ประวัติศาสตร์อันตราย+ เปิดตัวเลขปีศาจ เราจะสร้างพลเมืองอาเซียนได้อย่างไร
สิ่งที่คุณเห็น นี่ก็อีกด้านของอาเซียน ไม่ใช่การค้า ไม่ใช่หน้าที่ยิ้มแย้ม ไม่ใช่นักการทูตจับมือไขว้กัน แต่คือข้อเท็จจริงเคลือบอยู่กับอาเซียน หากอยากพูดเรื่องอาเซียน พลเมือง พลเมืองโลก พลเมืองอาเซียน ก็ต้องเห็นพวกนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นคุณก็จะอยู่ในโลกอีกแบบ
เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ทำความเข้าใจ “พลเมือง” ในศตวรรษที่ 21” ในเวทีเสวนาสาธารณะ ครั้งที่ 2 เรื่อง “เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน: พลเมืองโลก พลเมืองอาเซียน” จัดโดยเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Thai Civic Education) ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มต้น ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ได้ทำความเข้าใจ พลเมืองในศตวรรษที่ 21 ว่า พลเมืองทุกวันนี้มีจุดที่ท้าทายเต็มไปหมด โดยยกกรณีชะตากรรมผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา เป็นปัญหาสำคัญที่เวลาเราคิดเรื่องพลเมือง พลเมืองโลก หรือพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่เรื่องที่อยู่แต่ในห้องเรียน แต่เป็นของจริง เห็นอยู่ตรงหน้า และต้องถามว่า มันหมายความว่าอย่างไร ? หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญไทยที่กำลังร่างกันอยู่นี้ คำว่า ทำให้พลเมืองเข้มแข็ง แนวคิดพลเมืองกลายเป็นวาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
คำถามของผมคือว่า มีอะไรซ่อนอยู่ในคำเหล่านี้ “ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดิน,ราษฎร,ประชากร,ประชาชน และพลเมือง”
“ผมคิดว่า ในคำทุกคำมีความสัมพันธ์ทางอำนาจซ่อนอยู่ “ ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดิน” เป็นการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพระราชา “ราษฎร ” ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยในสังคมกับรัฐ “ประชากร ” องค์ประกอบของรัฐ ที่แจงรัฐและแบ่งประเภทได้ “ประชาชน” หน่วยของรัฐที่มีความเสมอกัน และ “พลเมือง” คือพลังของเมือง ทำให้เมืองขยับ ทำให้เมืองเคลื่อนไป”
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ถ้าจะพูดเรื่อง รัฐธรรมนูญ ถ้าจะพูดแนวทางการปกครอง เป็นไปไม่ได้ถ้าคุณไม่เริ่มต้นพูดเรื่องพลเมือง เสียก่อน
“เวลานี้เราร่างรัฐธรรมนูญ แล้วค่อยมาพูดเรื่องพลเมือง”
อริสโตเติล (Aristotle ) นักปราชญ์ ปรัชญาที่มีชื่อเสียง เสนอว่า สิ่งที่แยกพลเมืองออกจากอย่างอื่นทั้งหมดชัดเจน คือ บุคคลที่มีส่วนร่วมในการตัดสิน (เลือก) และการใช้สิทธิอำนาจของตน (Authority) คือมีงาน (เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง) ทางกฎหมาย ทางการเมือง และการบริหาร
“แล้วพลเมืองดีกับคนดี เป็นคนเดียวกันหรือเปล่า หรือในสังคมการเมืองส่วนใหญ่เป็นคนละคน พูดจากปรัชญากรีก แน่นอนเป็นคนละคน ความหมายพลเมืองแปลตามธรรมนูญการปกครอง ก็หมายความว่า การเป็นพลเมืองในรัฐเกาหลีเหนือ อาจเป็นพลเมืองไม่ดีในเยอรมัน”
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ หยิบยกหนังสือชื่อ What Kind Of Citizen? เขียนโดย Joel Westheimer โดยบอกว่า ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ คือ ผู้เขียนพยายามให้ข้อถกเถียง เพื่อคิดเรื่องพลเมือง
