ป.ป.ช.ชงครม.3ปมป้องโกง!จัดซื้อจัดจ้าง-ซัดนักการเมืองพัวพันใช้กม.แก้ยาก
“…ปัญหาการทุจริตเชิงนโยบาย อันเป็นกรณีที่หน่วยงานกำหนดนโยบายที่ไม่สุจริตตั้งแต่ก่อนจะมีการเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งส่วนมากเป็นกรณีที่นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเข้ามาพัวพันและเกิดกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) ทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยใช้กฎหมายเป็นสิ่งที่ยาก…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการเพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรีมติรับทราบแล้ว
----
1.ข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการเพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต
-ข้อเสนอในทางบริหาร
ป.ป.ช. พิจารณาแล้วจึงขอประสานความร่วมมือกับรัฐบาล ให้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตของแต่ละส่วนราชการนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง “การบูรณาการป้องกันทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ที่ ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนแล้ว ไปเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจสำคัญของศูนย์ดังกล่าวที่ได้จัดตั้งขึ้นในแต่ละส่วนราชการด้วย
-ข้อเสนอแนะในทางกฎหมาย
ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้ข้อกำหนดในข้อเสนอแนะเรื่อง “การบูรณาการป้องกันทุจริตของโครงการภาครัฐฯ” มีผลและสภาพบังคับทางกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม จึงเห็นควรนำหลักการในข้อเสนอแนะดังกล่าว เป็นข้อกำหนดส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
2.มาตรการป้องกันการทุจริตจากการใช้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction)
ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้กรมบัญชีกลางจะมีหนังสือด่วน แจ้งเวียนให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐ ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาประเภทสินค้าและบริการหรืองานโครงการ ที่ไม่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 โดยได้ปรับปรุงหลักการในส่วนของการพิจารณาสินค้าและบริการ หรืองานโครงการ ซึ่งเป็นสินค้าและบริการที่มีความซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะ เมื่อดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วอาจไม่ได้ผลดี ได้สินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพแล้วก็ตาม
แต่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานก่อสร้าง แทบจะไม่เคยปรากฏว่าการจัดจ้างงานก่อสร้างใด มีลักษณะงานที่ยุ่งยากซับซ้อน จนไม่อาจดำเนินการจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้แต่อย่างใด ด้วยอ้างเหตุผลว่างานก่อสร้างของทางราชการแทบทุกประเภทจะมีรูปแบบของการก่อสร้างที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งผู้เข้าร่วมเสนอราคาสามารถเข้าใจในรูปแบบของการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี ทั้งที่ในความเป็นจริงงานก่อสร้างนั้น ๆ แต่ละประเภทมีความซับซ้อนและมีเทคนิคเฉพาะ จนบางครั้งเป็นผลให้ไม่มีผู้เข้ายื่นเสนอราคา หรือยื่นเสนอราคาแล้วแต่ขาดหรือไม่ตรงตามคุณสมบัติ จนทำให้ต้องขอยกเลิกการจัดจ้าง แล้วจะขออนุมัติต่อคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) เพื่อดำเนินการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งจะมีช่องโอกาสของการทุจริตและการสมยอมกันเสนอราคากันได้สูง
เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และป้องกันการแอบอ้างและการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการจัดจ้างด้วยวิธีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ มาใช้อ้างในการป้องกันตนเอง หรืออาศัยการดำเนินการตามระเบียบดังกล่าว เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองหรือผู้อื่น
จึงเห็นควรยกเว้นมิให้นำการจัดจ้างด้วยวิธีการตามระเบียบสำนักนายรัฐมนตรีฯด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ในงานก่อสร้างทุกประเภท ไม่ว่างานก่อสร้างนั้นจะมีลักษณะของงานซับซ้อนหรือมีเทคนิคเฉพาะหรือไม่ก็ตาม
3.การศึกษาวิจัย เรื่องโครงการศึกษาประเด็นทางกฎหมายที่เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตที่มีผลกระทบในภาพรวมโดยเฉพาะของเอกชน
จากการศึกษาวิจัยพบว่าการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทยมีปัญหาในการดำเนินการทั้งสิ้น 3 ประการ
ประการแรก ปัญหาการทุจริตเชิงนโยบาย อันเป็นกรณีที่หน่วยงานกำหนดนโยบายที่ไม่สุจริตตั้งแต่ก่อนจะมีการเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งส่วนมากเป็นกรณีที่นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเข้ามาพัวพันและเกิดกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) ทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยใช้กฎหมายเป็นสิ่งที่ยาก
ประการที่สอง ปัญหาการจัดการโครงสร้างขององค์กรจัดซื้อจัดจ้างที่มีโครงสร้างแบบรวมศูนย์อำนาจ กล่าวคือ มีการดำเนินการด้วยคณะกรรมการชุดเดียว ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบและกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างทั่วถึงและง่ายต่อการทุจริต นอกจากนั้นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ยังมีลักษณะกระจัดกระจาย ไม่มีกฎเกณฑ์กลาง และมีลำดับศักดิ์ต่ำกว่า พ.ร.บ. ทำให้ไม่สามารถกำหนดโทษทางอาญาได้ในตัวเอง และอาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้
ประการที่สาม ปัญหาในชั้นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่า ถึงแม้จะมีการกำหนดกฎระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างไว้อย่างละเอียดก็ตาม แต่ก็ยังมีช่องว่างและขาดมาตรการป้องกันการทุจริตที่เพียงพอ
ทั้งนี้ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ในมิติอื่น ๆ ระบุด้วยว่า ควรจะมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัยและรองรับต่อการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ โดยเฉพาะการดำเนินการผ่านระบบเทคโนโลยีฯ จะทำให้การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีน้อยลง ทั้งนี้เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความรวดเร็วและทั่วถึงในการเป็นสื่อกลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแล้ว ยังเป็นไปตามหลักการ “เปิดเผย” ซึ่งถือเป็นหลักการสมัยใหม่ในการจัดซื้อจัดจ้างที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดหลักการหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ควรจัดให้มีการเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้เข้าใจขั้นตอนและกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง และตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปโดยสุจริต ไม่กระทำการอันเป็นทุจริต
ท้ายสุด ควรมีการจัดทำและเผยแพร่จรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้เกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะ จัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่พัสดุของภาครัฐ ตลอดจนผู้ประกอบการเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
อ่านฉบับเต็ม : http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2558/993134705.pdf