'สมเกียรติ อ่อนวิมล':ทุน-อุดมการณ์สื่อยุคดิจิทัล
"วิกฤตสื่อสารมวลชนเป็นวิกฤตสากล มีทุกแห่ง ทุกทวีป ทุกประเทศ และทุกวัฒนธรรม แต่เรามักไม่เรียนรู้จากวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นในโลกตะวันตก อยากปฏิรูปสื่อด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่การปฏิรูปสื่อขึ้นอยู่กับองค์กรธุรกิจสื่อ สำนักงาน และตัวเรา ไม่มีกฎหมายฉบับใดจะปฏิรูปช่วยให้ดีขึ้น"
วันที่ 19 พฤษภาคม 2558 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, มหาวิทยาลัยรังสิต จัดประชุมใหญ่วิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี 2558 ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 10 เรื่อง ปฏิวัติคนข่าว ทุน-อุดมการณ์ การปรับตัวของนักนิเทศศาสตร์ยุคดิจิทัล ณ โรงภาพยนตร์ อาคารดิจิทัล มัลติมีเดีย คอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ทั้งนี้ ในการประชุม ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อมวลชน ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘ทุน-อุดมการณ์สื่อยุคดิจิทัล’ โดยตอนหนึ่งระบุถึงวิกฤตสื่อในต่างประเทศในหนังสือบทแนะนำสั้นเรื่องการสื่อสารมวลชน ซึ่งเขียนอธิบายว่า ช่วงหลังปี ค.ศ.1600 อังกฤษมีการประกอบอาชีพนักข่าว และมักใช้ร้านกาแฟเป็นสถานที่หาข่าว
งานสื่อสารมวลชนผ่านการเปลี่ยนแปลง เผชิญแรงกดดัน ต้านอำนาจท้าทาย หลงใหลในพลังเย้ายวนหลายหลาก จนปัจจุบันมีเทคโนโลยีข่าวสารรวดเร็ว ล้ำสมัย ไกลเกินจินตนาการ งานสื่อสารมวลชนจึงเป็นงานที่ไร้ขอบเขตหรือข้อจำกัดคำนิยามใด ๆ
“งานสื่อสารมวลชนเป็นทั้งธุรกิจและมากกว่าธุรกิจ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เผชิญหน้าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรืออินเตอร์เน็ต”
นักวิชาการสื่อสารมวลชน กล่าวต่อว่า หนังสือพิมพ์รูปแบบแรกของโลกเป็นใบประกาศข่าวสารของจีนเมื่อกว่าพันปีที่แล้ว และถูกองค์จักรพรรดิ สั่งปิดกิจการไปในที่สุด เมื่อเริ่มแสดงออกในเสรีภาพของสื่อมวลชน ด้วยเพราะสื่อมวลชนดูจะมีพลังสร้างค้ำบัลลังก์หรือล้มองค์จักรพรรดิได้
ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องเลือกระหว่างหนังสือพิมพ์กับรัฐบาลจะเลือกฝ่ายใด ซึ่งประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน กล่าวไว้ว่า ฐานพลังของรัฐบาลมาจากความคิดเห็นของประชาชน หน้าที่เริ่มแรกคือการคงไหวในสิทธิขั้นพื้นฐาน และหากจะต้องเลือกให้มีรัฐบาล โดยไม่มีหนังสือพิมพ์ หรือจะมีหนังสือพิมพ์ โดยไม่มีรัฐบาล จะไม่ลังเลเลยว่าจะเลือกอย่างไร
การยกอาชีพสื่อมวลชนในอดีตนั้นถึงกับเชื่อว่าสื่อมวลชนมีอำนาจปกครองประเทศได้ ด้วยข้อมูล ข่าวสาร และความจริง แต่เหตุใด สื่อมวลชนจึงทำลายความยิ่งใหญ่ น่าเชื่อถือ ยึดมั่น ที่สาธารณชน เคยมีให้ลดต่ำลงได้
หนังสือฉบับดังกล่าวยังให้เหตุผลว่า การเข้าสู่ระบบธุรกิจและการลงทุนเป็นปัญหาใหญ่ เพราะหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ ต้องทำรายได้ตามที่เจ้าของกิจการและผู้ถือหุ้นต้องการ พนักงานข่าวและพนักงานอื่น ๆ และผู้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนทั้งหลายเริ่มคิดว่า เงินคือผลตอบแทนสำคัญในอาชีพ จรรยาบรรณยอมเสียเงินและค่าใช้จ่ายทุกอย่างเพื่อความจริง กลายเป็นการขายเนื้อที่โฆษณาและข่าวประชาสัมพันธ์ให้กับลูกค้าและสินค้าที่ยืมข่าวเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์
นักสื่อสารมวลชนเกือบทั้งหมดเกิดและอยู่ในบรรยากาศแบบบริษัทธุรกิจ ซึ่งเป็นการจำกัดกรอบงานและทรงอิทธิพลต่อการทำงานของสื่อมวลชน การที่สื่อมวลชนห่วงใยผู้ถือหุ้น กังวลผลกำไรขาดทุนเจ้าของกิจการ ทำให้เหล่าบรรณาธิการข่าวหันเหความสนใจไปจากงานของสื่อมวลชนที่เคยยึดเป้าหมายการทำหน้าที่พลเมืองดีต่อสังคมไป เป็นการทำลายความจงรักภักดีที่สื่อมวลชนเคยมีต่อผู้อ่าน และทำลายความมั่นคงเติบโตของธุรกิจสื่อสารมวลชนในระยะยาว
เมื่อมาถึงปลายศตวรรษที่ 20 พฤติกรรมของผู้นำสื่อสารมวลชนอเมริกันก็เปลี่ยนภาพตนเองไปเป็นนักธุรกิจหมดแล้ว