“สิ่งสำคัญต้องจินตนาการว่า ตนอยากอยู่ในสังคมการเมืองแบบไหน และจากนั้นก็หาทางให้โรงเรียนทำหน้าที่แปรวิสัยทัศน์นั้นให้กลายเป็นจริง”
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ชี้ว่า เรื่องสำคัญที่สุดของการคิดเรื่องพลเมือง อาจจะคือเรื่องจินตนาการ คิดไปให้เห็นว่า สังคมการเมืองที่ดี ที่อยากอยู่เป็นแบบไหน "หากเราเชื่อพลเมืองคือพลังของเมือง ขับเคลื่อนเมือง หมายความว่า เราต้องคิดให้ออกก่อนเราอยากอยู่ในเมืองแบบไหน จึงพาพลังของเราพาเมืองไปในสิ่งที่เราอยากเห็น”
หนังสือเล่มนี้ พูดเรื่องบทบาทของโรงเรียน ถ้าเป็นอย่างนี้การศึกษาก็ผูกอย่างสนิทกับคอนเซ็ปเรื่องพลเมือง โรงเรียนทำหน้าที่แปรวิสัยทัศน์ ตกลงโรงเรียนต้องโยงเข้ากับพลเมือง และโยงให้น้อยหน่อยกว่ารัฐ
มีความลับอยู่ในประวัติศาสตร์เต็มไปหมด
ส่วนประเด็นเรื่องจินตนาการ ทำไมพลเมืองต้องสนใจจินตนาการ ? นั้น ศ.ดร.ชัยวัฒน์ มีคำตอบให้ 2 อย่าง เพราะประวัติศาสตร์ของพลเมืองมีปัญหา
“วันนี้ปัญหาโรงฮิงจา เป็นหนึ่งในปัญหาเยอะแยะไปหมด ที่น่าสนใจโรฮีนจาเป็นพลเมืองโลกหรือไม่ เรายังห่างไกลพลเมืองโลกหรือเปล่า และทำไมเราแคร์เนปาลมากกว่าโรฮีนจา โจทย์พวกนี้หากเราจะพูดเรื่องพลเมืองโลกจริงๆ พลเมืองต้องสนใจจินตนาการ เพราะประวัติศาสตร์ของพลเมืองมีปัญหา รวมถึงประวัติศาสตร์อาเซียนด้วย
เวลาเราพูดเรื่องอาเซียน และพลเมือง ประชาคาอาเซียน เดิมอาเซียนประสบความสำเร็จในความเป็นความสัมพันธ์ของรัฐ หากเเราอยากเป็นประชาคม (community) (อาจารย์ชัยวัฒน์เห็นว่า คงยาก) หากเราเป็นcommunity จริงๆ ต้องมีองค์ประกอบความเป็น community คือ เราต้องมี Caring หรือ ความใส่ใจ
ประชาคมอาเซียน จะเป็นได้ไม่ได้ ผมว่ามีปัญหาเยอะ เพราะชาติอาเซียนมีปัญหาเรื่องประวัติศาสตร์”
ปัญหาเรื่องประวัติศาสตร์ที่ว่า ศ.ดร.ชัยวัฒน์ โชว์ภาพอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ กรุงเนปี่ดอว์ ประเทศเมียนมาร์ โดย 2 ใน 3 อย่างน้อยเป็นกษัตริย์ที่เคยเอาชนะสยาม ขณะที่ประเทศไทยก็มีตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 5 ภาค รวมมี เกมส์พระนเรศวร เป้าหมายรบเอาชนะเมียนมาร์
"นี่คืออีกด้านหนึ่งมีประวัติศาสตร์ และอีกด้านประวัติศาสตร์ก็มีชีวิตที่นอกเหนือไปจากหนังสือที่สอนๆ กัน ประวัติศาสตร์มีชีวิตในเกมส์ ในหนัง ในวัฒนธรรม รวมถึงอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ที่เวียงจันทน์ วีรกษัตริย์ของลาว และอนุสาวรีย์ย่าโม หากประวัติศาสตร์ ยังเป็นอย่างนี้ เราจะสร้างพลเมืองอาเซียนยังไง เพราะประวัติศาสตร์อันตราย”
จากนั้น ได้ยกคำกล่าวของ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลว่า “ ชีวประวัติของสังคมหรือชาติหนึ่ง มักจะมีสาระสำคัญอยู่ 2-3 อย่างเท่านั้น คือ บอกเล่าความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ถูกเสมอ บอกเล่าเรื่องราวเจ็บปวด ถูกรังแก และปกปิดเรื่องอัปยศที่ทำเลวเอาไว้ ตัวอย่างเช่น แทบทุกประเทศในอาเซียนมีเรื่องราวทำนองนี้ แตกต่างกันในรายละเอียด”
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เห็นว่า ประเด็นคือโลกทั้งโลกก็เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เฉพาะอาเซียน ที่มีความลับอยู่ในประวัติศาสตร์เต็มไปหมด ประวัติศาสตร์จึงอันตรายมากไม่ใช่ความจริงอย่างที่เราคิดเสมอไป เป็นบางเสี้ยวบางส่วนเท่านั้น
