โรงพยาบาลเอกชนค่ารักษาแพง : ปัญหาและทางออก (จบ)
ปัญหาโรงพยาบาลเอกชนค่ารักษาแพงเป็นปัญหาเชิงระบบ ต้องแก้เชิงระบบ จะคิดแก้อย่างง่ายๆ หรืออย่าง “มักง่าย” ไม่ได้
ประเทศไทยทั้งโชคดี และโชคร้าย
โชคร้าย คือ เราปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหุ้น ขณะที่ระบบควบคุมไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ทำงาน ระบบควบคุม ได้แก่ 1) แพทยสภา ซึ่งคุมบุคลากรวิชาชีพที่เป็น “ต้นเหตุปัญหา” ที่สำคัญคือแพทย์ นอกจาก “ไม่ทำงาน” แล้วยังมีผลประโยชน์ทับซ้อน 2) กลไกในกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะหน่วยที่ดูแลสถานพยาบาล นอกจากไร้ประสิทธิภาพแล้วยังฉ้อฉล (Corrupt) 3) องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และกลไกควบคุมราคาในกระทรวงพาณิชย์ไม่มี หรือ ขาดความรู้ ขาดพลัง และขาดประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันกลไกภาคประชาชนก็อ่อนแอด้วย
โชคดี คือ ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพ (Health Security) คือ สปสช. และระบบประกันสุขภาพ (Health insurance) คือ ประกันสังคม ที่ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี เพราะใช้ระบบ “เหมาจ่ายรายหัว” (Capitation) ซึ่งไม่จูงใจให้โรงพยาบาลต่างๆ “ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย” ทั้ง 2 ระบบดังกล่าวครอบคลุมประชากรของประเทศกว่าร้อยละ 90 แล้ว และทั้ง 2 ระบบนี้ โดยเฉพาะระบบของ สปสช. ทำให้การใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก กล่าวคือ ใช้ราวร้อยละ 4 ของ จีดีพีเท่านั้น
ญี่ปุ่นมีระบบประกันสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก ประเทศหนึ่ง เพราะ 1) ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเสรี เจ็บป่วยเมื่อไร จะไปใช้บริการที่ไหนก็ได้ คนญี่ปุ่นจึงไปใช้บริการโรงพยาบาลเฉลี่ยปีละ 12 ครั้ง ขณะที่ระบบบัตรทองของไทยไปใช้บริการเพียงปีละ 3.6 ครั้ง เพราะเรามีข้อจำกัดเรื่องการต้องไปใช้บริการ ตาม “ช่องทางที่กำหนดให้เลือก” เท่านั้น ยกเว้นกรณีอุบัติเหตุ หรือฉุกเฉิน 2) ญี่ปุ่นให้สิทธิประโยชน์แก่ ทุกระบบ จากกองทุนหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศกว่า 4 พันกองทุน เท่าเทียมกันหมด คนยากจน 1.7% ราว 2 ล้านคน ไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันเลย แต่ได้รับสิทธิประโยชน์เมื่อไปรับบริการเท่าเทียมกันกับนายกรัฐมนตรี จากการพัฒนาระบบมากว่าร้อยปี ทำให้ญี่ปุ่นควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าสหรัฐ เพราะใช้จ่ายเพียงร้อยละ 9.6 ของจีดีพี ขณะที่สหรัฐใช้ถึง 17.6% และบริการยังมีปัญหามาก ญี่ปุ่นทำได้ นอกจากเพราะได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยปี ยังเพราะญี่ปุ่นสามารถสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยญี่ปุ่นถูกบังคับให้ตัดค่าใช้จ่ายทางทหารลงทั้งหมด เงินที่หาได้จำนวนมาก จึงนำมาทุ่มเทใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของญี่ปุ่นสูงกว่าของไทยมาก นั่นคือเมื่อเทียบต่อ จีดีพี สูงกว่าของเรา 2.4 เท่า และเมื่อเทียบด้วยราคาจะสูงกว่าเราถึง 10.6 เท่า เราจึงต้องใช้เวลาอีกนานถ้าจะพัฒนาให้ได้อย่างญี่ปุ่น
ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย อยู่ที่ระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งครอบคลุมประชากรราวร้อยละ 8 เท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายสูงถึงราวร้อยละ 30 ของงบประมาณรวม จึงแพงกว่าระบบ สปสช. กว่า 6 เท่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะระบบสวัสดิการข้าราชการใช้ระบบ “จ่ายตามการให้บริการ” (Fee-For-Service) ซึ่งจูงใจให้ให้บริการที่เกินความจำเป็นได้มาก น่ายินดีที่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กรมบัญชีกลาง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ใช้ “ความรู้” มากขึ้นในการทำงานนี้ ทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ในระดับหนึ่ง
กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ กรณ๊ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 7,800 แห่ง ที่เคยบริหารเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานของตนเอง ทำให้เกิดปัญหา 1) ค่าใช้จ่ายบานปลายออกไปเรื่อยๆ 2) อปท. ขนาดเล็กขาดสภาพคล่อง เมื่อมีพนักงานเจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ไม่มีเงินจ่าย และโรงพยาบาลบางแห่งชลอการให้บริการ ทำให้พนักงานเดือดร้อน สุ่มเสี่ยงต่ออันตราย เมื่อปีที่แล้ว อปท. ตัดสินใจ โอนให้ สปสช. เป็นผู้บริหาร สวัสดิการรักษาพยาบาลทั้งหมด โดยให้ได้รับสิทธิเท่าข้าราชการเหมือนเดิมทุกประการ เกิดผลดีฉับพลัน คือ 1) โรงพยาบาลทุกแห่งมั่นใจว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาล จึงไม่มีการชลอการให้บริการ 2) ค่าใช้จ่ายจากเดิมปีละราว 6 พันล้าน ใช้จ่ายจริงเพียง 4 พันล้านเท่านั้น ประหยัดเงินท้องถิ่นไปทันทีปีละ 2 พันล้าน 3) ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ได้รับสิทธิค่าเสียหายเบื้องต้นกรณีเกิดความเสียหายจากการรับบริการ ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 4) ลดภาระการบริหารลงทั้งหมด โดยเสียค่าใช้จ่ายในการบริหารให้ สปสช. เพียงร้อยละ 1.5 เฉลี่ยแห่งละ 7,500 บาทเท่านั้น
นี่คือตัวอย่างของการแก้ปัญหาเชิงระบบ
สำหรับปัญหาโรงพยาบาลเอกชนค่ารักษาแพง จะต้องแก้เชิงระบบใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การพัฒนาหรือปฏิรูประบบบริการโรงพยาบาลรัฐ ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลของรัฐยังเป็นผู้ให้บริการส่วนใหญ่ของระบบ สปสช. คือกว่าร้อยละ 90 และเกือบร้อยละ 50 ของระบบประกันสังคม 2) จะต้องควบคุมการบริการและการคิดค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโรงพยาบาลเอกชนให้ได้ผล และ 3) จะต้องสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนให้รู้จักใช้สิทธิ์อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ และให้เป็นพลเมืองที่เข้มแข็งในการมีส่วนร่วมในการปฏิรูประบบบริการและคุ้มครองสิทธิของตนเอง
เรื่องแรก การพัฒนาหรือปฏิรูประบบบริการภาครัฐ โรงพยาบาลรัฐมีจุดแข็งคือเป็น “องค์กรที่ไม่มุ่งผลกำไร” (Not-for-profit organization) จึงไม่มีเหตุจูงใจสำคัญในการมุ่งผลกำไร แต่ปัญหาของหน่วยงานรัฐ คือ ความเฉื่อยของระบบ การแก้ปัญหาจึงต้องรักษาสถานะความเป็นองค์กรของรัฐที่ไม่มุ่งผลกำไรไว้ แต่ต้องบริหารให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างเอกชน หลักการคือ ต้องไม่โอนเป็นของเอกชน (ไม่ทำ Privatization of ownership) แต่ต้องบริหารแบบเอกชน (Privatization of management)
ตัวอย่างที่ดีที่ประสบผลสำเร็จ คือ กรณีโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นองค์การมหาชน เมื่อ พ.ศ. 2543 ขณะนั้นโรงพยาบาลมีขนาด 60 เตียง ปัจจุบันขยายออกไปมากมาย จนมีขนาดเกือบ 400 เตียง โดยใช้งบประมาณเพื่อการลงทุนจากกระทรวงสาธารณสุขน้อยมาก นอกจากนั้นยังไปตั้งสาขาในท้องที่ต่างๆ ทั้งในอำเภอบ้านแพ้ว และอำเภออื่นในจังหวัดสมุทรสาครและใกล้เคียงอีกราว 10 แห่ง และได้ไปเช่าโรงพยาบาลพร้อมมิตรซี่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดย่อม ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลสาขาของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ทำหน้าที่ให้บริการและรับส่งต่อผู้ป่วยจากสาขาอื่นๆ นอกจากนั้นยังจัดบริการหน่วยเคลื่อนที่ออกไปรับบริการผ่าตัดต้อกระจก และให้บริการตรวจรักษาให้แก่คนไข้จังหวัดอื่นๆ อีกมากมาย
กรณีของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว คือ ตัวอย่างของการ “ปลดปล่อยศักยภาพ” ของโรงพยาบาลรัฐ ให้บริการได้คล่องตัวอย่างเอกชน แต่ไม่เอาผลกำไรไปแบ่งปันกัน
โรงพยาบาลบ้านแพ้วสามารถขยายบริการได้มากมายเพราะเหตุสำคัญคือไม่ถูก “พันธนาการ” โดยระบบราชการเหมือนโรงพยาบาลรัฐแห่งอื่นๆ ที่เสมือนถูกมัดตราสังโดยระบบระเบียบของทางราชการ ทั้งของกระทรวงที่เป็นเจ้าสังกัด ก.พ. สำนักงบประมาณ และอื่นๆ
ปัจจุบัน โรงพยาบาลของรัฐแทบทุกแห่งคนไข้แน่นมาก จนมีสภาพเหมือนตลาดสด นอกจากคนไข้ต้องรอนานแล้ว ยังเป็นแหล่งแพร่โรคที่สำคัญ และทั้งเจ้าหน้าที่และคนไข้กับญาติคนไข้ต่างก็เครียด กรณีญาติคนไข้ไล่แทงเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานีเมื่อเร็วๆ นี้เป็นตัวอย่างของอาการเครียดเขม็งที่พร้อมระเบิดของทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายคนไข้กับญาติคนไข้ ต้นเหตุสำคัญเพราะบริการที่มีอยู่ “ไม่พอเพียง” และไม่มีประสิทธิภาพ
ในญี่ปุ่น ประชาชนไปใช้บริการโรงพยาบาลปีละ 12 ครั้ง ในไต้หวันก็ราว 13 ครั้ง แต่ปัญหาคนไข้แน่นและแออัดน้อยกว่าบ้านเรามาก เพราะบริการมีพอเพียง บุคลากรสุขภาพของญี่ปุ่นมีมากกว่าเรา 6-10 เท่า ของเราคนไข้ สปสช. ไปใช้บริการเพียงปีละ 3.7 ครั้ง ยังแน่นขนาดนี้ ถ้าไม่ปฏิรูป จะยิ่งกว่าวิกฤต
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขท่านหนึ่ง เมื่อครั้งยังเป็นรองปลัดกระทรวงได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบ้านแพ้วแล้วพูดชัดเจนว่า โรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข ต้องออกนอกระบบอย่างบ้านแพ้ว ไม่มีหนทางอื่น แต่น่าเสียดาย พอเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่พูดเช่นนั้นอีกเลย เพราะความคิดที่ยังต้องการให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศเป็น “เมืองขึ้น” ของกระทรวงสาธารณสุขครอบงำใช่หรือไม่
นั่นคือเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลควรทำ เพื่อมิให้การลงทุนทำรัฐประหาร “เสียของ”
อันที่จริงช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา โรงพยาบาลของรัฐมีการพัฒนาไปมาก ทั้งขนาดและคุณภาพ แต่ก็ยังไม่พอเพียงกับความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นมากกว่ามาก การพัฒนาคุณภาพโดยสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลก็ทำได้อย่างน่าชื่นชม แต่ก็ยังเป็นส่วนของ “คุณภาพ” ไม่เกี่ยวกับเรื่องปริมาณ และต่อมากระทรวงสาธารณสุขยังพยายามจำกัดบทบาทของสถาบันแห่งนี้ให้ทำหน้าที่ “รับรอง” คุณภาพของโรงพยาบาลเท่านั้น โดยกระทรวงสาธารณสุขยังคง “หวงก้าง” เรื่องการพัฒนาคุณภาพไว้เป็นของตนเอง
