สนช.ผ่านกม.ภาษีมรดก ขยายวงเงินเกิน100ล้านต้องจ่าย
เอกฉันท์ มติสภานิติบัญญัติ 145 เสียง เห็นชอบผ่านวาระ2และ3 ให้ร่างพระราชบัญญัติภาษีมรดกประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ เริ่มเก็บที่ 100 ล้านบาทขึ้นไป
22 พฤษภาคม 2558 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านวาระ 2 และวาระ 3 ของร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดกด้วยคะแนน 145 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 160 คน เพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าในส่วนที่ต้องเสียภาษี แต่หากผู้ที่ได้รับมรดกเป็นผู้สืบสันดานจะได้รับมรดกจากบุพการีให้เสียภาษี ในอัตราร้อยละ 5 และกำหนดให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีสามารถผ่อนชำระได้ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ จะกำหนดจัดเก็บตั้งแต่มูลค่ามรดก 100 ล้านบาทขึ้นไป
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และรายจ่ายให้กับคนในสังคมพร้อมทั้งช่วยยกระดับชีวิตประชาชนที่ยากไร้ให้ดีขึ้น โดยอัตราที่จัดเก็บถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว
ด้านพลเอกชนะ เอื้อสถาพร กรรมาธิการ กล่าวว่า การเก็บภาษีนี้จะมิให้กระทบถึงผู้ที่ได้รับมรดกและเห็นว่าผู้ที่มีสมบัติทรัพย์สินเกิน100 ล้านบาทนั้น น่าจะพอสมควรในการดำรงชีวิตได้ แต่หากจัดเก็บในกรอบ 50 ล้านบาทอาจจะกระทบกับผู้ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว หรือผู้ที่มีที่อยู่อาศัยในที่เจริญแล้ว กระทบต่อผู้ประกอบ และหากในกลุ่มผู้ประกอบการพ่อแม่เสียชีวิตการส่งต่อกิจการก็จะขาดรุ่นต่อรุ่น นี่คือเหตุผลที่ขยับวงเงินมาอยู่ที่ 100 ล้านบาท
ขณะที่นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีอะไรที่จะไปปกป้องคุ้มครองเกษตรกร แม้จะมีการขยายวงเงินในการจัดเก็บแล้ว สิ่งที่อยากได้ยินจากกรรมาธิการคือเหตุผลว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะรักษาที่ดินเกษตรกรรมไว้ได้