สปช.วางวิสัยทัศน์ 10 ปี 4 เฟส ปฏิรูปสื่อฯ
ที่ประชุมสปช. พิจารณารายงานกมธ.ปฏิรูปสื่อ เรื่องกรอบหลักการปฏิรูประบบการสื่อสารเพื่อประชาชน ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ การป้องกันการแทรกแซง และการกำกับดูแลสื่อ "วสันต์ ภัยหลีกลี้" ยันปฏิรูปสื่อ ไม่ใช่ทำเพื่อสื่อฝ่ายเดียวต้องทำเพื่อสังคมโดยรวมด้วย หวังสื่อจะได้รับความศรัทธาความเชื่อมั่นจากสาธารณชนมากขึ้น
วันที่ 18 พฤษภาคม ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช. เรื่องกรอบหลักการปฏิรูประบบการสื่อสารเพื่อประชาชน ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ การป้องกันการแทรกแซง และการกำกับดูแลสื่อ โดยรองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี ประธาน กมธ. ได้ชี้แจง วิสัยทัศน์การปฏิรูป พันธกิจ และกรอบความคิดรวบยอด การปฏิรูปสื่อทั้งระบบ โดยมี 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1. เสรีภาพบนความรับผิดชอบ 2.การป้องกันการแทรกแซงและครอบงำสื่อ และ 3.การกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์จุมพล กล่าวถึงการทำงานกมธ.ชุดนี้ได้วางวิสัยทัศน์ อีก 10 ปีข้างหน้า โดยวางแนวทางไว้ 4 เฟส คือ
เฟส 1 ระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้จะดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ทำความเข้าใจกับองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการสื่อ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้กับสังคมถึงการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อ
เฟส 2 ระยะเวลา 3 ปี มีการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน สร้างกลไกกำกับดูแลสื่อภาคประชาชน ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสื่อ จัดทำจริยธรรมสื่อที่มีมาตรฐานชัดเจนขึ้น พัฒนาศักยภาพสื่อ สร้างความรู้ให้กับประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อ ตั้งกองทุนสวัสดิภาพสวัสดิการสื่อ และมีระบบสารสนเทศ เรื่องร้องเรียนสื่อ และข้อมูลวิชาการ
เฟส 3 จะพูดถึงการกำกับดูแลกันเองโดยสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพทั่วประเทศ จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ การเกิดกลไกส่งเสริมให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม และอุดหนุนการเกิดเนื้อหาสื่อที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ ระยะเวลา 5 ปี ขณะที่สถาบันการศึกษาที่สอนนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ มุ่งปลุกจิตสำนึกเรื่องวิญญาณวารสารศาสตร์ และให้เข้าใจจริยธรรมของสื่อ
สุดท้ายเฟส 4 ระยะเวลา 1 ปี จะมีการประเมินผลการปฏิรูปสื่อ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ รองประธานกมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชน ฯ กล่าวถึงการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นการกำกับกันเองโดยฝ่ายวิชาชีพ และควรมีกฎหมายกำหนดให้จัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นองค์กรกลาง เป็นร่มใหญ่ของการกำกับดูแลกันเองที่ครอบคลุมสื่อทั้งหมด ทุกแขนง เป็นอิสระจากรัฐและทุน มีกรรมการจากฝ่ายวิชาชีพ มีผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และตัวแทนผู้บริโภคสื่อ
นายวสันต์ กล่าวถึง 3 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปสื่อต้องทำควบคู่กันไป 1. เสรีภาพบนความรับผิดชอบ 2.การป้องกันการแทรกแซงและครอบงำสื่อ และ 3.การกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ เน้นการกำกับดูแลกันเองเป็นสำคัญ และเสริมกำกับโดยภาคประชาชน และองค์กรกำกับสื่อโดยกฎหมาย
“การปฏิรูปสื่อ ไม่ใช่เรื่องทำเพื่อสื่อฝ่ายเดียวต้องทำเพื่อสังคมโดยรวม โดยหวังว่า สื่อจะได้รับความศรัทธาความเชื่อมั่นจากสาธารณชนและมีส่วนยกระดับให้สังคมดีขึ้น”
นางเตือนใจ สินธุวณิก สมาชิก สปช. กล่าวถึงคำวิพากษ์วิจารณ์การตั้งสภาวิชาชีพสื่อนั้น หลายท่านเข้าใจผิดจะเป็นองค์กรที่มากำกับสื่อ แต่แท้จริงเป็นแค่องค์กรดูแล และเชื่อมโยงกับสมาคม มูลนิธิต่างๆ ของสื่อที่มีอยู่เดิม “การกำกับดูแลกันเองของสื่อ จะมีหลักร่างขึ้นมาว่า ควรปฏิบัติตนอย่างไร”
ด้านนายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสปช.กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อตามยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ สิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ การป้องกันการแทรกแซงและครอบงำสื่อ การกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นเครื่องจักรการปฏิรูปสื่อ เป็นเสมือนฟันเฟืองเชื่อมโยงทำให้การปฏิรูปสื่อดำเนินไปได้
นายบุญเลิศ กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ “การป้องกันการแทรกแซงและครอบงำสื่อ” มุ่งให้สื่อเป็นอิสระ ไม่ถูกภาครัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมให้การปฏิบัติหน้าที่ขาดความเป็นอิสระ รวมไปถึงเงินทุน เงินทางธุรกิจจะเข้ามาส่งผลกระทบทำให้สื่อไม่เป็นอิสระ การปฏิรูปสื่อครั้งนี้ เพื่อทำให้วงวิชาชีพสื่อมีมาตรฐาน เป็นที่เชื่อถือยอมรับศรัทธาของประชาชน สื่อจะมีมาตรฐานเกิดขึ้นได้ก็ย่อมต้องสร้างคุณภาพคนทำสื่อควบคู่กันไปด้วย
นายบุญเลิศ กล่าวถึงเรื่องสวัสดิภาพ สวัสดิการด้วยว่า ก็มีการคำนึงถึง ปัจจุบันต้องยอมรับสื่อมีความแตกต่างกันในแต่ละองค์กร มีทั้งยักษ์ใหญ่ กลาง และย่อยแทบจะเอาตัวไม่รอด แม้องค์กรวิชาชีพสื่อจะพยายามพัฒนาสื่อ แต่ก็ทำไม่ทั่วถึง และไม่เกิดผลในการสร้างคุณภาพ และขวัญกำลัใจ ดังนั้นการปฏิรูปสื่อ จึงต้องเข้ามาดูแลตรงจุดนี้
“กมธ ได้บัญญัติให้มีกฎหมายมารองรับการปฏิรูปสื่อ มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่งไปศึกษาจัดทำร่างกฎหมายเรื่องนี้ รวมถึงให้ดูเรื่องสวัสดิภาพและสวัดิการคนทำสื่อ
เอกสารที่เกี่ยวข้อง:รายงานข้อเสนอกมธ.ปฏิรูประบบการสื่อสารเพื่อประชาชน