พม.คุมเข้ม! ผู้ลักลอบเข้าเมืองเหตุงบ-พื้นที่ไม่พอรองรับ“โรฮีนจา-อุยกูร์”
มติ ครม. รับทราบรายงานควบคุมผู้ลักลอบเข้าเมืองฉบับ พม. พบงบประมาณ-พื้นที่ไม่พอรองรับ “โรฮีนจา-อุยกูร์” ล้นเฉียดหลักพัน ชง กอ.รมน. ควบคุม ยันยึดหลักสิทธิมนุษยชน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง-ตชด. เร่งหาพื้นที่ใหม่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการหาพื้นที่ควบคุมผู้อพยพแห่งใหม่ จัดทำโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นผู้ลงนาม
โดยสาระสำคัญในรายงานดังกล่าว ระบุว่า ปัจจุบันสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ให้การดูแลจำนวนกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองจำนวนทั้งสิ้น 638 คน เป็นชาวโรฮีนจาจำนวน 363 คน และชาวมุสลิมไม่ทราบสัญชาติ (อุยกูร์) จำนวน 275 คน และมีสถานที่ควบคุม (ห้องกัก) จำนวน 11 แห่ง
ซึ่งปัญหาที่พบคือ จำนวนสถานที่ควบคุมไม่เพียงพอรองรับผู้ลักลอบเข้าเมืองในปริมาณที่เต็มขีดความสามารถ สภาพห้องไม่มั่นคงแข็งแรง คับแคบ รวมทั้งงบประมาณ และกำลังพลไม่เพียงพอ
ส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้การดูแลผู้ลักลอบเข้าเมืองที่เป็นเด็ก ผู้หญิง และกลุ่มที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์รวมทั้งสิ้น 174 คน เป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮีนจาจำนวน 139 คน และชาวมุสลิมอุยกูร์จำนวน 35 คน มีสถานที่คุ้มครองหลัก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.สงขลา และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพภาคใต้ (บ้านศรีสุราษฎร์)
ปัญหาที่พบคือ หน่วยงานไม่ใช่สถานที่กักกัน เป็นสถานที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับให้บริการประชาชนทีประสบปัญหาทางสังคม จึงทำให้กลุ่มคนดังกล่าวหลบหนีง่าย รวมทั้งงบประมาณ และกำลังพลไม่เพียงพอ
ทั้งนี้มติที่ประชุมในการดำเนินการจัดการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจา และกลุ่มมุสลิมอุยกูร์ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า ให้ปฏิบัติงานยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ สำหรับการผลักดัน การสกัดกั้น การเข้าประเทศของกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมือง ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินงานตามภารกิจอย่างเคร่งครัด และในเรื่องการจัดหาพื้นที่ในระยะยาวมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พิจารณาพื้นที่ควบคุมผู้ลักลอบเข้าเมือง โดยขอให้ยึดกรอบและระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน
ขณะเดียวกันกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแหงชาติ (สตช.) ประชุมหารือเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว มีมติมอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมกันพิจารณาหาพื้นที่ใหม่ที่เหมาะสม โดยให้เสนอต่อที่ประชุมภายใน 1 เดือน และมีมติให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เพิ่มมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมผู้ลักลอบเข้าเมืองที่อยู่ในความดูแล
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรือชาวโรฮีนจาจาก thairath