"สุณัย" ติงรัฐตั้งศูนย์ควบคุมโรฮิงญา "ขว้างงูไม่พ้นคอ"
นักสิทธิมนุษยชนแนะไทยไฟเขียว "ยูเอ็นเอชซีอาร์" ร่วมแก้ปัญหาโรฮิงญา ตั้งศูนย์ช่วยเหลือ คัดกรองเฉพาะกลุ่มหนีภัยการสู้รบ ยันรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ด้านนายกฯย้ำตั้งได้แค่ "ศูนย์ควบคุมตัว" ขณะที่ "โกโต้ง" ผู้ต้องหาค้ามนุษย์คนสำคัญโผล่มอบตัวแล้ว นั่งแถลงข่าวคู่ ผบ.ตร.
นายสุณัย ผาสุข ผู้แทนฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ "พีพีทีวี" และ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาโรฮิงญาของรัฐบาลที่ยืนยันไม่ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวหรือศูนย์อพยพ แต่จะตั้งศูนย์ควบคุมตัวเพิ่มเติมเท่านั้น ว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยทำอยู่ตอนนี้เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งถือว่าชาวโรฮิงญาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แนวทางนี้ดำเนินการมาหลายรัฐบาลแล้ว ตั้งแต่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเนื่องถึงรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลขุดปัจจุบัน
ฉะนั้นถ้าหากจะมีการตั้งสถานที่ใหม่ ก็จะเป็นสถานที่ที่อยู่บนกรอบกฏหมายคนเข้าเมือง (พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522) คือเป็นสถานที่ควบคุมตัวชั่วคราว โดยยังถือว่าคนเหล่านี้เป็นคนทำผิดกฎหมาย เพียงแต่จะแก้ปัญหาเรื่องสถานที่ที่แออัด คับแคบได้ระดับหนึ่ง
"รัฐบาลพูดชัดเจนว่าจะใช้กฎหมายคนเข้าเมือง เมื่อใช้กฎหมายฉบับนี้ ตามหลักคือต้องขึ้นศาล มีเงินจ่ายค่าปรับไหม 2 พันบาท โรฮิงญาไม่มีเงิน ก็ต้องเอาไปขังที่ด่าน ตม. (หมายถึงห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) ซึ่งเตรียมไว้สำหรับกักคน 50-60 คน แต่นี่แออัดยัดเยียด บางที 200-30 คน ต้องยืนหลับ ไม่มีที่นั่ง ยืนเป็นปี กล้ามเนื้อขาตาย ป่วยตาย ผู้หญิงกับเด็กต้องแยก ตามกฎหมายไทยต้องขังแยกหญิง-ชาย ก็ต้องเอาครอบครัวไปไว้ที่บ้านพักฉุกเฉินของ พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)"
"ปัญหาสำคัญคือนายหน้าค้ามนุษย์เจาะช่องเข้ามาได้ ทั้งที่ด่าน ตม. และบ้านพักฉุกเฉิน เอาโรฮิงญาผู้ชายผู้หญิงไปขาย บางรายผู้หญิงกับเด็กโดนข่มขืน ภาพพจน์ของไทยก็ซวยซ้ำ ประเทศไทยช่วยโรฮิงญา แต่ใช้กฎหมายคนเข้าเมืองในการจัดการ ก็ทำให้ถูกมองไม่ดี โรฮิงญาก็ซวยซ้ำ ถูกเอาตัวไปขาย เอาตัวไปข่มขืน"
ตั้ง "ศูนย์ควบคุมตัว" ขว้างงูไม่พ้นคอ
นายสุณัย ยอมรับว่า แนวคิดของรัฐบาลที่จะให้ตั้งศูนย์ควบคุมตัว เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็จะมีปัญหาตามมา
"เป็นการหาทางออก เอาครอบครัวมาอยู่ด้วยกัน สถานที่กว้างขวางมากขึ้น มีรั้วรอบขอบชิดมากขึ้น นายหน้ามาเจาะลำบาก เจ้าหน้าที่ที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ก็ถูกปราบไปเยอะ แนวคิดภายใต้กรอบปัจจุบันจะดูแลโรฮิงญาได้ ข้อกังวลเรื่องความมั่นคงน้อยลง นานาชาติที่วิจารณ์ว่าความเป็นอยู่ไม่ดี ก็น่าจะลดน้อยลง แต่ปัญหาคือค่าใช้จ่ายในการดูแลยังเป็นของไทยและเงินภาษีของคนไทย ถ้าตั้งในลักษณะศูนย์ควบคุมตัว ภายใต้กฎหมายคนเข้าเมือง"
