โรงพยาบาลเอกชนค่ารักษาแพง : ปัญหาและทางออก (1)
ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพงหรือแพงมหาโหด มีต้นเหตุทั้งที่สมควรและไม่สมควร
แต่ก่อน ค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยเป็นระบบ “ยาขอหมอวาน” ค่าบริการพื้นฐานส่วนมากคือค่ายกครู ซึ่งหมอแต่ละคนจะเป็นผู้กำหนด เป็นราคาที่เป็นที่ยอมรับได้ ไม่สูง เพราะหมอส่วนมากมีอาชีพพื้นฐาน เช่น เป็นชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน หรือ ช่าง อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ทำด้วยใจรักและเมตตาหรือเป็นวิชาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ต้องการรักษาไว้ ปัจจุบันระบบดังกล่าวยังคงเหลืออยู่ในระบบ “หมอพื้นบ้าน” ที่ชาวบ้านเยียวยารักษาและช่วยเหลือกันเองในชนบท
ปัจจุบันการรักษาพยาบาลมีต้นทุน ทั้งในระบบโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โรงพยาบาลรัฐราคาย่อมเยากว่า เพราะรัฐใช้งบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างอาคาร เครื่องมือ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร และ ค่าใช้สอยต่างๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ประปา นอกจากนี้ยังมีผู้บริจาคเพิ่มให้อีกส่วนหนึ่งด้วย ขณะที่เอกชนต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนจึงต้องแพงกว่าในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่สมควรและยอมรับได้
ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โรงพยาบาลจะคิดค่าบริการใน 2 ลักษณะ คือถ้าเป็นคนไข้นอก (Out Patient Department หรือ OPD) จะคิดเป็นค่ายา ค่าตรวจวินิจฉัย ค่า “หัตถการ” (Procedure) หรือ ค่ารักษา และค่าธรรมเนียมแพทย์ ถ้าเป็นคนไข้ใน (In Patient Department หรือ IPD) จะรวมค่าห้อง ค่าผ่าตัด ค่าพยาบาลพิเศษ (ถ้ามี) ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และอื่นๆ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะเป็นผู้กำหนดราคาเอง แม้ราคาจะแตกต่างกันได้มาก แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่สมควรและยอมรับได้ ถ้าเป็นการใช้จ่ายในการตรวจรักษาที่จำเป็นและสมควรตาม “มาตรฐานวิชาชีพ”
ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ปัจจุบันแพงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก นอกจากราคาที่ดินที่แพงขึ้นมากแล้ว ยังเกิด จาก 2 สาเหตุใหญ่ เหตุแรก คือ มีการพัฒนายาและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิผลในการรักษาสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ต้องมีการควบคุมกำกับ โดยการ “ประเมินเทคโนโลยี” (Technology Assessment) อย่างเป็นระบบ เพื่อคัดกรองนำมาใช้เฉพาะเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล ความปลอดภัย และคุ้มค่า ไม่เช่นนั้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะแพงมาก และควบคุมไม่ได้ เหตุที่สอง ที่มีผลมากต่อราคายาใหม่ๆ ก็คือ ระบบสิทธิบัตร ที่ทำให้เกิดการผูกขาดและตั้งราคาตามใจชอบ ดังตัวอย่างที่ชัดเจนกรณียาโรคหัวใจราคาเม็ดละ 70 บาท เมื่อกระทรวงสาธารณสุขใช้สิทธิตามมาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing หรือ CL) สามารถซื้อได้ในราคาเพียงเม็ดละ 1.06 บาท เท่านั้น