ดร.สมเกียรติ ยังกล่าวถึงความเสื่อมของนักสื่อสารมวลชน ทั้งนักหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย สื่อมวลชนทำตัวเป็นดารา ค่าตัวแพง ผู้ประกาศข่าวกลายเป็นดาราที่แสดงเพียงบทอ่านข่าว
ส่วนผู้สื่อข่าวที่ทำงานหนักจริงจังกลับมีรายได้น้อย แทบเลี้ยงครอบครัวไม่รอด
ผู้สื่อข่าวสงครามบาดเจ็บล้มตายมากมาย ส่วนดาราอ่านข่าวหน้ากล้องเข้าสังคมหรูหรา นักข่าวรุ่นใหม่เด็กเกินไป งานมากเกินกว่าจะเข้าถึงความจริงได้ ประสบการณ์น้อยจนตกเป็นเครื่องมือของนักประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ ยังมีนักข่าวที่ร่วมมือกับนักการเมืองไม่น้อย ทำให้มุมมองความจริงเรื่องประชาธิปไตยเปลี่ยนไป
“งานสื่อสารมวลชนมีความสำคัญมากกว่าการเป็นธุรกิจ คือ การค้นหาความจริงและรายงานให้ถูกต้อง ไว้ใจได้ หากสื่อมวลชนไม่เป็นที่ไว้วางใจแล้ว ก็จะไม่มีใครเชื่อ ใครเคารพ ขณะนี้โลกสื่อมวลชนกำลังกลายเป็นธุรกิจ สาธารณชนกำลังลดความเชื่อถือสื่อมวลชนไปอย่างมาก จึงเป็นปัญหาใหญ่ของสื่อมวลชนโลก”
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ระบุถึงผลการประชุมสัมมนาวิกฤติสื่อมวลชนอเมริกา ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อปี 2540 โดยทุกคนห่วงใยอาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งกำลังเจอวิกฤต ถูกคุกคาม และตกอยู่ในอันตราย มองไปทางไหนแทบไม่เห็นงานที่เรียกว่าสื่อสารมวลชนอย่างแท้จริง แทนที่เพื่อนร่วมอาชีพจะรับใช้สาธารณชนก็กลับกลายทำลายสังคม และเป็นที่มาของการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา พร้อมกับกำหนดหลักการพื้นฐาน 10 ประการ ดังนี้
1.หน้าที่อื่นใดของสื่อสารมวลชน คือ การรับผิดชอบต่อความจริง
2.ความภักดีอันดับแรกของสื่อมวลชน คือ ความภักดีต่อประชาชนพลเมือง
3.หัวใจหลักของงานสื่อมวลชน คือ วินัยการตรวจสอบและยืนยันความจริง
4.ผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนต้องรักษาไว้ซึ่งความอิสระจากแหล่งข่าวสารและผู้คนที่รายงานพาดพิงถึง
5.สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ผู้ตรวจตราเฝ้าระวังผู้มีอำนาจในสังคม
6.สื่อมวลชนต้องเป็นผู้สร้างเวทีสาธารณะเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์รอมชอมหาทางออกสะท้อนปัญหาสังคม
7.สื่อมวลชนต้องพยายามทำให้ข่าวสารเรื่องสำคัญน่าสนใจและชอบด้วยเหตุผลแห่งการเป็นข่าวสาร
8.สื่อมวลชนต้องจัดการให้ข่าวครบถ้วนบริบูรณ์และมีขนาดสัดส่วนพอดี
9.ผู้ทำงานสื่อสารมวลชนมีภาระหน้าที่ในการปฏิบัติงานโดยใช้จิตสำนึกรับผิดชอบเป็นของส่วนตัวเอง
10.พลเมืองมีสิทธิและความรับผิดชอบต่อข่าวเช่นกัน
“สื่อมวลชนในโลกตะวันตกมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความตื่นตัวก็ตาม” นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนกล่าว และว่า วิธีแก้ไข คือ ทำตัวเองให้ดีขึ้น ประชาชนก็จะกลับมาเสพสื่อเหมือนเดิม
สำหรับในประเทศไทย ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า มีภูมิทัศน์สื่อเช่นเดียวกับโลกตะวันตก แต่สถานการณ์ในเมืองไทยวิกฤตหนักมากกว่า จนมองไม่เห็นทางแก้ไข หากนักธุรกิจสื่อสารมวลชนและนักสื่อสารมวลชนไม่จัดระบบการทำงานหรือการศึกษาของตนเองใหม่ รวมถึงไม่คำนึงถึงบทบาทหน้าที่ตามวิชาชีพ ทั้งในด้านคุณภาพและการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีมากขึ้น
“สื่อสารมวลชนไทยต้องไม่ยอมปรับตัวตามสถานการณ์ความเสื่อมทรามทางการเมือง ซึ่งเป็นความเสื่อมทรามในประเทศ เเละนับวันจะไปด้วยกันไม่ได้กับหลักการพื้นฐานด้านสื่อสารมวลชน”
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ยังกล่าวว่า วิกฤตสื่อสารมวลชนเป็นวิกฤตสากล มีทุกแห่ง ทุกทวีป ทุกประเทศ และทุกวัฒนธรรม แต่เรามักไม่เรียนรู้จากวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นในโลกตะวันตก อยากปฏิรูปสื่อด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่การปฏิรูปสื่อขึ้นอยู่กับองค์กรธุรกิจสื่อ สำนักงาน และตัวเรา ไม่มีกฎหมายฉบับใดจะปฏิรูปช่วยให้ดีขึ้นได้
หากไม่ปฏิรูป ไม่ช้าประชาชนจะทิ้งเรา .
ภาพประกอบ:สำนักข่าวทีนิวส์