นักวิชาการเมียนมาร์ ชี้กม.พลเมือง จุดเริ่มต้นดันโรฮีนจา ลอยเคว้งในทะเล
สกว.ชวนนักวิชาการเมียนมาร์ นำเสนอข้อมูลข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัย ยันในประวัติศาสตร์ โรฮีนจา คือคนพื้นเมือง อยู่ในเมียนมาร์เมื่อ1,000 ปีมาแล้ว โดยกลุ่มโรฮีจาเข้ามาก่อน คนยะไข่ กระทั้งปี 1982 โรฮีนจาอพยพมากขึ้น จากนโยบายรัฐออกกฎหมายใหม่ ว่าด้วยสิทธิความเป็นพลเมือง ตัดสิทธิ ไม่ให้มีสถานะเป็นพลเมือง
วันที่ 22 พฤษภาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมเวทีสาธารณะ สกว.เรื่อง “Rohingya:The Forgotten people” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 15 อาคาร SM Tower เขตพญาไท กรุงเทพฯ โดยประเด็นเรื่องโรฮีนจาในประเทศเมียนมาร์และประเทศไทย เป็นหนึ่งในกลุ่มชนที่ สกว.ได้ให้ทุนสนับสนุนเพื่อศึกษาวิจัย เพื่อให้การแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน โดยมีข้อมูลและองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทุกด้าน
นาย Nyi Nyi Kyaw นักวิชาการชาวเมียนมาร์ กล่าวถึงปัญหาของชาวโรฮีนจาในประเทศเมียนมาร์ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ รัฐอารกัน ( Arakan) หรือยะไข่ มีคนอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.โรฮีนจา และ 2.ยะไข่ ซึ่งกลุ่มคนทั้ง 2 กลุ่มเป็นส่วนผสมของชนหลายเผ่าพันธุ์ ในประวัติศาสตร์เข้ามาอยู่ในเมียนมาร์เมื่อประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว โดยกลุ่มโรฮีจาเข้ามาก่อนมาประมาณ 100 ปี ขณะที่ยะไข่ เข้ามาที่หลัง
“โรฮีนจา อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอารกัน ส่วนยะไข่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของรัฐอารกัน โดยโครงสร้างประชากรตั้งแต่อดีต ชาวโรฮีนจามีอยู่ 1 ใน 3 ขณะที่มีงานวิจัยทางตะวันตกบางชิ้นพยายามพิสูจน์ว่า ชาวโรฮีนจา เป็นคนอพยพหรือไม่อพยพ ก็พบว่า เมื่อ 500-600 ปีที่แล้ว โครงสร้างประชากรก็ยังแบ่งเป็น 1:3 ระหว่างชาวโรฮีนจากับคนยะไข่”
นักวิชาการชาวเมียนมาร์ กล่าวอีกว่า งานศึกษาหลายชิ้นจึงพยายามบอกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนเพิ่มขึ้นมาเป็นล้านๆ คน เพียงเพราะคนเหล่านี้อพยพมาทำงานช่วงยุคอังกฤษเข้ามามีอำนาจ รวมทั้งมีงานวิจัยในอดีตพบว่า โรฮีนจา เป็นคนพื้นเมืองของพื้นที่นี้ ขณะที่รัฐบาลพม่า ก็มีการยอมรับคนกลุ่มนี้เป็นคนพื้นเมืองของเมียนมาร์มาโดยตลอด พร้อมกันนี้ยังมีเอกสารมากมายทางทหาร มีรายการโทรทัศน์ วิทยุ ที่ใช้ภาษาโรฮีนจาด้วยเช่นเดียวกัน
นาย Nyi Nyi Kyaw กล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับกฎหมายพลเมืองที่มีต่อชนกลุ่มนี้ และสถานการณ์ไหลออกของชาวโรฮีนจาจากประเทศเมียนมาร์ ว่า นโยบายของรัฐใน ปี ค.ศ.1982 รัฐบาลเมียนมาร์ได้ออกกฎหมายใหม่ ว่าด้วยสิทธิความเป็นพลเมือง กฎหมายได้แบ่งความเป็นพลเมืองออกเป็น 4 ชั้น ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่กลุ่มโรฮีนจาถูกดึงออก ไม่ให้มีสถานะเป็นพลเมืองเมียนมาร์ ทำให้ขาดสิทธิต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องการศึกษา สวัสดิการทางสังคม การที่โรฮีนจา ไม่มีสถานะเป็นพลเมืองเมียนมาร์ และแม้โรฮีจาจะเคยถือ บัตรขาว (White cards to Rohingya) ก็ตาม แต่มีวันหมดอายุตั้งแต่เดือนมีนาคม 2015 ถึงปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาร์ยังไม่ได้ออกบัตรใหม่มาทดแทนทำให้โรฮีนจาไปประเทศไหน ไม่มีสถานะว่า เป็นคนของประเทศไหน
“นโยบายรัฐ โดยเฉพาะกฎหมายความเป็นพลเมืองนี้เอง ทำให้เกิดการอพยพของชาวโรฮีนจาอยู่ถึง 3 ช่วง คือ ช่วงแรกระหว่างปี 1978-1979 ช่วงสอง 1991-1992 และล่าสุด ช่วงสาม ปี 2012- ปัจจุบัน การอพยพของชาวโรฮีนจา ช่วงสาม ถูกเปลี่ยนจากความขัดแย้งเชิงเผ่าพันธุ์ บวกเข้ากับเรื่องศาสนาทำให้อาการรุนแรงขึ้น วันนี้คาดว่าประชากรโรฮีนจาในเมียนมาร์ที่เหลืออยู่ 1 ล้านกว่าคนนั้น 15 % อยู่ในค่ายกักกัน อีก 2 แสนคนอยู่บริเวณชายแดน และบังคลาเทศ และประมาณ 3-5 แสนคนอยู่ที่ซาอุดิอาระเบีย”
สำหรับการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจา นักวิชาการชาวเมียนมาร์ กล่าวว่า ในมุมมองระหว่างประเทศ ควรพิจารณาความอาญา แนวทางการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และควรเปลี่ยนมุมมองต่อคนไร้สัญชาติ ให้นอกเหนือจากบริบททางกฎหมายเท่านั้น รวมถึงตระหนักเรื่องมนุษย์เรือ และการค้ามนุษย์ เป็นความมั่นคงของภูมิภาคนี้ ในส่วนของเมียนมาร์เองนั้น ก็ไม่ควรลังเลและเร่งที่จะจัดการสถานะความเป็นพลเมืองของชาวโรฮีนจา
เอกสารประกอบ: กรณีศึกษาโรฮีนจาในเมียนมาร์และในประเทศไทย