ต่อไปเป็นประเด็นเรื่องการควบคุมการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะของเอกชน
กรณีตัวอย่างจากญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่น่าศึกษา เพราะญี่ปุ่นใช้ระบบการเบิกจ่ายแบบ “จ่ายตามการให้บริการ” (Fee-For-Service) ทั้งประเทศ ญี่ปุ่นจึงต้องมีระบบควบคุมตรวจสอบที่ใหญ่โตมโหฬารมาก ญี่ปุ่นกำหนดให้ประชาชน “ร่วมจ่าย” โดยประชาชนจ่ายล่วงหน้าเฉลี่ยรวมราว 28.3% และจ่ายเมื่อไปใช้บริการเฉลี่ย 13.5% รวมส่วนที่ประชาชนจ่ายสูงถึง 41.8% ส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบเฉลี่ยรวม 20.1% รัฐบาลกลางจ่ายเพียงร้อยละ 25.9 และรัฐบาลท้องถิ่นจ่าย 12.2% รวมส่วนที่รัฐบาลจ่าย 38.1% เท่านั้น แต่รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนในการควบคุมตรวจสอบการเบิกจ่ายทั้งหมด ทั้งเพื่อประโยชน์ของการจ่ายงบประมาณ และเพื่อปกป้องเงินที่ประชาชนและนายจ้างร่วมจ่าย ซึ่งรวมแล้วสูงถึง 61.9%
ญี่ปุ่นมีกลไกตรวจสอบรวม 3 ระบบ ได้แก่ 1) การกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาล ซึ่งประกอบด้วยระบบย่อย 2 ระบบ ได้แก่ 1.1) การคิดค่าใช้จ่ายตามการวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis-Related Group หรือ DRG) 1.2) การกำหนดรายการยา บริการทางเภสัชกรรม ทันตกรรม ค่าผ่าตัด ค่าการให้ยาระงับความรู้สึก ค่าตรวจวินิจฉัย ฯลฯ ที่ให้เบิกจายได้ 2) ระบบการตรวจสอบรายการเบิกจ่าย และ 3) ระบบการตรวจสอบมาตรฐานบริการ
ระบบการตรวจสอบรายการเบิกจ่าย ดำเนินการโดยหน่วยงาน 2 หน่วย ได้แก่ 1) สำนักงานตรวจสอบการเบิกจ่ายประกันสุขภาพ ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491 ปัจจุบันมีสถานภาพเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ ทำหน้าที่ตรวจสอบการเบิกจ่ายจาก 3 กองทุนใหญ่ คือ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มข้าราชการ ครอบคลุมประชากรราวร้อยละ 60 ในปี 2556 มีการตรวจสอบการเบิกจ่าย 950 ล้านราย จากสถานพยาบาลราว 230,000 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ประจำราว 4,600 คน มีกรรมการฝ่ายเทคนิคในคณะกรรมการอีกราว 4,600 คน 2) สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ตรวจสอบในส่วนที่เหลือราวร้อยละ 40 ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2481 ในปี 2556 มีเจ้าหน้าที่กว่า 3 พันคน มีกรรมการผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วยแพทย์อีก 3,046 คน ทันตแพทย์ 550 คน และเภสัชกร 125 คน
เพราะมีระบบตรวจสอบก่อนการเบิกจ่ายที่เข้มแข็ง ทำให้ทุกโรงพยาบาลต้องมีระบบการตรวจสอบของตนเองที่เข้มงวดก่อนส่งเบิก เพราะหากมีกรณีผิดพลาด เบิกเกินบ่อยๆ จะถูกเพ่งเล็งหรือถูกลงโทษทางการบริหารด้วย
ในส่วนของการตรวจสอบมาตรฐานบริการ มีสำนักงานตรวจราชการและกำหนดแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ (Office of Medical Guidance and Inspection) ทำหน้าที่ทั้งตรวจการ (Inspection) และตรวจสอบ (Auditing) ทุกปีจะมีการตรวจสถานพยาบาลปีละครั้ง ตามเกณฑ์ประมาณ 300 ข้อ และตรวจตามข้อร้องเรียน หรือกรณีพบการทุจริต สถิติปี 2554 มีกรณีแจ้งเตือน 3,955 ราย มีกรณีเพิกถอนสถานพยาบาลออกจากการให้บริการ 45 แห่ง เพิกถอนสิทธิผู้ประกอบวิชาชีพ 34 ราย
