"สุรพงษ์"จี้ประณามพม่าปมโรฮิงญา อย่าปล่อยไทยเป็นแพะรับบาป
อดีตนักการทูตคนสำคัญเสนอรัฐบาลแสดงจุดยืนต่อปัญหาชาวโรฮิงญาด้วยการส่งกลับประเทศต้นทางเท่านั้น ห้ามสร้างค่ายพักพิงชั่วคราว จี้ยูเอ็นแสดงบทบาท ดึงเมียนมาร์ร่วมรับผิดชอบ
นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตทูต 5 ประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศ กล่าวว่า จุดยืนของรัฐบาลไทยต่อปัญหาโรฮิงญาที่สำคัญที่สุดคือ ไทยต้องย้ำว่ารากเหง้าของปัญหามาจากนโยบายของรัฐบาลทหารพม่าที่ปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยโดยไม่ใช้แนวทางสันติวิธี แต่เน้นปราบปรามทางทหาร และเป็นการปราบปรามเพื่อให้ชาวโรฮิงญาทิ้งถิ่นฐานบ้านช่อง หลบหนีออกไป แล้วส่งคนพุทธเข้าไปครอบครองแทน
โดยเฉพาะการปราบใหญ่ 2 ครั้งในปี พ.ศ.2521 และ พ.ศ.2544 ทำให้ชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ร่วม 5 แสนคนต้องหนีข้ามแดนไปยังบังคลาเทศ ซึ่งบังคลาเทศเองก็รับไม่ไหว กระทั่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ต้องไปสร้างค่ายพักพิงชั่วคราว แต่เมื่อสถานการณ์ในเมียนมาร์ไม่ได้ดีขึ้น ทำให้มีชาวโรฮิงญาทนสภาพความเป็นอยู่ไม่ไหว ต้องลักลอบออกจากค่ายพักพิง จากการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่บังคลาเทศเอง
ฉะนั้นจุดยืนไทย คือต้องชี้ให้เห็นว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาระหว่างไทยกับโรฮิงญา แต่ต้นตอของปัญหาอยู่ที่ระบบการเมืองการปกครองของเมียนมาร์ที่ไม่เอื้ออาทรกับชนกลุ่มน้อย จึงต้องประณามเมียนมาร์ ไม่ใช่ให้ไทยเป็นแพะรับบาป
อีกประเด็นหนึ่ง คือ ไทยต้องชี้ให้เห็นว่าปัญหาโรฮิงญาเป็นปัญหาระดับโลก ไม่ใช่ปัญหาแค่ในภูมิภาค เพราะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นในยุโรป อิตาลี สเปน ที่ผลักดันคนจากทวีปแอฟริกาที่หนีภัยสงคราม หนีภัยเศรษฐกิจ ไม่ให้ขึ้นฝั่งประเทศของตน จึงเป็นปัญหาที่สหประชาชาติต้องรับผิดชอบและเรียกประชุม โดยต้องมีประเทศจำเลยมา คือ เมียนมาร์ ไม่ใช่มีเฉพาะประเทศโจทก์ จากนั้นก็กดดันให้เมียนมาร์เปลี่ยนนโยบายปราบปรามชนกลุ่มน้อย
"ในบรรดาประเทศทั้งหลายในอาเซียน ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีประสบการณ์มากที่สุดเรื่องคนพลัดถิ่นและผู้อพยพ เราเจอสงครามเวียดนาม สงครามในกัมพูชา เคยรับภาระผู้อพยพหนักหน่วงถึง 4-5 แสนคน จุดยืนของเราคือ อย่าสร้างอะไรที่เป็นปัจจัยดึงดูดให้คนพวกนี้เข้ามาอีก ขณะนี้เราไม่ได้มีแค่โรฮิงญา แต่เรามีแรงงานผิดกฎหมายอีกเป็นล้านคน แม้แต่เกาหลีเหนือยังมีในประเทศไทย"
"จุดยืนอย่างเดียวที่เราต้องยืนยัน คือ ส่งโรฮิงญากลับประเทศต้นทาง ถ้าเรามีค่ายพักพิงชั่วคราว ปัญหาจะไม่จบ 50 ปีที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์กับค่ายพักชั่วคราว คำว่าชั่วคราวไม่เคยชั่วคราว 30 ปีกว่าจะออกไปได้ ฉะนั้นเราต้องไม่สร้างปัจจัยดึงดูด ถ้าเราสร้างค่ายอพยพขั่วคราว โดยหวังว่าบ้านเมืองพม่าสงบแล้วจะส่งกลับไป อันนั้นเราฝันแล้ว"
"ที่นักสิทธิมนุษยชนบางคนบอกว่า ถ้าไทยเปิดศูนย์พักพิง จะได้รับเงินช่วยเหลือจากนานาชาติ ไม่ต้องควักกระเป๋าเองนั้น นั่นเป็นการคิดแบบมักง่าย เอาเงินต่างประเทสมาสร้างศูนย์พักพิง เราเคยมีแล้ว แต่ความสำคัญของเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่เงินช่วยเหลือ แต่มันเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของเรา" อดีตทูต 5 ประเทศ กล่าว
ส่วนที่ชาติตะวันตกและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ไทยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ยอมรับชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนไม่ได้มีไว้ละเมิดกฎหมาย จึงไม่สามารถอ้างได้ เพราะแต่ละประเทศมีกฎหมายของตน เมื่อเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทุกประเทศก็มีสิทธิตามอธิปไตยที่จะผลักดันออก การบอกว่าผลักดันออกเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถือว่าไร้สาระ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการผลักดันมากกว่า ถ้ายิงเรือโรฮิงญาจม หรือส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปทุบตีบนเรือ อย่างนั้นจึงจะถือเป็นการละเมิด
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต / เว็บไซต์โอเคเนชั่น
หมายเหตุ : อดีตทูตสุรพงษ์ ชัยนาม ให้สัมภาษณ์ในรายการเป็นเรื่องเป็นข่าว ทางสถานีโทรทัศน์ พีพีทีวี