นายสุณัย กล่าวอีกว่า ทางองค์กรสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ จึงได้เสนอแนวทางที่เป็นทางเลือกให้กับรัฐบาลไทย เพราะถ้าใช้กรอบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังดำเนินการ ก็ขว้างงูไม่พ้นคอ ภาระไม่หมด ถ้าจะเอาภาระหมด คือ ต้องร่วมมือกับนานาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ และองค์กรการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ หรือ ไอโอเอ็ม ซึ่งองค์กรในสังกัดสหประชาชาติ เข้ามาช่วยคัดกรองสถานะว่า โรฮิงญาที่เข้ามา ใครเป็นผู้หลบหนีภัยการประหัตประหาร การค้าล้างพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือใครเป็นพวกฉวยโอกาสมาแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจ องค์กรเหล่านี้มีมาตรฐานคัดกรองได้
แจงเหตุ "ยูเอ็นเอชซีอาร์" ทำไมนิ่ง
หลายคนสงสัยว่าทำไมยูเอ็นเอชซีอาร์จึงวางเฉย ไม่ช่วยไทย เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจว่า ไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกสนธิสัญญาผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ ฉะนั้น ยูเอ็นเอชซีอาร์ ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ถ้ารัฐบาลไทยไม่อนุญาตเสียก่อน แม้อยากช่วยแต่ก็ช่วยไม่ได้
"ถ้าดึงยูเอ็นเอชซีอาร์มาช่วย อย่างที่เราทำกับผู้ลี้ภัยอินโดจีน ผู้ลี้ภัยจากพม่า เงินทองค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ใช่รัฐไทยออก แต่เงินทองมาจากการบริจาคของสหประชาชาติและเอ็นจีโอระหว่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลต่างประเทศ ไทยไม่ได้ควักเนื้อเลย แถมได้เงินอีกต่างหาก จัดซื้ออุปกรณ์ในพื้นที่ เพิ่มรายได้ให้อีก"
"เราเคยเสนอรัฐบาลไปแล้วหลายรอบ ขณะนี้สถานการณ์งวดขึ้น จำนวนผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาการลี้ภัย โดยเฉพาะคนพลัดถิ่นลอยเรือมา กำลังมีจำนวนมากขึ้นเป็นทวีคูณ ไทยกำลังตกที่นั่งลำบาก ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ทำให้ไทยอยู่ตรงกลาง เป็นทางผ่าน ตราบใดที่การประหัตประหารในรัฐยะไข่ยังดำเนินต่อไป โรฮิงญาจะทะลัก ยกครัวกันมาเรื่อยไม่จบไม่สิ้น ฉะนั้นรัฐบาลต้องรีบตัดสินใจ" นายสุณัย ระบุ
แอมเนสตี้ฯ จี้ไทย-มาเลย์-อินโดฯ ช่วยโรฮิงญา
สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงรัฐบาล 3 ประเทศ เพื่อแสดงความห่วงใยกรณีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพหลายพันคนเสี่ยงต่อความตายอยู่กลางทะเลรอบประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย หลังจากทั้ง 3 ประเทศผลักดันเรือของผู้อพยพออกไป หรือปฏิเสธไม่ให้เข้าชายฝั่ง โดยการรณรงค์จะมีไปถึงวันที่ 26 มิ.ย.นี้
แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ ระบุว่า มีผู้ถูกทอดทิ้งอยู่กลางทะเลมากถึง 8,000 คน ในขณะที่ทางการไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ผู้โดยสารกว่า 2,000 คนเดินทางไปถึงประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียในสัปดาห์นี้ บางส่วนถูกควบคุมตัวเมื่อเดินทางไปถึง หลายคนรอนแรมอยู่กลางทะเลนานกว่า 2 เดือน ทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับอาหาร น้ำ และการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน การปฏิเสธไม่ช่วยเหลือหรือผลักให้เรือที่เต็มไปด้วยผู้โดยสารกลับสู่ท้องทะเล เสมือนเป็นการลงโทษประหารชีวิตบุคคลกลุ่มดังกล่าว รายงานข่าวระบุว่าในเรือเหล่านี้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 10 คน
ไม่ว่าบุคคลเหล่านี้จะมีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร ไม่ว่าจะเดินทางมาถึงด้วยวิธีการใด หรือไม่ว่ามาจากที่ไหน ต้องมีการคุ้มครองสิทธิของพวกเขา ไม่ควรมีการควบคุมตัว ฟ้องคดี หรือลงโทษบุคคลเหล่านี้โดยอาศัยหลักเกณฑ์ในแง่การเดินทางมาถึงเท่านั้น
แอมเนสตี้ฯ ขอเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก เขียนจดหมายถึงทางการไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยมีข้อเรียกร้องถึง 3 ประเทศดังนี้
1.ให้มีการประสานงานเพื่อค้นหาและช่วยเหลือ
2.ให้มีการอนุญาตให้เรือซึ่งมีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเหล่านี้เข้าฝั่งอย่างปลอดภัยในประเทศที่ใกล้ที่สุด และไม่ผลักดันเรือออกไป ไม่คุกคามหรือไม่ข่มขู่พวกเขา
3.ให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยทันทีสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ
4.ให้การประกันว่าบุคคลซึ่งแสวงหาที่พักพิงสามารถเข้าถึงขั้นตอนปฏิบัติเพื่อจำแนกสถานภาพผู้ลี้ภัย
5.ให้เคารพหลักการไม่ส่งกลับ (non refoulement) โดยประกันว่าจะไม่เคลื่อนย้ายบุคคลไปยังสถานที่ใดซึ่งทำให้เสี่ยงต่อชีวิตหรือเสรีภาพของพวกเขา รวมทั้งประเทศบ้านเกิด
6.ให้การประกันว่าจะไม่เอาผิดทางอาญา ไม่ควบคุมตัวหรือลงโทษบุคคลเพียงเพราะวิธีการเข้าประเทศของพวกเขา
"ประยุทธ์" ย้ำตั้งแค่ศูนย์ควบคุมตัว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เปิดเผยถึงการพูดคุยกับ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติหรือยูเอ็น เรื่องสถานการณ์การอพยพของชาวโรฮิงญา ว่า ทางยูเอ็นอยากให้ไทยและอาเซียนร่วมมือในการแก้ไขปัญหากันเอง ส่วนทางยูเอ็นจะทำหน้าที่สังเกตการณ์ ซึ่ง นายบัน คี มูน ได้แสดงความเป็นห่วงชาวโรฮิงญาที่ได้รับบาดเจ็บ จึงได้รับปากว่าจะดูแลคนเจ็บและยืนยันไปว่าไทยเคารพในสิทธิมนุษยชนและพันธสัญญาระหว่างประเทศ แต่ต้องคำนึงถึงกฎหมายของประเทศไทยด้วย หากมีการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายก็จะต้องดำเนินคดี
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันด้วยว่า จะไม่มีการตั้งศูนย์พักพิงชาวโรฮิงญาในประเทศไทย แต่อาจมีการสร้างศูนย์ควบคุมเพิ่มเติมในกรณีที่สถานที่ควบคุมไม่เพียงพอ ทั้งนี้ได้มอบนโยบายว่าหากพบเรือชาวโรฮิงญาอยู่นอกน่านน้ำไทย ไทยจะเคารพสิทธิและหลักมนุษยธรรม แต่หากพบในน่านน้ำไทยก็ต้องเคารพในกฏหมายของประเทศไทย เพราะทุกประเทศก็ดำเนินการในลักษณะนี้
ส่วนในวันที่ 29 พ.ค.จะมีการจัดประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ร่วมกับประเทศในอาเซียนนั้น นายกรัฐมนตรี บอกว่า ในเบื้องต้นทางเมียนมาร์ไม่ได้ขัดข้องหรือปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม ยืนยันว่าไม่อยากให้อาเซียนขัดแย้งกัน แต่อยากให้ทุกฝ่ายให้กำลังใจซึ่งกันและกันและร่วมกันแก้ไขปัญหา
"ประวิตร" ฉุนถูกถามปมผลักดันโรฮิงญา
วันจันทร์ที่ 18 พ.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อรับทราบสถานการณ์การค้ามนุษย์และปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญา ที่ทัพเรือภาค 3 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง พังงา สตูล ภูเก็ต รวมทั้งผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 และรองแม่ทัพภาคที่ 4 เข้าประชุม
พล.อ.ประวิตร ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวถึงความเป็นไปได้ในการตั้งศูนย์พักเพิงชาวโรฮิงญาในพื้นที่ภาคใต้ว่า ยังไม่มี ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.ระนอง หรือที่อื่นๆ โดยเฉพาะบนเกาะต่างๆ เพียงแต่รัฐบาลให้ไปดูว่าพื้นที่ไหนพอจะควบคุมตัวได้ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า ตม.จังหวัดต่างๆ ยังสามารถรับไปดูแลได้ ไม่มีปัญหาอะไร
