นพ.เจตน์ ชี้กม.ภาษีมรดก ไม่กระทบผู้มีรายได้ปานกลาง-คนจน
นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ชี้ร่างกฎหมายภาษีการรับมรดก เจตนาดีออกมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ถูกสนช.แก้ไขรายละเอียด คาดเก็บภาษีไม่ได้มากและอาจไม่คุ้มกับการที่กรมสรรพากรต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่มาคำนวณภาษี
นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โพสต์ข้อความลงเฟซบุค ถึงร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดกที่ผ่านสภาในวาระ 2 -3 ว่า เป็นร่างกฎหมายที่ใช้เวลาทำลายสถิติการประชุมของสนช.นานสุดถึงร่วม 7 ชม. โดยประเด็นสำคัญ คือ ม.12 จะต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท
นายแพทย์เจตน์ กล่าวถึงมูลค่ามรดก ซึ่งหมายถึงมูลค่าทรัพย์สินที่หักด้วยภาระหนี้สิน และให้มีการพิจารณาทบทวนมูลค่ามรดก (ในตัวเลข 100 ล้านบาทดังกล่าว) ทุก 5 ปี ตามอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภค และกำหนดเป็นมูลค่าใหม่โดยออกเป็นกฤษฎีกา ซึ่งร่างกม.นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
“ภาษีการรับมรดก “ยกเว้น” ให้กับการใช้ทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา การศึกษา สาธารณประโยชน์โดยวัตถุประสงค์ของบุคคลหรือหน่วยงาน หรือองค์กรระหว่างประเทศ ส่วนคำว่า มรดก หมายถึงอสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ เงินฝาก ยานพาหนะ ทรัพย์สินทางการเงินอื่น คู่สมรสของเจ้ามรดกไม่ต้องเสียภาษีตามกม.นี้”
สมาชิก สนช. กล่าวถึงอัตราภาษีที่เสีย คือ ร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดกที่เสีย แต่ถ้าผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน ให้เสียในอัตราร้อยละ 5 โดยให้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับมรดก และให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เมื่อประเมินแล้วให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษีให้ชำระพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถ้ามี ภายใน 30 วัน ผู้ชำระภาษีมีสิทธิได้รับคืนภาษีถ้าชำระเกิน และมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับคืนภาษีภายใน 5 ปี
“ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตาย หากไม่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกแทน ให้ทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายใน 150 วัน ถ้ามีทายาทหลายคนให้ตั้งตัวแทน หากตกลงกันไม่ได้ให้ร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดกดำเนินการต่อไป”
กรณีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลา นายแพทย์เจตน์ กล่าวว่า ให้เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ ถ้ายื่นไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงความจริง ให้เสียเบี้ยปรับเพิ่ม 0.5 เท่า ถ้าไม่ได้เสียภายในกำหนดเวลาให้เสียค่าปรับเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน โทษปรับ 5 แสนบาทสำหรับผู้ที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดยไม่มีเหตุอันควร
ทั้งนี้ ได้มีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายพวงของกฎหมายภาษีการรับมรดก คือ เงินที่ได้รับจากมรดกไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น เงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดานหรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น เงินได้ในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5
“ร่างกฎหมายภาษีการรับมรดก เป็นกฎหมายที่ออกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอันเป็นเจตนาที่ดีของรัฐบาล แต่เมื่อถูกสนช.แก้ไขรายละเอียดแล้วจะทำให้เก็บภาษีไม่ได้มากตามที่ต้องการ อาจไม่คุ้มกับการที่กรมสรรพากรต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่มาคำนวณภาษี”สมาชิก สนช. กล่าว และเชื่อว่าคนรวยที่มีทรัพย์สินมาก มีช่องทางโยกย้ายทรัพย์สินได้มากมายหลายช่องทางอยู่แล้ว สภาเกรงผลกระทบที่จะเกิดกับคนระดับกลาง จึงเพิ่มส่วนเกินเป็น 100 ล้านบาท โดยคู่สมรสได้รับการยกเว้นและมีการแก้ไขส่วนเกินได้ทุก 5 ปี จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อผู้มีรายได้ปานกลางและคนจน เพราะคนที่มีทรัพย์สินเกิน 200 ล้านบาท (กรณีไม่มีบุตร) หรือเกิน 300 ล้านบาท (กรณีมีบุตร 2คน) ล้วนแต่เป็นเศรษฐีทั้งสิ้น
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/Thaiparliamentchannel?fref=ts