โมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย...ภาคเอกชนหรือภาครัฐควรเป็นแกนหลัก?
Highlight
การกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ การพัฒนาออนไลน์คอนเท็นต์ หรือการทำธุรกิจออนไลน์ เช่น อีคอมเมอร์ซ เพื่อสอดรับกับนโยบาย Digital Economy ของไทยนั้นสามารถมองตัวอย่างจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างเกาหลีใต้ที่ใช้โมเดลให้ภาคเอกชนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นแกนกลางหลักในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความได้เปรียบจากการพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ประชาชน หรือ มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางไอซีทีสูงกว่าไทยไม่มากนักได้เลือกใช้โมเดลที่มีภาครัฐเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบดิจิทัลพร้อมทั้งมีหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามเป้าหมายของนโยบาย ทั้งนี้ ไทยอาจเลือกใช้โมเดลใดโมเดลหนึ่งหรือประยุกต์นำทั้งสองโมเดลมาผสมผสานกันตามความพร้อมของอุตสาหกรรมไอซีทีไทย
การวางรากฐานการศึกษาควบคู่ไปกับการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับประชาชนถือเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญของนโยบาย Digital Economy เพราะเป็นการสร้างอุปสงค์และกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมา ในขณะเดียวกัน หากประเทศสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานวิชาชีพด้านเทคโนโลยีได้จะส่งผลให้การพัฒนาสู่ Digital Economy ทำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันให้การสนับสนุนด้านการศึกษาต่อทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศรวมถึงสร้างแรงจูงใจด้านรายได้เพื่อสร้าง ดึงดูดและรักษาแรงงานในด้านไอซีที
การกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy ในต่างประเทศพบว่ามี 2 โมเดลหลักได้แก่
โมเดลที่มีภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อน และโมเดลที่มีภาครัฐเป็นแกนนำ ในการพัฒนาเข้าสู่ Digital Economy นั้น ไทยอาจมองตัวอย่างจากต่างประเทศในการดำเนินนโยบายโดยใช้ 2 โมเดลหลัก ได้แก่ โมเดลที่มีภาคเอกชนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างเช่น ธุรกิจโทรคมนาคม หรือ อีคอมเมอร์ซ เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายประเทศอย่างสหรัฐฯ เยอรมนี และเกาหลีใต้ ได้ประสบความสำเร็จในการใช้โมเดลนี้ หรือโมเดลที่มีภาครัฐเป็นแกนหลักในการผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเช่น มาเลเซียและออสเตรเลีย ซึ่งการพัฒนา Digital Economy ในประเทศเติบโตรวดเร็วเช่นกัน สำหรับไทย ในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการวางรากฐานเชิงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและโครงสร้างทางกฎระเบียบในการกำกับดูแลการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ในที่สุดแล้วภาครัฐจะต้องเลือกโมเดลในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นบนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรากฐานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาออนไลน์คอนเท็นต์และธุรกิจออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสู่ Digital Economy อย่างแท้จริง
เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Digital Economy โดยยึดโมเดลที่มีภาคเอกชนเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนเนื่องจากตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างแท้จริง
เกาหลีใต้พัฒนา Digital Economy ได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากภาคเอกชนสามารถกระตุ้นผู้บริโภคให้ใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ โดยภาคธุรกิจได้คว้าโอกาสจากที่ภาครัฐให้การสนับสนุนการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานในหลักสูตรตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อพัฒนาตลาดซอฟท์แวร์และเกมออนไลน์ให้เติบโตกลายเป็นเทรนด์ของประเทศ และเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปี 1999-2006 จนกระทั่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมได้พัฒนามาเน้นการสร้างออนไลน์คอนเทนต์ซึ่งทำให้การบริโภคข้อมูลมีปริมาณสูงจนผู้ให้บริการต้องวางแผนสร้างเทคโนโลยี 5G ภายในปี 2020 เพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภค
นอกจากนี้โมเดลที่มีภาคเอกชนเป็นแกนหลักยังทำให้สามารถปรับตัวได้ฉับไวเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เช่น จากเดิมที่ธุรกิจมีความพยายามสร้างตลาดอุปกรณ์บรอดแบรนด์แบบไร้สาย (wireless broadband) สำหรับการใช้งานโทรศัพท์มือถือแต่เมื่อเทรนด์การใช้ 4G LTE ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากกว่าก็สามารถยกเลิกโปรเจ็กต์เดิมได้ทันที จะเห็นได้ว่าการสร้าง Digital Economy โดยการให้ภาคเอกชนเป็นแกนขับเคลื่อนหลักจะทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตรงใจผู้บริโภคเพราะการตัดสินใจลงทุนในแต่ละครั้งของภาคธุรกิจจะคำนึงถึงแนวโน้มการใช้งานของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตามโมเดลที่มีภาคเอกชนเป็นแกนนำหลักอย่างในเกาหลีใต้อาจมีข้อจำกัดในการพัฒนา Digital Economy ให้เกิดขึ้นได้เร็วตามเป้าหมายที่รัฐวางนโยบายไว้ ซึ่งภาครัฐอาจต้องยื่นมือเข้าช่วยกระตุ้นการลงทุน เนื่องจากการลงทุนของภาคเอกชนแต่ละโครงการย่อมต้องมองที่ผลตอบแทนเป็นหลักซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของตลาดผู้บริโภคในการตอบรับกับนวัตกรรมใหม่ๆ กำลังการบริโภคของตลาด หรืออุปกรณ์เครื่องรับและโครงข่ายของประเทศ เป็นต้น ปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวจึงเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งอาจจะทำให้การพัฒนา Digital Economy โดยมีภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนนั้นใช้เวลานานแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา Digital Economy ภาครัฐของเกาหลีใต้ได้สร้างแรงจูงใจให้แก่ภาคเอกชนโดยการออกนโยบายส่งเสริมด้านอุปทาน เช่น การลดภาษี หรือ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Digital Economy เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน ก็มีแนวทางการพัฒนา Digital Economy ด้วยโมเดลที่มีภาครัฐเป็นแกนนำหลักอย่างในมาเลเซีย โดยโมเดลนี้ก็มีข้อได้เปรียบและข้อจำกัดเช่นกัน มาเลเซียเริ่มดำเนินนโยบาย Digital Economy ภายใต้ชื่อโครงการ Digital Malaysia โดยรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ดำเนินการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด อาทิ การสร้างบริการ e-Wallet บนเทคโนโลยี NFC (Near-field communication) หรือ การพัฒนาระบบ e-Payment ที่เป็นปัจจัยเร่งการใช้งานเทคโนโลยี เป็นต้น โมเดลที่มีภาครัฐเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนเช่นนี้สามารถทำให้การพัฒนา Digital Economy เกิดขึ้นได้อย่างตรงเป้าหมายและเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมในทุกๆ มิติตามที่วางนโยบายไว้ อย่างไรก็ดี โมเดลนี้อาจประสบปัญหาความไม่ต่อเนื่องของนโยบายในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล หรือบริการที่เกิดขึ้นใหม่อาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน หรือไม่สอดรับกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีวัฏจักรสั้นลง
โมเดลที่มีภาคเอกชนเป็นแกนหลักอาจจะเหมาะสมกับสภาวะของอุตสาหกรรมไอซีทีไทยที่มีการพัฒนาการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ภาครัฐอาจต้องเข้ามาดูแลในมิติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจให้ผลตอบแทนต่ำ ที่ผ่านมาแม้ Digital Economy ยังไม่ได้รับการพัฒนาเต็มที่ในไทย แต่การรับนวัตกรรมใหม่ๆ ของผู้บริโภคนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วผ่านแรงขับเคลื่อนของภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยสังเกตได้จากอัตราการเติบโตของการใช้งานข้อมูล ธุรกรรมผ่านอีคอมเมอร์ซ และการแพร่หลายอย่างรวดเร็วของโซเชียลเน็ตเวอร์คในไทย ซึ่งในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ โมเดลที่มีภาคเอกชนเป็นแกนหลักจะสามารถกระตุ้นกิจกรรมบน Digital Economy ได้ตรงจุด รวดเร็ว และตอบโจทย์ผู้บริโภคมากกว่า อย่างไรก็ดี กิจกรรมที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนต่ำอาจไมได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจ ซึ่งภาครัฐอาจต้องยื่นมือเข้ามาลงทุน อาทิ ในมาเลเซียภาครัฐได้มีการพัฒนาระบบจัดเก็บและจัดส่งสินค้าครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการอีคอมเมอร์ซรายย่อยให้ครอบคลุมหัวเมืองหลักของประเทศและมีจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสินค้าข้ามประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงและอาจมีผลตอบแทนต่ำ เป็นต้น