พล.อ.ประวิตร ยังแสดงความไม่พอใจผู้สื่อข่าวเมื่อถามว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังยันยืนที่จะผลักดันชาวโรฮิงญาต่อไปใช่หรือไม่ โดย พล.อ.ประวิตร ถึงกับชี้หน้าผู้สื่อข่าวที่ถาม และกล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า ไม่ได้ผลักดัน ผู้สื่อข่าวพูดไม่ถูก พูดได้อย่างไรว่าผลักดัน
"ผมไม่ได้ผลักดัน เราทำตามกฎหมาย ทำตามหลักสิทธิมนุษยชน อย่าถามอย่างนี้ ประเทศไทยไม่เคยผลักดันใคร แต่เป็นไปตามความต้องการของเขา (โรฮิงญา)" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าว
"โกโต้ง"มอบตัว-ปัดเอี่ยวค้าโรฮิงญา
วันเดียวกัน นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ "โกโต้ง" อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจที่กรุงเทพฯ หลังถูกออกหมายจับในข้อหาร่วมขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา โดยเบื้องต้นโกโต้งปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและพร้อมจะสู้คดี
ทั้งนี้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้นำตัวนายปัจจุบัน มาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดย นายปัจจุบัน กล่าวว่า หลังถูกออกหมายจับได้ติดต่อขอเข้ามอบตัวตั้งแต่แรกเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยข้อกล่าวหาทั้งหมดจะขอให้การชั้นศาลเท่านั้น และยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
ด้าน ผบ.ตร. กล่าวว่า สาเหตุที่นายปัจจุบันเข้ามอบตัว เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย ส่วนเรื่องการต่อรองการขอประกันตัวกับเจ้าหน้าที่ก่อนหน้านี้ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และครั้งนี้ตำรวจจะยื่นคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีใหญ่
ภายหลังการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุมตัวนายปัจจุบัน เดินทางด้วยเครื่องบิน เพื่อนำตัวไปสอบสวนต่อที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 9 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับความคืบหน้าคดีในคดีค้ามนุษย์ ขณะนี้ตำรวจได้ออกหมายจับผู้ต้องหาแล้วทั้งหมด 65 คน โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 พ.ค.ได้ออกหมายจับเพิ่มอีก 3 คน คือ พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง สารวัตรธุรการ สภ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี ร.ต.ท.นราธร สัมพันธ์ รองสารวัตรสืบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระนอง และ น.ส.ทัศนีย์ อังโชติพันธุ์ ภรรยาของนายปัจจุบัน หรือโกโต้ง
ทั้งนี้จากจำนวนผู้ต้องหาที่ออกหมายจับทั้งหมด สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้แล้ว 30 คน มีบุคคลที่ตำรวจเชื่อว่าเป็นตัวการใหญ่ในขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา 3 คน ได้แก่ นายสุวรรณ แสงทอง หรือโกหนุ่ย เจ้าของแพปลาใน จ.ระนอง นายบรรณจง ปองผล หรือโกจง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ จ.สงขลา และนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายสุณัย ผาสุข
2 ผบ.ตร.นำตัว นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ โกโต้ง (เสื้อขาว) นั่งแถลงข่าว หลังเข้ามอบตัวในคดีค้ามนุษย์
ขอบคุณ :
1 ภาพ นายสุณัย ผาสุข จากอินเทอร์เน็ต
2 ภาพ นายปัจจุบัน มอบตัวและแถลงข่าว จากพีพีทีวี