โชคดีของประเทศไทย ที่ระบบการเงินการคลังเป็นระบบเหมาจ่ายรายหัวกว่าร้อยละ 90 ดังกล่าวแล้ว จึงเหลือที่ต้องทำการตรวจสอบในลักษณะเดียวกับของญี่ปุ่น เฉพาะใน 2 ระบบ คือ 1) สวัสดิการข้าราชการ ซึ่งใช้ระบบ “จ่ายตามการให้บริการเหมือนญี่ปุ่น และ 2) ระบบบริการของเอกชน ซึ่งเป็นระบบ “จ่ายตามการให้บริการ” เหมือนกัน ซึ่งมักมีลักษณะเป็นการเรียกเก็บ “ตามใจชอบ”ด้วย
รัฐบาลญี่ปุ่นจ่ายเงินในระบบหลักประกันสุขภาพเพียงร้อยละ 38.1 เท่านั้น แต่รัฐบาลถือเป็นหน้าที่ต้องควบคุม ตรวจสอบ ตรวจตรา การเบิกจ่าย ทั้งเพื่อปกป้องเงินงบประมาณในส่วนนี้ และปกป้องในส่วนของเงินที่ประชาชนจ่ายเองร้อยละ 41.8 กับที่นายจ้างร่วมจ่ายสมทบอีกร้อยละ 20.1 ทั้งนี้เพราะทราบดีว่า กลไกการตรวจสอบนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องใช้ความรู้ ทักษะ และอำนาจรัฐ ไม่สามารถปล่อยให้ประชาชนปกป้องตนเองตามยถากรรมได้ แต่รัฐบาลไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ยังทำหน้าที่นี้น้อยมาก ในส่วนขององค์กรวิชาชีพ โดยเฉพาะ แพทยสภา นอกจากแทบไม่ได้ทำหน้าที่เชิงรุกเลย ยังมีบทบาทและท่าที่ไม่เอื้อต่อการควบคุมตรวจสอบด้วย
โรงพยาบาลและคลินิกของญี่ปุ่นเป็นของเอกชนราวร้อยละ 80 แต่เพราะกลไกควบคุมตรวจสอบของรัฐ ทำหน้าที่ที่พึงทำ จึงสามารถ “จัดระเบียบ” สถานพยาบาลเหล่านั้นได้ แห่งใดที่มีปัญหาก็ถูกเพิกถอนจากระบบ บุคลากรวิชาชีพใดที่มีปัญหารุนแรงก็ถูกเพิกถอนสิทธิ์การเข้าอยู่ในระบบ ขณะที่ในประเทศไทย โรงพยาบาลเอกชนกลายสภาพเป็น “สัตว์ประหลาด” ที่ทรงอำนาจและอิทธิพล เช่นในระบบประกันสังคมมีสถานพยาบาลเอกชนให้บริการเกินร้อยละ 50 แล้ว โดยมีตัวแทนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเข้าไปควบคุมระบบ จนสามารถกำหนด “ผลประโยชน์” ให้เป็นไปตามที่ต้องการได้เป็นส่วนมาก เมื่อมีปัญหาก็สามารถใช้ผู้ประกันตนเป็นตัวประกัน ออกข่าว “ข่มขู่” ที่จะถอนตัวจากการให้บริการ
สมัยรัฐบาลที่แล้ว มีนโยบาย “หาเสียง” แบบไม่ฉลาด ด้วยการประกาศนโยบาย “ป่วยฉุกเฉิน เข้ารักษาได้ทุกที่” เมื่อประชาชนไปรับบริการจากโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งตามนโยบายนี้ กลับถูกเรียกเก็บค่ารักษาราคาแพงมาก จนเป็นคดีถึงโรงศาลก็หลายราย แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถ “จัดการ” กับโรงพยาบาลเหล่านั้นได้
ก็ต้องดูว่ารัฐบาลภายใต้อำนาจรัฐประหารจะทำอะไรได้
สุดท้ายก็คือ การสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน
ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนมีการพัฒนาจนเข้มแข็งระดับหนึ่ง กล่าวคือ สามารถเป็น “กองหน้า” ต่อสู้ คัดค้านอำนาจรัฐที่ฉ้อฉลจนอ่อนแอ แต่สุดท้ายก็ต้องจบลงโดยการรัฐประหาร ซึ่งมักจะ “เสียของ” เพราะไม่สามารถสร้างกลไกคุ้มครองสิทธิประชาชนได้อย่างเข้มแข็งเพียงพอ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การผลักดันจนมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 ให้มีองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค แต่ผ่านไป 17 ปี แม้มีการตอกย้ำไว้อีกครั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 องค์การอิสระดังกล่าวก็ยังไม่เกิดขึ้น ก็ต้องดูต่อไปว่า รัฐประหารครั้งนี้ จะทำให้มีองค์การอิสระดังกล่าวขึ้นได้หรือไม่