Implication
ไม่ว่าภาครัฐจะเลือกใช้โมเดลใดในการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบน Digital Economy ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ตัวอย่างของสินค้าและบริการที่จะเกิดขึ้นใน Digital Economy อาทิ บริการชำระเงินออนไลน์สำหรับธุรกิจขนาดย่อม ซอฟท์แวร์ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นผ่านการใช้บริการคลาวด์ในราคาที่ถูกลง และเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ที่ช่วยเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน เป็นต้น โดยสินค้าและบริการเหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แปลกใหม่เพิ่มขึ้นหรือลดต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันในตลาดได้
ต้องไม่ลืมปัญหาด้านทรัพยากรบุคคล ด้วยการวางรากฐานความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตั้งแต่ระดับพื้นฐานถึงระดับวิชาชีพให้กับประชาชน การสร้างความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตระดับพื้นฐานให้กับประชาชนเป็นการสร้างอุปสงค์ให้กับผู้ให้บริการออนไลน์ และกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมา ตัวอย่างเช่นในมาเลเซียมีการจัดอบรมประชากรที่มีรายได้ต่ำให้สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์เบื้องต้นและสามารถรับงานกรอกข้อมูลได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานวิชาชีพด้านเทคโนโลยี ส่วนหนึ่งเกิดจากเทรนด์ความสนใจศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมและคอมพิวเตอร์ที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคเอกชนจึงควรร่วมมือกันสนับสนุนการศึกษาต่อทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศรวมถึงสร้างแรงจูงใจทางรายได้ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อสร้าง ดึงดูดและรักษาบุคลากรในสาขาไอซีที
Digital Economy จะก่อให้เกิดการสร้างข้อมูลในปริมาณสูงจากผู้ใช้งาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการป้องกันอันตรายในโลกออนไลน์ (cyber security) ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ปัจจุบันการสร้างข้อมูลใหม่ๆ บนโลกออนไลน์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกโดยเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 40% ต่อปี โดยมีแรงผลักดันจากกิจกรรมบน Digital Economy เป็นสำคัญ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ย่อมรวมถึงข้อมูลส่วนตัวที่มีความเสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมทั้งสิ้น ภาครัฐจึงควรเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญและเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ และร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมในการสร้างมาตรการป้องกันการเจาะข้อมูล เช่น การเข้ารหัสข้อมูล หรือ การป้องกันระดับโครงข่าย เป็นต้น
ในภาพรวมแล้วดัชนีความพร้อมโครงข่าย (Networked Readiness Index) ของไทยยังด้อยกว่ามาเลเซียและเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี ระดับการพัฒนาของไทยในด้าน “โครงสร้างพื้นฐาน” ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสร้าง Digital Economy นั้นเทียบเท่ากับมาเลเซีย
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ World Economic Forum
แม้อัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยยังต่ำกว่ามาเลเซียและเกาหลีใต้มาก แต่อัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือระบบ 3G/4G ของไทยเติบโตเร็วและจะเป็นช่องทางสำคัญในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบ Digital Economy
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ BMI Research
ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ของไทยเติบโตได้รวดเร็วแต่ยังมีขนาดเล็กอยู่เมื่อเทียบกับมาเลเซียและเกาหลีใต้ ในขณะที่การใช้งานโซเชียลมีเดียของไทยเติบโตรวดเร็วมากและมีอัตราการใช้โซเชียลมีเดียสูงถึงเกือบครึ่งหนึ่งของประชากร
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Euromonitor และ We Are Social
ข้อมูลและภาพประกอบจาก scbeic.com