ส่วนที่สอง ที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพงกว่าคือ ส่วนของกำไร ซึ่งก็เป็นส่วนที่สมควรและยอมรับได้ ถ้าไม่เป็นการ “ค้ากำไรเกินควร”
สำหรับสาเหตุที่ไม่สมควรและเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพง หรือ แพงมหาโหด เกิดจากระบบบริการที่ฉ้อฉล และระบบการควบคุมตรวจสอบล้มเหลว
เหตุดังกล่าว คือ การให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษา และรับไว้ในโรงพยาบาลที่เกินสมควร ไม่จำเป็น ในลักษณะจงใจเพิ่มรายได้และผลกำไร กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในโรงพยาบาลเอกชน มากกว่าในโรงพยาบาล ของรัฐ แยกเป็นกรณีต่างๆ ได้ดังนี้
กรณีแรก เป็นกรณีการจ่ายยาที่เกินจำเป็น ตัวอย่างเช่น เมื่อคนไข้เป็นไข้หวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นโรคที่ส่วนมากหายได้เอง (Self-limited disease) ยาที่จำเป็นเพื่อบรรเทาอาการคือ ยาลดไข้ และยาบรรเทาอาการอื่น เช่น ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้ไอ-ขับเสมหะ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมิใช่สาเหตุของโรค สมัยก่อน มาตรฐานการรักษากำหนดว่า ถ้าเสมหะเริ่มเป็นสีเหลือง แสดงว่ามีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนให้ใช้ยาปฏิชีวนะได้ ปัจจุบัน พบว่าเสมหะที่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเป็นลักษณะปกติของโรค เพราะเป็นปฏิกิริยาของร่างกายในการกำจัดเชื้อไวรัส สีของเสมหะที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเกิดจากเม็ดเลือดขาวที่ถูกทำลายในการ “รบ” กับเชื้อไวรัส จึงยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
โดยเฉพาะในเด็ก แต่ก่อนมักใช้ยาลดน้ำมูก ต่อมาพบว่า การให้ยาลดน้ำมูกมักทำให้ทั้งน้ำมูกและเสมหะข้น อาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะระบบหายใจอุดตัน ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงแก่เด็กได้ จึงไม่จำเป็นต้องให้ยาลดน้ำมูกในเด็ก แต่ใช้การดูดหรือเช็ดน้ำมูกให้เด็กแทน ยา “แก้ไอ” ก็ไม่ควรใช้ การให้ยา “แก้ไอ” เป็นการไปกดระบบป้องกันตัวเอง (Defense mechanism) ในการขจัดเชื้อโรคของเด็ก อาจทำให้เป็นอันตรายได้ หากเด็กไอจึงควรใช้ยาละลายเสมหะ หรือยาขับเสมหะ (Expectorant) แทน
แต่เมื่อเข้าโรงพยาบาลที่มุ่งทำรายได้ และเพิ่มผลกำไรเป็นสรณะ แพทย์จะสั่งยาให้คนไข้ถุงโต เพื่อให้โรงพยาบาลมีรายได้มากขึ้น คนไข้ส่วนมากก็จะ “พอใจ” ที่ได้ยามามาก จนอาจยอมรับได้ที่ต้องจ่ายในราคาแพง และคนไข้โดยมากมักมีมายาคติว่า ถ้า “ยาแพงแสดงว่าเป็นยาดี”
มายาคติดังกล่าว ทำให้โรงพยาบาลที่มุ่งรายได้และผลกำไร จะจ่ายยา “ราคาแพง” ให้แก่คนไข้ เพราะเมื่อคิดกำไรเป็นเปอร์เซ็นต์ จะได้กำไรเป็น “เม็ดเงิน” เป็นกอบเป็นกำ ตัวอย่างเช่น ยาบรรเทาหวัด ลดน้ำมูกดั้งเดิม คือ คลอร์เฟนิรามีน (Chorpheniramine) ต้นทุนเม็ดละ 10 สตางค์ ถ้าคิดกำไร 30% จะได้เพียง 3 สตางค์ ถ้าจ่าย 20 เม็ด ก็จะได้กำไรเพียง 60 สตางค์ แต่ถ้าจ่ายยาแก้หวัด ชนิด “ไม่ง่วง” ราคาเม็ดละ 50 บาท คิดกำไร 30% จ่าย 20 เม็ด ก็จะกำไรถึง 300 บาท
