หวานพอดีที่ 4 กรัม ลดพุง ลดโรค
กลุ่มเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ขับเคลื่อนลดขนาดซองน้ำตาลและฉลากโภชนาการพร้อมขับเคลื่อนสังคมเพื่อปรับพฤติกรรมในสโลแกน ‘หวานพอดีที่ 4 กรัม’
คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ร่างกายควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน คนไทยนั้นติดอันดับต้นของโลกที่บริโภคน้ำตาลเกิน เพราะวัฒนธรรมการกินอาหารที่มีรสหวาน เช่น ขนมไทยต่าง ๆ หรืออีกนัยความหวานช่วยปกป้องอาหารเหล่านี้ไม่ให้เสียเร็วจากแบคทีเรีย เพราะประเทศไทยเป็นเมืองร้อน
ในระบบอุตสาหกรรมอาหารเกือบ 100% ผลิตอาหารรสชาติหวานเพื่อรองรับลิ้นคนไทย อาทิ กาแฟทรีอินวัน ชาบรรจุขวด นมรสต่าง ๆ เครื่องดื่มน้ำผลไม้ต่าง ๆ อย่าง เครื่องดื่มชาเขียวขนาด 100 กรัม มีน้ำตาลผสมอยู่ถึง 12 ช้อนชา
กลุ่มเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับกรมอนามัย พยายามสร้างความตระหนักรู้เรื่องการบริโภคน้ำตาลของคนไทยในอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมชี้เห็นโทษของการบริโภคน้ำตาลที่จะนำมาซึ่งโรคเบาหวาน อันเกิดภาระต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ
แนวทางหนึ่งที่เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพยายามรณรงค์ คือ การปรับขนาดซองน้ำตาลที่บริโภคเคียงคู่กับกาแฟหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นโครงการเร่งด่วนที่ต้องทำงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างผุ้ประกอบการโรงแรมที่ใช้น้ำตาลซองเสิร์ฟระหว่างจัดประชุมต่าง ๆ ผู้ผลิตขนาดซองน้ำตาล รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภค
ทญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า คนไทยรับประทานน้ำตาลทางเครื่องดื่มโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเมื่อเวลาประชุมตามโรงแรมต่าง ๆ มักจะกินอาหารว่างถึง 2 ครั้ง/วัน และทางโรงแรมมักจะใช้น้ำตาลซองเสิร์ฟพร้อมขนมหวาน ซึ่งปริมาณน้ำตาลในซองจะประกอบด้วย 6 กรัม เท่ากับ 2 ช้อนชา และ 8 กรัม เท่ากับ 2.6 ช้อนชา และส่วนใหญ่วางลงไปถึง 2 ซฮงในกาแฟ 1 ที่
“คนที่ไม่ชอบกินหวาน เทไปครึ่งซองทิ้งเลย เกิดการสูญเปล่า อยากให้ประเทศไทยมีทางเลือก โดยเสนอให้ทำขนาดซองน้ำตาลซองให้เล็กลง” ผจก.เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าว และย้ำว่า ถ้าผู้บริโภคเกิดความเสียดาย เทใส่จนหมดทั้ง 2 ซองเท่ากับกินน้ำตาลถึง 5 ช้อนชา แม้ไม่เกิดอันตรายในทันที แต่ถ้ากินบ่อย ๆ กินเป็นนิสัยก็จะเป็นผลเสียกับร่างกายได้
ประเทศญี่ปุ่นจึงมีทางเลือกในการลดการกินหวานด้วยการปรับปริมาณซองน้ำตาลให้มีขนาดเล็กลง คือ ขนาด 4 กรัม หรือเพียงช้อนชาครึ่ง ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศได้ผลิตน้ำตาลซอง 4 กรัม วางจำหน่ายแล้ว ส่วนธุรกิจโรงแรมมักจ้างบริษัทผลิตน้ำตาลแบบซองมีตราสัญลักษณ์ของโรงแรมอยู่บนซองน้ำตาล
“คนไทยยังไม่รู้ว่าน้ำตาลที่บริโภคในซองนั้นมีขนาดกี่กรัม ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาด 8 กรัม เมื่อดื่มกาแฟหนึ่งแก้วเท่ากับบริโภคน้ำตาลถึง 4 ช้อนชา เกือบครึ่งหนึ่งของโควตาในแต่ละวัน แต่ทุกคนต้องบริโภคอาหารอย่างเช่นข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว ขนมหวานต่าง ๆ รวมถึงผลไม้ ซึ่งอาหารเหล่านี้มีน้ำตาลผสมอยู่แล้ว” ทญ.ปิยะดา บอก
กลุ่มเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ได้ขับเคลื่อนลดขนาดซองน้ำตาลและฉลากโภชาการพร้อมขับเคลื่อนสังคมเพื่อปรับพฤติกรรมในสโลแกน ‘หวานพอดีที่ 4 กรัม’
ทญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทันตสาธารณสุข เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เผยว่า ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่องซองน้ำตาล พบว่า ภาคธุรกิจเริ่มมีแนวโมหันมาผลิตน้ำตาลซองที่มีขนาดเล็กลงจากเดิมขนาด 8 กรัม มาเป็น 6 และ 4 กรัมมากขึ้น พร้อมเห็นด้วยที่จะผลิตน้ำตาลซอลขนาด 4 กรัม สู่สังคม เนื่องจากผู้บริโภคกว่า 90% ยังไม่มีความรู้เรื่องขนาดซองน้ำตาล แต่มักจะมีพฤติกรรมเติมน้ำตาลตามที่จัดมาให้เพียงซองเดียวเสมอ
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่คณะกรรมการขับเคลื่อนเด็กไทยไม่กินหวานได้หารือเบื้องต้นเสนอให้มีการกำหนดสีของซองน้ำตาล โดยอาจแบ่งเป็น 3 สี ได้แก่ ซองสีเขียว เหลือง และแดง ตามปริมาณที่บรรจุ คือ 4 6 และ 8 กรัม ตามลำดับ เพื่อประโยชน์ในกรเลือกซื้อและการรณรงค์สื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจง่ายขณะเดียวกันมีข้อเสนอให้การประชุมของหน่วยงานภาครัฐใช้น้ำตาลซองเล็ก
'ชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์' ประธานกรรมการบริหารโรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น ระบุว่า โรงแรมได้เปลี่ยนการใช้น้ำตาลจากซองขนาด 8 กรัม มาเป็น 5 กรัม เมื่อปีที่ผ่านมา โดยใน 1 ปี ตามนโยบายของโรงแรมที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ ใช้เท่าที่พอดี ซึ่งพบว่า แขกใช้บริการยังทิ้งน้ำตาลในซอง โดยเติมเพียงเล็กน้อย
ใน 1 ปี โรงแรมโฆษะ ต้องใช้น้ำตาลซองถึง 147,300 ซอง ราคาเฉลี่ยของน้ำตาลซอง 8 กรัม อยู่ที่ 50 สตางค์ ขณะที่น้ำตาลซองขนาด 5 กรัม อยู่ที่ 30 สตางค์ ลดการใช้น้ำตาลลงได้ 430 กรัม ทำให้โรงแรมประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำตาลซองลง 3 หมื่นบาท/ปี เงินจำนวนนี้ ทางผู้บริหารโรงแรม บอกว่านำไปมอบเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน 10 ทุน ทุนละ 3 พันบาท
“เราลดขนาดซองน้ำตาล แต่แขกมาใช้บริการของโรงแรมไม่ได้มีเสียงต่อว่าจากแขกที่มาพัก แต่กลับมองว่า ตอนนี้เป็นเทรนด์ของการไม่กินหวานกำลังได้รับความสนใจ ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา คนบริโภคหวานน้อยลง ขณะเดียวกันเรื่องการไม่กินหวาน เรารณรงค์กับพนักงานของเราด้วย เพื่อสุขภาพที่ดี” ชาติชาย บอกเล่า
ความหวานจากน้ำตาลส่งให้สมองหลั่งสารความสุขไม่ต่างจากสิ่งเสพติด เช่น ฝิ่น เฮโรอีน แต่กว่าสมองสั่งให้สารความสุขออกมา ต้องบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มหวานติดต่อกัน ดูเหมือนไม่ร้ายกาจ แต่ความหวานกระจายทั่วสู่ร่างกายนั้น กำลังนำพาโรคเบาหวานเข้าสู่ชีวิต
กลไกของน้ำตาลเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกย่อยที่ลำไส้เล็กเป็นกลูโคส แล้วถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ตับอ่อนหลั่งอินซูลินนำพากลูโคสเข้าสู่เซลล์ เซลล์เผาผลาญเป็นพลังงาน สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อดึงเอาพลังงานไปใช้เลย น้ำตาลส่วนที่เกินจากการใช้งาน จะถูกตับดึงไปเปลี่ยนเป็นไขมัน เมื่อมีไขมันมากเกินไปจะไปสะสมเป็นที่กล้ามเนื้อ และพุง ดังนั้นการกินหวานจึงเป็นสาเหตุของโรคอ้วนลงพุงและเบาหวาน
น้ำตาลคือสารแห่งความสุข แต่เมื่อบริโภคมากเกินไปคือสารตั้งต้นของโรคเรื้อรัง .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ส.โรงแรม ร่วมรณรงค์ลดหวาน ทุกการประชุม ดีเดย์ 2 เดือน พร้อมเสิร์ฟน้ำตาล 4 กรัม/ซอง