‘นักวิจัย’ หนุนสร้างเครือข่ายรักษ์คลองดำเนินสะดวก หลังเผชิญปัญหาเน่าเสีย
สกว.หนุนชาวบ้าน 6 โซนใน 4 จว.ภาคกลาง วิจัยขับเคลื่อนเครือข่าย 'รักษ์น้ำคลองดำเนินสะดวก' หวังยกระดับความรู้ความเข้าใจ ร่วมแก้น้ำเสีย ฟื้นฟูชุมชน คืนสภาพแหล่งท่องเที่ยวเกษตรและวัฒนธรรม
เร็ว ๆ นี้ นายวิวัต รุ่งสาคร ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดเวทีนำเสนอการขับเคลื่อนงานวิจัยน้ำคลองดำเนินสะดวกแบบมีส่วนร่วม ภายใต้โครงการวิจัยท้องถิ่น เรื่อง “การศึกษาปัญหาและรูปแบบการจัดการน้ำและสภาวะแวดล้อมเพื่อความมั่นคงอาหารและเศรษฐกิจชุมชนคลองดำเนินสะดวก” ซึ่งจัดโดยฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยชาวบ้านในพื้นที่ ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลหลักห้า อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยของชาวบ้านในการขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหา การให้ข้อเสนอแนะโครงการวิจัย และระดมแนวทางการแก้ปัญหา โดย สกว. และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับเครือข่ายวิจัยคลองดำเนินสะดวก มี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้ทรงคุณวุฒิ สกว. ร่วมให้ข้อคิดเห็น และ ผศ. ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. เป็นผู้สังเคราะห์และสรุปผลงานวิจัย
งานวิจัยดังกล่าวมีขอบเขตพื้นที่ศึกษาวิจัยในชุมชนที่ใช้คลองดำเนินสะดวกครอบคลุม 4 จังหวัด คือ นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม โดยแบ่งเป็น 6 โซนวิจัย ได้แก่ 1) การจัดการสวนเกษตรเพื่อความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการน้ำเสีย 2) การจัดการคลองเพื่อสร้างนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จ.ราชบุรี 3) การจัดการฟาร์มเกษตรและฟาร์มโคนมเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสีย จ.สมุทรสาคร
4) การจัดการเกษตรที่ยั่งยืนและการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จ.นครปฐม 5) วิจัยชุมชนบริหารจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเกษตรที่เกื้อกูลระบบนิเวศ จ.สมุทรสาคร 6) วิจัยชุมชนกับการจัดการระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จ.สมุทรสงคราม
ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ คือ ขาดการเชื่อมโยงในการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน เพราะการแก้ปัญหาไม่สามารถทำได้เพียงแค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น รวมถึงการขาดงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ที่สำคัญ คือ จิตสำนึกของชาวบ้าน หากยังกวาดบ้านปัดสวะให้พ้นจากหน้าบ้านตัวเองแล้วปล่อยทิ้งลงน้ำ ก็จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว หากยังรักและหวงแหนคลองดำเนินสะดวกอยู่
นอกจากนี้ปัญหาสำคัญคือ การขาดข้อมูลและองค์ความรู้ เช่น เห่อปาจุลินทรีย์ลงน้ำเพื่อแก้น้ำเสียในช่วงน้ำท่วม แต่กลับยิ่งเพิ่มของเสียในน้ำ หรือปล่อยปลาลงในน้ำดี แต่ค่าดีโอในน้ำต่ำมากไม่สามารถปล่อยลงไปได้ ทั้งนี้ชื่นชมคณะวิจัย สกว.ที่ใช้กระบวนการวิจัยในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และวางแผนหาแนวทางแก้ไขให้ถูกจุดโดยใช้ความรู้ ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบเหมาเข่งใช้สูตรเดียวกันหมดทุกพื้นที่อย่างที่ผ่านมา
ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ หัวหน้าชุดโครงการฯ ได้นำเสนอภาพรวมโครงการวิจัยเพื่อสร้างแผ่นดินทองแผ่นดินธรรมคลองดำเนินสะดวก เชื่อว่าแม่น้ำสายหลักทั้งหลายของไทยและอีกหลายแห่งทั่วโลกไม่มีพื้นที่ใดอุดมสมบูรณ์เท่าคลองดำเนินสะดวกแห่งนี้ และยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทุกคนจะต้องรักและหวงแหน
จากการวิเคราะห์วิจัยพบว่า คลองทั้งหลายเชื่อมโยงกันจึงต้องได้รับการดูแลปกป้องและฟื้นฟูไปพร้อม ๆ กัน แต่การแก้ปัญหาน้ำเสียและมลภาวะในชุมชนไม่สามารถแก้ด้วยแรงงานอย่างเดียว ทุกแห่งที่เป็นปัญหาต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาหาข้อมูลความรู้ พูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานศึกษา ศาสนสถาน รวมถึงภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน
สำหรับสาเหตุน้ำเสียนั้นจากการวิจัย หัวหน้าชุดโครงการฯ พบว่าปัญหาเกิดจากขาดการบังคับใช้กฎหมาย ขยะนักท่องเที่ยว ถมคลองทำถนน ชุมชน-ครัวเรือน การเกษตร การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ประตูระบายน้ำ วัชพืช/ผักตบชวา ฟาร์มกุ้ง/ปลา/หมู โรงงานอุตสาหกรรมและโรงงานแปรรูป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกชุมชนจะมีปัญหาร่วมคือ น้ำเสีย แต่ในแต่ละชุมชนก็มีปัญหาเฉพาะที่แตกต่างกัน จึงต้องสร้างเครือข่ายรักษ์น้ำคลองดำเนินสะดวก
ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันและความร่วมมือในการแก้ปัญหาในลักษณะของการเสริมพลังให้เข้มแข็ง และเปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความร่วมมือช่วยกันดูแลทรัพยากรโดยเริ่มต้นการทำงานจากการปูพื้นฐานให้ทุกคนเห็นคุณค่าและความสำคัญของคลองดำเนินสะดวก
“ปัญหาน้ำเสียเป็นปัญหาเล็กน้อย ถ้าเทียบกับเป้าหมายของการทำวิจัยเพื่อชุมชน ซึ่งมุ่งหวังยกระดับความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือ รวมทั้งเชื่อมโยงบ้าน วัด โรงเรียน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นแผ่นดินทอง แหล่งท่องเที่ยวฐานเกษตรและวัฒนธรรมคลองดำเนินสะดวก” ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าวสรุป
ขณะที่ รศ.ศรีศักร กล่าวว่า ต้องสร้างจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของให้แก่ชาวบ้านเพื่อให้รู้สึกรักและหวงแหนคลองดำเนินสะดวก เมื่อเกิดปัญหาต้องมองว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร อำนาจรัฐช่วยได้หรือไม่เพราะบางอย่างมีอำนาจเหนือรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องช่วยกันจัดการ แต่เชื่อว่าอำนาจของชุมชนจะช่วยได้เพราะมีฐานที่เป็นชุมชนสูง แต่ยังอาจไม่เข้าใจฐานอำนาจของตนเองมากนัก จึงต้องสร้างจิตสำนึกร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น เพื่อเปิดช่องให้ชุมชนมีอำนาจจัดการได้ สร้างชุมชนเข้มแข็งจากฐานรากให้มีความรู้เรื่องระบบนิเวศและมีอำนาจต่อรอง โดยใช้ฐานภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมกับฐานข้อมูลของ สกว.ในการแก้ปัญหาให้เป็นเมืองน่าอยู่ .