"มท.-ตำรวจ"ส่อทุจริตอีก1.4 ล.! กางผลสอบสตง.ย้ำปมจัดเลือกตั้ง 2ก.พ.เหลว
"..สำนักงาน กกต. ควรจัดทำข้อมูลพื้นฐานตามภารกิจต่างๆ ในการจัดการเลือกตั้ง และรวบรวมข้อมูลสถิติผลการใช้จ่ายเงินในการจัดการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดเกณฑ์การของบประมาณโดยจัดทำประมาณการอย่างสมเหตุสมผล ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำประมาณการและคำของบประมาณมีความถูกต้องเพียงพอกับการปฏิบัติงานเท่าที่จำเป็น.."
"ยังไม่เห็นรายงานดังกล่าว แต่เท่าที่ทราบจากสื่อมวลชน คือ เรื่องการจัดทำคำของบประมาณของ กกต. ไม่ถูกต้อง สูงเกินความเป็นจริงนั้น ก็เป็นแบบอย่างของสำนักงานบริหารกลาง กกต. จัดทำขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะดำเนินการเหมือนที่มีการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ต้องเข้าใจว่าจะดูแค่สถิติค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการจัดการเลือกตั้งครั้งก่อนไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งไม่เหมือนกันทุกครั้ง หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น ก็ต้องมีการเพิ่มหน่วยเลือกตั้ง หรือค่าตอบแทนบุคลากรอาจเพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งหากมีการใช้เครื่องลงคะแนนอาจจะทำให้ต้องใช้งบสูงขึ้นอีกหลายพันล้านบาทเลยก็ได้ ดังนั้น การตั้งข้อสังเกตว่ามีการตั้งงบประมาณสูงเกินจริงจึงอาจจะไม่เป็นธรรมกับ กกต. นัก"
(อ่านประกอบ : “สมชัย”ยันไม่เป็นธรรม! สตง.สรุปปม กกต.ใช้งบสูงจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ.เหลว)
นี่คือ ความเห็นล่าสุดของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ที่พบว่าน่าจะมีการตั้งงบประมาณสูงเกินความจริง รวมถึงการใช้เงินในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ส่อว่าจะมีความไม่ชอบมาพากล และนำมาเสนอเป็นข่าวไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.58 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : สตง.สรุปผลใช้เงินเลือกตั้ง 2 ก.พ. เหลว! กกต.ตั้งงบเกินจริง 282ล.-จนท.ทุจริต 17 ล.)
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชน รับทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา ขอนำรายละเอียดในรายงานผลการตรวจสอบเรื่องนี้ ของ สตง. ฉบับคัดย่อ มานำเสนอ ณ ที่นี้
-----
เรื่อง การตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป (กรณียุบสภา) เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57
ตามที่ สตง. นำส่งหนังสือจำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรก เมื่อเดือนม.ค. 57 (ก่อนเลือกตั้ง 2 ก.พ.57) และฉบับสอง เดือนพ.ค.57 (หลังเลือกตั้ง 2 ก.พ.57) โดยได้แสดงความกังวลและห่วงใยต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและดำเนินการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 (วงเงิน 3,800 ล้านบาท) โดยเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความสูญเปล่า ไม่ประหยัด ไม่เกิดประโยชน์ที่คุ้มค่า อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินมิได้ผลตามเป้าเหมายของการเลือกตั้ง
สตง. ได้ตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้งส.ส. ครั้งนี้ ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ที่ร่วมดำเนินการแล้วมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. การจัดทำคำของบประมาณของ กกต. ไม่ถูกต้อง สูงเกินความจำเป็น และไม่ได้นำข้อมูลสถิติค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการจัดการเลือกตั้งครั้งก่อนมาประกอบการพิจารณาทำให้มีเงินงบประมาณคงเหลือรวมเป็นเงิน 282,486,224 บาท ดังนี้