“ผมคิดว่า พลังอำนาจของประวัติศาสตร์ ไม่ได้มีอยู่แต่ในงานเขียนทางวิชาการ หรือเหตุการณ์บันทึกไว้ตามลำดับยุคสมัย ตรงข้าม ผมคิดว่าพลังอำนาจของประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับความหมายของอัตวิสัยที่ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ให้กับประวัติศาสตร์ในเวลาที่เขาต้องดิ้นรนต่อสู้ เพื่อพิทักษ์สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเขาซึ่งเป็นปัจจัยช่วยนิยามวิถีชีวิตของพวกเขา
ผมคิดว่าอำนาจของประวัติศาสตร์ ไม่ได้อยู่กับเนื้อหา ตำรา แต่อยู่ในความหมายที่เราให้กับสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราขาด ฉะนั้นความเชื่อความเข้าใจในประวัติศาสตร์มันเคลื่อนได้ หากเราเชื่อว่า พลเมือง คือพลังที่ผลักดันเมือง ประวัติศาสตร์ก็สำคัญ พลเมืองคือพลังของเมือง ประเทศนี้มีประกอบด้วยเมืองเต็มไปหมด เรามีโคราช มีเชียงใหม่ ปัตตานี เพชรบูรณ์ นครศรีธรรมราช ฯลฯ เหล่านี้เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ มีความเป็นอยู่ของมัน มีผู้คน มีพลัง แต่ละเมืองมีประวัติศาสตร์ที่สามารถใช้เป็นปัจจัยเมืองให้ขยับมีชีวิตได้"
ตัวเลขปีศาจในอดีต
พูดถึงอาเซียน ก็มีตัวเลขที่น่ากลัวมาก ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เรียกว่า ตัวเลขปีศาจในอดีต
3,000,000 คนเวียดนามถูกฆ่าในสงครามเวียดนาม
300,000 คนเวียดนามสูญหายในสงครามเวียดนาม
4,400,000คนเวียดนามบาดเจ็บในสงครามเวียดนาม
150,000 คนติมอร์เลสเต้ที่ถูกทหารอินโดนีเซียฆ่า (1975-1999)
500,000 คนอินโดนีเซียถูกทหารอินโดนีเซียฆ่า (1965-1966)
80,000 คนบาหลีถูกทหารอินโดนีเซียฆ่า (1965-1966)
1,600,000 คนเขมรที่ถูกเขมรแดงฆ่า (1975-1978)
700 คน นักเคลื่อนไหวองค์กรเอกชนที่ถูกฆ่าสมัยรัฐบาลอาโรโย
6000+92+?
“สิ่งที่คุณเห็น นี่ก็อีกด้านของอาเซียน ไม่ใช่การค้า ไม่ใช่หน้าที่ยิ้มแย้ม ไม่ใช่นักการทูตจับมือไขว้กัน แต่คือข้อเท็จจริงเคลือบอยู่กับอาเซียน หากอยากพูดเรื่องอาเซียน พลเมือง พลเมืองโลก พลเมืองอาเซียน ก็ต้องเห็นพวกนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นคุณก็จะอยู่ในโลกอีกแบบ”
สำหรับเรื่องการศึกษากับพลเมือง เขาเห็นว่า มีอยู่ 2 แบบ เอาอะไรใส่เข้าไป กับดึงบางอย่างออกมา
“การศึกษาเกี่ยวน้อยมากกับการเอาอะไรใส่เข้าไป เกี่ยวที่สุดเลยกับการดึงบางอย่างออกมา"
นักการศึกษาอาจลืมไปแล้วความหมายของ Education คืออะไร หาก Education คือการดึงบางอย่างออกมา คำถามก็คือ ดึงอะไรออกมาจากคน เพื่อให้เป็นพลเมือง เวลาเรามองคน ถ้าไม่มีจินตนาการ สิ่งที่เราจะเห็น คือ ความเป็นจริง ซึ่งความเป็นจริงบางทีมันบังจินตนาการได้ด้วย”
สุดท้าย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า ความหมายพลเมือง เป็นของโบราณ แต่เป็นกุญแจของความเข้าใจทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21
“ผมเริ่มจากโจทย์โรฮีนจา คำถามที่น่าสนใจหากเราพูดถึงพลเมืองโลก เวลาเราเห็นเพื่อนร่วมโลกได้รับทุกข์เช่นนี้เราคิดอย่างไร มีวิธีอย่างไร ช่วยเชิงสงเคราะห์เฉพาะหน้า แต่ในฐานะนักการศึกษา จะสร้างโลกแบบไหน ในที่สุดทำให้คนรู้สึกว่า ไม่ถูกทอดทิ้ง มีบทบาทในสังคมได้ มีความเข้มแข็ง
สิ่งที่เรากำลังเห็นในวันนี้ คือการเห็นความอ่อนแอของเมือง เราจึงเห็นคนลอยคอมาในทะเล เราจึงเห็นคนผลักไม่ยอมให้เข้ามา
นี่คือโลกที่เราอยากจะอยู่หรือไม่ นี่เรื่องเดียวปัญหาผู้อพยพ ยังไม่นับรวมปัญหาโลกร้อน และอื่นๆ นับร้อยเรื่อง
โจทย์นักการศึกษา วันนี้เราต้องดึงอะไรออกมาคนเพื่อในที่สุดเขากลายเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 และสามารถพาเมืองไปในทิศทางที่ปราถนาได้”