นพ.ประกิต ฉะบริษัทบุหรี่ทั้งบล็อกทั้งสกัด กม.ยาสูบฉบับใหม่ไม่ให้เกิด
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เผยสิงห์อมควันไทยตายกว่าปีละ 5 หมื่นคน วอนประชาชนร่วมสนับสนุนพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ให้มีการบังคับใช้ หวังเยาวชนหลุดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อ
20 พฤษภาคม 2558 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดเสวนาเรื่อง “บริษัทบุหรี่ทำอะไรเพื่อให้เด็กติดบุหรี่มากขึ้น” ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และที่ปรึกษาสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงคนที่เสียชีวิตเพราะการสูบบุหรี่ทั่วโลกแต่ละปีมีทั้งหมด 5.4 ล้านคนต่อปี ส่วนประเทศไทยมีผู้ป่วยและเสียชีวิตปีละ 50,000 คน และจากข้อมูลปี 2557 ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า มีเยาวชนนักสูบหน้าใหม่ปีละ 100,000 คน จำนวนผู้สูบบุหรี่ยังมีถึง 11.5 ล้านคน และชายไทยยังสูบบุหรี่ถึง ร้อยละ 40
"บริษัทบุหรี่ได้ใช้กลยุทธ์หลากหลายรูปแบบเพื่อหลอกล่อให้เยาวชนหลงกล ตกเป็นเหยื่อและลูกค้ารายใหม่ อาทิ เช่น การขายบุหรี่แบบรายมวน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ ติดบุหรี่ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่บริษัทบุหรี่ทำให้เด็กและเยาวชนติดบุหรี่ง่ายขึ้น ด้วยการเติมสารต่างๆเข้าไป แล้วนำนิโคตินมาสกัดให้ออกมาเป็นของเหลว เพิ่มน้ำตาลเข้าไปเพื่อจะทำให้สูบง่ายขึ้นไม่ระคายเคืองคอ เติมแมนทอลเพื่อเพิ่มความเย็นสบาย สดชื่น เติมกรดเข้าไปช่วยขยายหลอดลม เติมแอมโมเนีย เพื่อทำให้นิโคตินละลายออกจากใบยาเร็วขึ้น และช่วยให้นิโคตินวิ่งไปถึงสมองได้เร็วยิ่งขึ้น"
ศ.นพ.ประกิต กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เติมลงไปทั้งหมดทำให้เกิดโรคมะเร็งเร็วขึ้น ซึ่งสังเกตได้ว่าที่ก้นของบุหรี่จะมีรูเล็กๆ ที่ซ่อนนิโคตินไว้ เมื่อนำบุหรี่ไปเข้าเครื่องหานิโคติน เครื่องจะตรวจพบนิโคตินน้อยลง บุหรี่ปัจจุบันจึงอันตรายกว่าบุหรี่เมื่อ 50 ปีที่แล้วมาก นอกจากนี้ยังทำให้คนสูบติดบุหรี่ได้เร็วกว่า เป็นมะเร็งง่ายขึ้น
"การเพิ่มรสชาติ อีกกว่า 100 ชนิด หนึ่งในนั้น คือ สารปรุงแต่งโกโก้ ซึ่งเป็นตัวมะเร็งชนิดดี ทำให้ติดรุนแรงและเลิกยาก ซึ่งจะทำให้ 140,000 คน เลิกบุหรี่ไม่ได้ไปตลอดชีวิต"
ทั้งนี้ มีข้อมูลสำรวจในปี พ.ศ.2554 พบว่า คนไทยที่ยากจนที่สุดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 2,189 บาท เสียเงินซื้อบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน 548 บาทเดือน และคนไทยฐานะยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 6,279 บาท เสี่ยเงินซื้อบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน 507 บาทต่อเดือน ขณะที่เด็กอายุ 15-18 ปี จำนวน 4 แสนคน เสียเงินค่าซื้อบุหรี่ 383 บาทต่อเดือน
การเสียเงินที่มีน้อยอยู่แล้วแต่กลับเสียไปกับการซื้อบุหรี่อีก ทำให้ครอบครัวไม่มีเงินใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นอื่นๆ นำมาซึ่งปัญหาสังคมเพิ่มขึ้นมากมาย และเมื่อผู้สูบบุหรี่ที่ยากจนเหล่านี้ ซึ่งเป็นเพศชายเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลา ก็ยิ่งทำให้ครอบครัวยากลำบากยิ่งขึ้น
