการใหญ่ (Big Dream) ถึงอนาคตอันสดใสมากที่สุดเท่าที่จินตนาการอยากไปให้ถึง ไม่ต้องเอาความรู้เป็นตัวตั้งเพราะความรู้มีข้อจำกัด แต่เอาความฝันเป็นตัวตั้ง เจ้าชายสิทธัตถะมีจินตนาการใหญ่มากกว่า “มนุษย์พ้นทุกข์ได้” แต่ไม่ทรงมีความรู้ ดังที่ไปลองผิดลองถูกอยู่ตั้ง ๖ ปี จินตนาการใหญ่จะทำให้เกิดฉันทะวิริยะอย่างแรงกล้า ที่จะแสวงหาความรู้ใหม่เพื่อไปให้ถึง คนไทยควรมีจินตนาการใหม่ถึงอนาคตอันดีงามของประเทศไทยร่วมกัน และมีฉันทะวิริยะอย่างแรงกล้าที่จะร่วมสร้างประเทศไทยตามความฝัน
(๘) ใช้อปริหานิยธรรมหรือธรรมะเพื่อความเจริญถ่ายเดียว – การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง หลักธรรม (๑) – (๗) คือสามัคคีธรรมอันจะส่งเสริมให้เกิดสามัคคีกรรม หรือการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ อันเป็นพลังทางสังคมและพลังทางปัญญาอันนำไปสู่ความเจริญ หลักแห่งการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำจึงได้ชื่อว่าอปริหานิยธรรม หรือธรรมะเพื่อความเจริญถ่ายเดียว ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสถึงมากที่สุดเมื่อประทับบนเขาคิชฌกูฏเป็นครั้งสุดท้าย
๓. คนไทยรวมตัวกันบินออกจาก “เข่ง” สังคมปัจจุบันต่างจากโบราณที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ในระบบที่ซับซ้อนจะมีปรากฎการณ์ใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อน และยากต่อความเข้าใจ มีน้อยคนที่เข้าใจความซับซ้อน ในความซับซ้อนนี้มีความยากสุดๆ แก้ไขปัญหาไม่ได้ง่ายๆหรือไม่ได้ ไม่มีรัฐบาลใดๆที่จะแก้ปัญหาได้ เมื่อแก้ไม่ได้ก็จะขัดแย้งกระทบกระทั่งกัน ดังที่มีผู้เปรียบเทียบว่า “คนไทยเหมือนไก่อยู่ในเข่ง” “เข่ง” คือความยากที่กักขังคนไทยไว้ ถึงจะจิกตีกันเท่าใดๆก็ออกจากเข่งไม่ได้ นอกจากจะรวมตัวกันบินออกจาก “เข่ง” แต่ก็รวมตัวกันไม่ได้ เพราะทิฐิมานะ และความแค้นฝังใจจากอดีต จะรวมตัวกันได้ก็ต้องเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิด หลัก ๘ ประการเพื่อความสามัคคี คือการเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิด ถ้าทำได้เราก็จะรวมตัวกันบินออกจากเข่งได้ ในช่วงระยะเวลาเช่นนี้ ความสามัคคีมีความสำคัญเหนือทิฐิ
๔. กระบวนการรัฐธรรมนูญเป็นโอกาสสร้างความสามัคคีของคนในชาติ การร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่สนใจของคนทุกฝ่าย จึงควรใช้เป็นโอกาสที่จะสร้างความสามัคคีของคนในชาติ
ความสามัคคีสำคัญกว่าความสัมบูรณ์ของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดและทำให้สัมบูรณ์ไม่ได้
ความสามัคคีหากมีขึ้นแล้ว สามารถทำให้เกิดอะไรดีๆมากกว่าที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ
ความสามัคคีทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้
ใครๆก็อยากให้ประเทศไทยไปได้ดี
ไม่ว่าจะเป็น กมธ. สปช. สนช. คสช. พรรคการเมือง นปช. กปปส. นักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป
ที่เครียดกันถ้วนหน้าก็เพราะกลัวว่ามันจะไม่เป็นไปด้วยดี
หัวหน้าคสช.อาจจะเครียดที่สุด เพราะไปทำรัฐประหารมา โดยหวังว่าความสุจริตและความทุ่มเทจะทำให้ประเทศหายวิกฤต แต่ประเทศก็ซับซ้อนและยากสุดๆ ถ้าประเทศไม่เป็นไปด้วยดีจะนอนตาหลับหรือลงจากหลังเสือได้อย่างไร
แต่ถ้าคนในชาติมีความสามัคคี ความเครียดในชาติจะลดวูบเพราะความสามัคคี คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ แม้เริ่มต้นยังไม่ดีนักแต่ถ้าสามัคคีกันก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ
ฉะนั้น ควรใช้กระบวนการรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคี
ควรมองทุกฝ่ายเป็นทุน (asset) เพื่อการพัฒนาไม่ใช่ภาระ และใช้กระบวนการรวมกันเข้ามา (inclusive) ไม่ใช่กีดกันออกไป (exclusive) ทุกฝ่ายควรใช้สัมมาวาจา ไม่พูดจาทิ่มแทงเหยียดหยามกัน และไม่เพียงแต่วิเคราะห์วิจารณ์ไปให้ถึงการสังเคราะห์ และจัดการว่าเรื่องนี้ๆต้องจัดการอย่างใดๆ จึงจะนำไปสู่ความสำเร็จ ถ้าหยุดอยู่แค่วิเคราะห์วิจารณ์ก็จะถูกหาว่าเอาแต่ว่าลูกเดียว ถ้าไปถึงการสังเคราะห์และการจัดการด้วยก็นับว่าเป็นการช่วยกัน
สัมมาวาจายังให้เกิดเสรีภาพ เสรีภาพยังให้เกิดการเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง การเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง คือเครื่องมือออกจากวิกฤตการณ์ความซับซ้อน ที่อำนาจดิ่งเดี่ยวไม่อาจทำได้ จึงขอเสนอหลักการ ๘ ประการ เพื่อความสามัคคี โดยมีสัมมาวาจาเป็นเครื่องมือ ให้เพื่อนคนไทยไว้พิจารณาตามสมควร
ที่มาภาพ:http://www.qlf.or.th