ในโลกทุนนิยม มนุษย์ซึ่งชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ “ผู้มีปัญญาอันเลิศ” (Homo sapiens sapiens) จะถูกหล่อหลอม จนกลายเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” (Homo economicus) กรณีการจ่ายยาแพงเพื่อเอากำไรมากๆ จึงกลายเป็นเรื่องปกติ หรือยอมรับได้ทั่วไปจนกลายเป็น “ปทัสถานที่เบี่ยงเบน” (Deviant Norm) ไปในที่สุด โดยมนุษย์ก็จะใช้ส่วนของการเป็น “ผู้มีปัญญาอันเลิศ” หาเหตุผลมาอธิบายการจ่ายยาราคาแพงว่า เป็นสิ่งจำเป็นเพราะคนไข้ย่อมต้องการกินยาที่ไม่ทำให้เกิดอาการง่วง ทั้งๆ ที่ยาเหล่านั้น มักเป็น “ยาใหม่” ซึ่งมีการพัฒนาสรรพคุณและความปลอดภัยจนสามารถขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาทั่วโลกได้ แต่เพราะเป็นยาใหม่ จึงมีข้อมูลเรื่อง “ความปลอดภัย” จำกัด ดังปรากฏว่ามียาตัวใหม่บางตัว พบว่ามี “ฤทธิ์ไม่พึงประสงค์” (Adverse Reaction) ที่รุนแรงถึงตาย จนต้องเรียกคืนยาและเพิกถอนทะเบียน ปรากฏเป็นข่าวประปราย การกินยาใหม่ ในด้านหนึ่ง คนที่กินยานั้นจึงกลายสภาพเป็น “หนูตะเภา” ทดลองความปลอดภัยของยาไปโดยปริยาย และแท้ที่จริง เมื่อเป็นไข้หวัด ร่างกายย่อมต้องการการพักผ่อน การกินยาราคาถูกที่มีข้อมูลความปลอดภัยสะสมมายาวนาน และทำให้ง่วง ย่อมเป็นผลดีต่อการหายของโรคด้วย แต่เหตุผลต่างๆ เหล่านี้ มักจะถูกมองข้ามไปหมด
ตัวอย่าง กรณีเช่นนี้มีมากมาย ขอยกอีกตัวอย่างเดียว คือ กรณีท้องเสีย ซึ่งส่วนมากก็เป็นโรคหายเองได้ เพราะอาการท้องเสียคือกลไกของร่างกายในการขจัดเชื้อโรคออกไป เมื่อเชื้อหมดโรคก็หายไปได้เอง ความจำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อโรคมีอยู่น้อย โดยเฉพาะในเด็ก เชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสียส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาปฏิชีวนะที่จะฆ่าเชื้อไวรัสเหล่านั้นได้ การรักษาที่สำคัญคือการให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนที่เสียไปจากอาการท้องเสีย ซึ่งส่วนมากสามารถทดแทนได้โดยกินน้ำตาลเกลือแร่ราคาถูกๆ หรือในผู้ใหญ่อาจใช้น้ำอัดลม ใส่เกลือก็บรรเทาอาการขาดน้ำและหายจากโรคได้
กรณีดังกล่าวนี้ เมื่อไปโรงพยาบาลเอกชน แทนที่จะหายจากโรคโดยเสียค่าน้ำตาลเกลือแร่ไม่กี่สตางค์ ก็อาจจะถูกรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและเสียค่ารักษาพยาบาลนับพัน นับหมื่น หรือนับแสนได้
กรณีที่สอง ที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพงหรือแพงมหาโหด โดยไม่สมควร คือการรับไว้ในโรงพยาบาล (Admission) โดยไม่สมควรและไม่จำเป็น
กรณีคนไข้ที่เป็นไข้หวัด หรือท้องเสียตามที่ยกตัวอย่างมาแล้วจำนวนมาก ที่ไม่จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะสามารถรักษาหายโดยปลอดภัยได้ด้วยการรักษาแบบคนไข้นอก อาจจะถูกแพทย์สั่งให้รับไว้ในโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถเพิ่มการตรวจรักษา เพื่อเพิ่มรายได้และกำไรแก่โรงพยาบาลอีกมาก วิธีการก็อาจทำโดยการ “แจ้ง” แก่คนไข้ว่าต้องนอนโรงพยาบาล หากกลับบ้านอาจมีอันตรายร้ายแรงถึงตายได้ กรณีดังกล่าว คนไข้และญาติคนไข้เกือบจะร้อยทั้งร้อยก็ย่อมกลัวตาย และยอมเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล
ผู้เขียนเคยเป็นกรรมการแพทย์ในคณะกรรมการการแพทย์ประกันสังคม เคยไปเดินตรวจโรงพยาบาลเอกชน พบคนไข้ประเภทนี้จำนวนไม่น้อย ท่านรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธาณสุขต่างก็เป็นแพทย์ทั้งสองท่าน ลองหาโอกาสไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเอกชนแบบไม่บอกให้รู้ล่วงหน้า หรือส่งทีมออกไปเดินสำรวจก็จะพบปัญหาดังกล่าวนี้ได้ไม่ยาก
กรณีที่สาม ที่พบได้ไม่น้อย คือ การผ่าตัดที่ไม่จำเป็น เช่น กรณีคนไข้ปวดท้องแล้วถูกวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งต้องรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น คนไข้เหล่านี้เมื่อผ่าตัดแล้ว จะต้องส่งไส้ติ่งไปตรวจว่าอักเสบจริงหรือไม่ จะพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่พยาธิแพทย์อ่านผลว่า “ไส้ติ่งปกติ” (Normal Appendix) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการวินิจฉัยผิดโดยสุจริต แต่มีส่วนหนึ่งที่จงใจวินิจฉัยผิด ปัจจุบันค่าผ่าตัดไส้ติ่งในโรงพยาบาลเอกชนราคาหลักแสน ยังไม่คิดค่าโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นอีกจิปาถะ
เมื่อพบว่า “ไส้ติ่งปกติ” แพทย์ก็จะอธิบายให้คนไข้สบายใจว่า แม้ปกติแต่ตัดออกไปก็ดีแล้ว เพราะเป็นอวัยวะที่ไม่มีประโยชน์ และอาจอักเสบขึ้นเมื่อใดก็ได้ หากไปอักเสบในป่า หรือที่ห่างไกลทุรกันดาร หรือระหว่างเดินทางไปต่างประเทศก็จะยุ่งยากและอันตรายมาก โดยไม่พูดถึงความเสี่ยงจากการผ่าตัด การให้ยาระงับความรู้สึก และค่าใช้จ่ายที่เสียไปโดยไม่สมควร
ผู้เขียนเคยประสบด้วยตนเอง เมื่อราว 20 ปีมาแล้ว มีญาติอายุประมาณ 50 ปี เส้นโลหิตในสมองแตก จากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง (Arterio-venous หรือ A-V malformation) รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อไปเยี่ยมตรวจอาการและขอดูเวชระเบียนพบว่าสมองตาย (Brain Death) แล้ว ซึ่งย่อมแปลว่าไม่มีโอกาสหายหรือฟื้นแล้ว ถามน้องชายของญาติที่เฝ้าอยู่ บอกว่าหมอกำลังจะผ่าตัดสมอง ซึ่งจะมีโอกาสรอด 3% ผู้เขียนแนะนำว่าความจริงน่าจะเหลือ 0% แล้ว แต่น้องชายบอกว่าเมื่อหมอบอกมีโอกาสรอด 3% แม้เสียค่าใช้จ่ายเท่าไรก็ยอม ทั้งๆ ที่มิใช่คนมีฐานะดีอะไร ในที่สุดคนไข้ก็ถูกผ่าตัด เสียเงินไปอีกราว 4 แสน สมัยนั้น และเสียชีวิตในวันต่อมา
แน่นอนว่า คนไข้รายนี้ หากอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ก็ย่อมไม่มี “แรงจูงใจ” ให้ผ่าตัดที่ไม่จำเป็น และไม่สมควรเช่นนั้น
กรณีที่สี่ นอกจากการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นและไม่สมควรแล้ว ยังมีการสั่งตรวจและรักษาที่ไม่จำเป็นอื่นๆ อีกมากมาย คนไข้สูงอายุจำนวนมาก ที่หมดสติหรืออาจเสียชีวิตแล้ว ญาตินำส่งโรงพยาบาล หากเข้าโรงพยาบาลเอกชน จะมีการนำเข้าห้องไอซียู (ICU หรือ Intensive Care Unit) ใส่เครื่องช่วยพยุงชีพมากมาย ด้วยความหวังที่จะกู้ชีพให้ฟื้นคืนมา คนไข้เหล่านี้ส่วนหนึ่งสมควรช่วยเหลือเยียวยาเพื่อให้รอดหรือหาย แต่มีจำนวนไม่น้อยที่สมองตายแล้ว ไม่ควร “ยืดความตาย” แต่โรงพยาบาลเอกชนมีแรงจูงใจสูงที่จะสั่งการตรวจวินิจฉัยเพื่อยืดการตาย เพราะจะเพิ่มรายได้และผลกำไรให้ได้มากมาย
คนไข้บางรายที่ “สิ้นหวัง” แล้ว จะต้องตายอย่างแน่นอน นอกจากการพยายามให้ความหวังและสั่งการตรวจรักษาไปเรื่อยๆ แล้ว ในวาระสุดท้าย โรงพยาบาลเอกชนมักมี “ประเพณีปฏิบัติ” ที่จะเชิญแพทย์ที่ปรึกษาหลายๆ แขนงมาตรวจเพื่อ “ช่วยคนไข้” โดยอ้างเหตุผลว่าเผื่อจะมีความหวังบ้าง ซึ่งในอีกแง่หนึ่งคือ การมาช่วยกัน “รีด” เอาจากคนไข้และญาติอีกหนึ่งรอบ ก่อนจะ “ปล่อย” ให้หลุดมือไป