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวอีกว่า การควบคุมยาสูบจึงเป็นการแก้ปัญหาความยากจนด้วย สำหรับข้อมูลปี พ.ศ.2557 พบว่า ประชาชนกลุ่มที่ยากจนที่สุดและที่ยากจนมี 3.1 ล้านคนที่สูบบุหรี่ และเงินซื้อบุหรี่ไป 7,674 ล้านบาทต่อปี และโรงงานผลิตยาสูบในประเทศไทยมีกำไรถึง 6,000 ล้านบาทต่อปี
ศ.นพ.ประกิต กล่าวถึงพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ว่า ได้ยกร่างขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่ได้บังคับใช้จริงๆเสียที เพราะบริษัทบุหรี่เข้าบล็อกทุกอย่างเอาไว้ และเบรคทุกขั้นตอนเพื่อไม่ให้กฏหมายฉบับนี้ได้บังคับใช้ ตอนนี้เวลาผ่านไปครึ่งปี ยังนำเข้า ครม.ไม่ได้
"เราต้องการให้ประชาชนทุกช่วยกันสนันสนุนเพื่อกฏหมายได้บังคับใช้ เพื่อเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่อบริษัทที่ไม่เคยเห็นชีวิตใครสำคัญนอกจากผลกำไร"
ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บริษัทบุหรี่เน้นตรงๆ เลยว่า จะต้องทำให้บุหรี่ เข้าถึง ติดง่าย ฝังลึก คือจะติดไปถึงลูกถึงหลาน ทั้งในรูปแบบของรสชาติต้องฝังถึงแกนสมอง มีระบบการค้าออนไลน์ ขายปลีกรายมวน และพุ่งเป้าหมายไปยังผู้สูบที่เป็นวัยรุ่น
"สำหรับผู้หญิงที่สูบบุหรี่เมื่อตั้งครรภ์และเลิกบุหรี่ไม่ได้ จะมีผลกระทบมากกับเด็กในท้อง เพราะเมื่อแม่สูบบุหรี่เข้าไปควันจะเข้าปอด ลูกในท้องก็รับเอาควันนั้นเข้าไปด้วย"
รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวด้วยว่า บุหรี่จะมีสารเคมีตัวหนึ่งชื่อ DOPAMINE (DA) ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้คนสูบบุหรี่อยากสูบ เมื่อไม่ได้สูบจะรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี จึงอยากเติมนิโคตินเข้าร่างกาย บริษัทบุหรี่ฉลาดมากในเรื่องกลยุทธด้านตลาด และกลยุทธ์การผลิตจนทำให้เกิดการเสพติดอย่างยั่งยืน โดยใช้วิศวกรรมขั้นสูงผลิตบุหรี่และระมัดระวังในการออกแบบเพื่อให้สินค้ามีความเย้ายวน รวมถึงได้ลงทุนจำนวนมหาศาลในการวิจัยและออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้แน่ใจว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ โดยใช้ความดีเล็กๆ ลบความชั่วของบริษัท
ขณะที่นายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย กล่าวว่า หมออนามัยทั่วประเทศมีประมาณ 50,000 คน มีหน้าที่ดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ โรคอัมพาต โรคปอดเรื้อรัง และโรคเบาหวาน ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยเหล่านี้มีการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุร่วม จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญว่าประเทศว่าจะสามารถทำงานและขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคยาสสูบระดับจังหวัด สร้างให้เกิดกระบวนการ การมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อลดจำนวนคนไทยที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่เกิดจากการสูบบุหรี่
"อยากให้ประชาชนชาวไทยร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ โดยขณะนี่มีรายชื่อที่ร่วมลงชื่อแล้ว จำนวน 9 แสนกว่าคน และหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายในวันที่ 31 พฤษภาคม นี้"