กรณีประเทศอังกฤษ สามารถปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2396 (ก่อนสนธิสัญญาบาวริง พ.ศ. 2398 สองปี) เปลี่ยนจาก “ระบบอุปถัมภ์” (Patronage System) เป็น “ระบบคุณธรรม” (Merit System) ทำให้ระบบราชการของอังกฤษมีคุณภาพและประสิทธิภาพ สามารถขจัดคอรัปชั่นลงได้มาก ต่อมามีการปฏิรูปใหญ่อีกครั้งในสมัยนายกรัฐมนตรีฮาโรลด์ วิสสัน เมื่อราว พ.ศ. 2511 แต่ทำได้เพียงบางส่วน จนถึงสมัยนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ก็มีการปฏิรูปใหญ่อีกครั้ง สิ่งหนึ่งที่นายกฯ แทตเชอร์ ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ คือ การประกาศ “กฏบัตรพลเมือง” (Citizen’s Charter) เมื่อ พ.ศ. 2524 ประกอบด้วย 1) ให้หน่วยงานรัฐกำหนดมาตรฐานบริการ และ ประกาศโดยเปิดเผย (Explicit Standards) 2) ให้มีข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง ใช้ภาษาง่ายๆ พร้อมเปิดเผยต่อสาธารณะ (Information and Openness) 3) เปิดให้ประชาชนมีทางเลือกและให้คำปรึกษาแก่ผู้ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ (Choice and Consultation) 4) ให้บริการที่สะดวกแก่ผู้ใช้บริการ มิใช่เพื่อความสะดวกของผู้ให้บริการ (Courtesy and Helpfulness) 5) พร้อมรับการร้องเรียน และแก้ไข (Putting things right) และ 6) ให้บริการที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่าเงินงบประมาณ (Value for money)
รัฐบาลไทย เคยตื่นเต้นกับความสำเร็จของนายกฯ แทตเชอร์ สำนักงาน ก.พ. เคยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษมาเป็นที่ปรึกษาประจำ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก แม้มีการริเริ่มผลักดันเรื่อง “กฏบัตรพลเมือง” แต่ก็มีสถานะเป็นเพียง “ลมปาก” (Lip Service) เท่านั้น แทบไม่มีผลจริงในทางปฏิบัติ น่ายินดีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ออกพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ออกมาแล้วฉบับหนึ่งเมื่อต้นปีนี้ คือ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่เวลานี้ดูจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ประชาชนต้องผลักดันให้รัฐบาลทำเรื่องนี้ และทำให้สำเร็จ ข้อสำคัญคือจะต้องปฏิรูประบบราชการให้เปลี่ยนจาก “ระบบอุปถัมภ์” เป็น “ระบบคุณธรรม” อย่างแท้จริง
สุดท้าย ประชาชนต้องผนึกกำลังกันใช้อาวุธที่ทรงพลังที่สุดที่ประชาชนมีอยู่นั่นคือ ไม่ไปใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการเกินความจำเป็น และราคาแพง หันมาใช้บริการตามสิทธิ เมื่อพบปัญหาไม่เป็นไปตาม “กฎบัตรพลเมือง” ที่ประเทศไทยก็เคยประกาศแล้ว ก็ต้องผลักดันให้มีการแก้ไข
ผู้เขียนเคยไปอยู่ญี่ปุ่นเป็นเวลาเดือนเศษ เมื่อราว 40 ปีมาแล้ว โดยไปพักที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง เจ้าของโรงเรียนเล่าว่า ในญี่ปุ่น ห้ามพ่อแม่ขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียนอนุบาล แปลว่า เด็กทุกคนต้องเดินไปเรียนในโรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน ชุมชนจึงมีหน้าที่ต้องพัฒนาโรงเรียนอนุบาลให้ดีสำหรับลูกหลาน และต้องพัฒนาถนนหนทางจากทุกบ้านเรือนให้ปลอดภัยเพียงพอให้เด็กอนุบาลเดินไปโรงเรียนด้วย
ประชาชนคนไทยต้องเอาอย่างญี่ปุ่นในเรื่องเช่นนี้ ถ้าโรงพยาบาลตามสิทธิมีปัญหา ก็ต้องช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้นได้
อ่านประกอบ : โรงพยาบาลเอกชนค่ารักษาแพง : ปัญหาและทางออก (1)