กรณีดังกล่าวนี้ เป็นปัญหาในประเทศทุนนิยมหลายประเทศทั่วโลก เพื่อมิให้ปัญหานี้ขยายตัวในประเทศไทย ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อ “ปฏิรูประบบสุขภาพ” ในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ จึงมีการผลักดันจนเกิดมาตรา 12 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงเจตนาล่วงหน้าที่จะไม่ขอรับการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพื่อยืดความตาย หรือ ยืดความทุกข์ทรมานออกไป โดยกฎหมายบัญญัติให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขสามารถยุติการรักษาดังกล่าวได้โดยไม่มีความผิด ปรากฏว่า แพทยสภากลับเป็นฝ่ายออกมาคัดค้านมาตรการดังกล่าวอย่างแข็งขัน โดยอ้างจรรยาบรรณวิชาชีพ ทำให้กฎหมายที่ออกมาแล้วไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควรจะเป็นมาจนทุกวันนี้
น่าสงสัยว่า การออกมาคัดค้านดังกล่าว เป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ เพราะมีกรรมการแพทยสภาหลายคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมในโรงพยาบาลเอกชน เพราะการยืดความตายในช่วงท้ายของชีวิต ย่อมทำรายได้ และผลกำไรให้แก่โรงพยาบาลเอกชนอย่างเป็นกอบเป็นกำ กรรมการในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นนักธุรกิจใหญ่ เล่าให้ฟังด้วยความขมขื่นว่าว่า ตอนแม่ใกล้จะเสียชีวิต จะขอนำกลับไปบ้าน แต่ทางโรงพยาบาล(เอกชน) ไม่ยอม ต้องหมดไปอีกราว 20 ล้าน
ในสหรัฐอเมริกา หลายปีมาแล้ว มีผลการศึกษาพบว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลกว่าครึ่ง ใช้ไปในช่วงครึ่งปีสุดท้ายของชีวิต ทั้งนี้สหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลที่แพงที่สุดในโลกถึง 17.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ขณะที่ญี่ปุ่นใช้ 9.6% ของจีดีพี และปัจจุบันไทยใช้ 4%
โดยสรุปแล้ว ค่ารักษาพยาบาลที่แพงหรือแพงมหาโหดในโรงพยาบาลเอกชน เกิดจากทั้งเหตุที่สมควรและไม่สมควร เหตุที่ไม่สมควรที่เป็นเหตุใหญ่ เกิดจากการสั่งตรวจรักษา ผ่าตัด และใช้ยาที่เกินจำเป็นและไม่สมควร การคิดกำไรค่ายาแต่ละรายการแพงมาก กลายเป็นเหตุเล็กๆ เท่านั้น ค่ายาที่แพงส่วนใหญ่เกิดจากการสั่งใช้ยามากขนานเกินความจำเป็น และสั่งยาที่มีราคาแพงเพื่อทำกำไรให้มาก ถ้าสั่งใช้ยาเท่าที่จำเป็นและสมควร โดยไม่มุ่งสั่งใช้ยา ราคาแพง จะลดราคาลงได้มาก แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่เกิดขึ้นได้เองในโรงพยาบาลเอกชน
โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย เติบโตและมีอิทธิพลจนกลายเป็น “สัตว์ประหลาด” (monster) อย่างก็อตซิลลาที่ควบคุมไม่ได้ไปแล้ว จะหวังให้กลายเป็นก็อตซิลลาภาคล่าสุด คือ ก็อตซิลลา ที่มีจิตเมตตาต่อมนุษย์ก็คงยาก
ปัญหาเหล่านี้ย่อมไม่เกิดถ้าแพทย์ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่แพทย์ในโรงพยาบาลเหล่านี้จะยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพได้อย่างไร เพราะถ้าทำเช่นนั้น ก็จะถูกผู้บริหารตำหนิ กดดัน และต้องลาออกไปในที่สุด หลายคนจึงจำต้องปรับสภาพจากมนุษย์ “ผู้มีปัญญาอันเลิศ” เป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” (Homo economicus) ไปในที่สุด แพทยสภา ซึ่งควรทำหน้าที่ปกป้องจรรยาบรรณวิชาชีพก็หวังอะไรไม่ได้ เพราะโครงสร้างปัจจุบันของแพทยสภา ทำให้มุ่งปกป้องวิชาชีพ แทนที่จะปกป้องประชาชน ประเทศที่เจริญแล้วอย่างอังกฤษ จึงไม่ยอมให้แพทย์ “ควบคุมกันเอง” อย่างของประเทศไทย แต่กฎหมายอังกฤษกำหนดให้มีภาคประชาชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการแพทยสภาถึงครึ่งหนึ่งแล้ว