อุดช่องโหว่ไม่ทั่วถึง! ภาคประชาสังคมเเนะรัฐจ่ายเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า
ผู้เชี่ยวชาญยูนิเซฟชี้ไทยมีสภาพเศรษฐกิจสังคมเหมาะสม แนะรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า ป้องกันเด็กยากจนตกหล่น ‘สุนี ไชยรส’ ชวนภาคประชาสังคมจับตา ร่วมตรวจสอบ ประเมินผล
วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) องค์การยูนิเซฟ คณะทำงานวาระทางสังคม คณะทำงานด้านเด็ก และเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดเสวนา ‘เงินอุดหนุนเลี้ยงเด็กเล็ก สวัสดิการพื้นฐานเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์’ ณ อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยปัจจุบันรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กให้สำหรับเด็กแรกเกิดในครอบครัวยากจน และเกิดระหว่างเดือนตุลาคม 2558- กันยายน 2559 เดือนละ 400 บาท/คน เป็นเวลา 1 ปี อย่างไรก็ตาม คปก.และองค์กรร่วมจัดเห็นว่า อนาคตรัฐบาลควรจัดให้มีเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้าวัย 0-6 ปี คนละ 600 บาท/เดือน เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเข้าถึงเด็กยากจนทุกคน
ศาสตราจารย์ Michael Samson ผอ.วิจัยสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ ประเทศแอฟริกาใต้ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็ก องค์การยูนิเซฟ เปิดเผยถึงการระบุความยากจนของโครงการมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นคำนวณจากฐานรายได้ การรับรองรายได้ หรือกำหนดพื้นที่ อย่างไรก็ตาม วิธีดีที่สุด คือ การให้เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้าแทนการจำกัดเฉพาะครอบครัวยากจน เพราะเด็กยากจนทุกคนจะมีสิทธิได้รับอย่างทั่วถึงและตกหล่นน้อยที่สุด
ทั้งนี้ จากการศึกษาในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อกว่า 10 ปีก่อน พบรัฐบาลมีความผิดพลาดจากความพยายามหากลุ่มคนยากจนที่สุด เนื่องจากโครงการเกี่ยวข้องกับระบบราชการหรือการรับรองต่าง ๆ ที่มีข้อจำกัด สุดท้ายทำให้คนเหล่านั้นตกหล่นจากเงินอุดหนุนของประเทศ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียใช้เวลารวบรวมข้อมูลคนยากจนนาน 5 ปี และเสียค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบดังกล่าวจำนวนใกล้เคียงกับค่าจ่ายเงินอุดหนุน
“การระบุความยากจนต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเกี่ยวกับค่าบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อยืนยันข้อมูลคนยากจน” ผู้เชี่ยวชาญ องค์การยูนิเซฟ กล่าว และว่าบางคนพยายามให้มีฐานะยากจนต่อไป ไม่รู้จักขวนขวาย เพื่อหวังได้รับเงินอุดหนุนต่อ
ศาสตราจารย์ Michael กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยได้อนุมัติโครงการที่มีขอบจำกัดเฉพาะคนยากจน โดยนำไปสู่หลักความถ้วนหน้าได้ อาจเลือกระบุความยากจนอย่างง่าย ไม่สลับซับซ้อน ยกตัวอย่าง กำหนดพื้นที่ยากจน ตรวจสอบทรัพย์สิน ทั้งนี้ ต้องมีกระบวนการติดตามและประเมินผลด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจและสังคมเหมาะสมอย่างไทยสามารถผลักดันไปสู่การให้เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้าได้
ด้านนางสุนี ไชยรส รองประธาน คปก. กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สรุปเส้นความยากจนตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยมีรายได้ไม่เกิน 2,974 บาท/เดือน โดยทุกวันนี้ยังไม่มีคำตอบว่า เด็กคนไหนอยู่ในกลุ่มเป้าหมายโครงการ เพราะแต่ละคนมีรายได้แตกต่างกัน บางคนไม่อยู่ในระบบภาษี และกังวลเรื่องการรับรองความยากจน ด้วยคนจนจำนวนมากไม่ค่อยเข้าสังคม จึงยากจะหาคนรับรองให้ได้ เลยกังวลจะย้อนยุคไปสู่การตกหล่นของเด็กจำนวนมาก
ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอ 2 ระยะ รองประธาน คปก. ระบุว่า ระยะสั้น ในเดือนตุลาคม 2558 รัฐบาลจะเริ่มจ่ายเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กให้สำหรับเด็กแรกเกิดเป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้นอีก 2-3 เดือนหลังจากนี้ จะเริ่มจัดทำฐานข้อมูลเด็กยากจนแต่ละพื้นที่ ในฐานะภาคประชาสังคมจะต้องช่วยตรวจสอบ เพื่อประเมินโครงการและแก้ไขผลักดันต่อ ทั้งนี้ การเก็บข้อมูลภาครัฐจะเกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แม้รัฐบาลจะยืนยันก่อนหน้านี้ว่าไม่มากก็ตาม
ส่วนระยะยาว คณะทำงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดประชุมพูดคุยกันต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนข้อมูล แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และนำไปสู่การตั้งมติต่อไปในอนาคตควรทำอย่างไร เพราะไม่อยากปล่อยให้เหมือนประเทศแอฟริกาใต้ใช้เวลานาน 16 ปี ยังไม่สำเร็จ ในการก้าวไปสู่จ่ายเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ทดลอง 1 ปี รัฐบาลทุ่ม 600 ล้าน อุดหนุนเงินเด็กแรกเกิด