-จำนวนเงินที่จัดทำคำของบประมาณกับรายละเอียดเกณฑ์การจัดสรรไม่ถูกต้องตรงกัน ทำให้คำของบประมาณสูงไปจำนวน 19,045,600 บาท
-จัดทำคำของบประมาณ เผื่อเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เกินความจำเป็น 170,997,400 บาท
-จัดทำคำของบประมาณโดยไม่มีการจัดทำข้อมูลสถิติค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการจัดการเลือกตั้งครั้งก่อน เพื่อประกอบการพิจารณา ทำให้มีเงินงบประมาณคงเหลือ 92,443,224 บาท
-การจัดทำคำของบประมาณเป็นค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มให้กับสำนักทะเบียนอำเภอและท้องถิ่น และศูนย์บริหารการทะเบียนภาค สาขาจังหวัดและกทม. ที่ใช้ในการจัดพิมพ์บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอัตราการจ่ายเงินค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นและเหมาะสม
2. การจัดหาวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลือกจตั้ง
-เอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งและผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ใช้ข้อมูลจำนวนครัวเรือนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ทำให้การจัดทำเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้สูญเสียงบประมาณโดยไม่คุ้มค่า ในส่วนของสำนักงานกกต.ประจำจังหวัด 6 จังหวัด ที่ตรวจสอบคำนวณ มูลค่าความเสียหายได้จำนวน 3,977,899.55 บาท
- การจัดหาหีบบัตรเลือกตั้ง และคูหาเลือกตั้งของสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด 6 จังหวัด ที่ตรวจสอบ เป็นการจัดหาจากผู้ประกอบการที่มีที่ตั้งในกรุงเทพมหานครทุกจังหวัด
- การจัดจ้างทำโปรแกรมประมวลผลการเลือกตั้งได้มีการใช้งานเพียงครั้งเดียว โดยไม่มีการเก็บรักษาหรือพัฒนาเพื่อการใช้งานในการรายงานผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป
(อ่านประกอบ : ผลสอบเลือกตั้ง2ก.พ.เหลว! กกต.รวยจัด จ้างทำโปรแกรมนับคะแนน 8.8 ล. ใช้ครั้งเดียวทิ้ง?)
3. แนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินไม่สอดคล่องกัน อาทิ หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายและกรอบวงเงินงบประมาณค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาทำการ มีข้อกำหนดการเบิกจ่ายที่แตกต่างกัน , คู่มือการปฏิบัติงาน และระเบียบเกี่ยวกับค่าตอบแทนผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง อนุกรรมการประจำอำเภอ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง ส.ส. มิได้ระบุหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายให้ชัดเจน
4. การเบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้อง และการเบิกจ่ายเงินโดยเจ้าหน้าที่มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าอาจมีการทุจริตจำนวน 17,219,580.75 บาท
5. การคิดค่าบริการของรัฐวิสาหกิจ ที่ร่วมดำเนินการจัดการเลือกตั้งมีความแตกต่างกัน คือ บริษัทไปรษณีย์ จำกัด และการไฟฟ้านครหลวง คิดค่าบริการในอัตราเดียวกับที่ให้บริการบุคคลทั้วไป ซึ่งรวมกำไรไว้ด้วย แต่สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คิดค่าบริการตามค่าใช้จ่ายจริง โดยไม่รวมกำไร
6.ไม่มีการจัดทำรายงานผลการใช้จ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งในภาพรวม สำหรับการเลือกตั้งแต่ละครั้ง
7.ข้อกำหนดของกฎหมายและระเบียบที่ไม่สอดคล้องกัน คือ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้จ่ายเงินในการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 ข้อ 43 กำหนดให้กกต.ประจำจังหวัด จัดทำรายงานการรับจ่ายเงินทุกสัปดาห์และสรุปรายงานการรับจ่ายเงินและปิดบัญชีภายใน 30 วัน นับถัดจากวันที่มีการเลือกตั้ง ในขณะที่ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.พ.ศ.2550 มาตรา 52 กำหนดว่าภายในกำหนด 90 วันหลังจากวันเลือกตั้ง ผู้สมัครแต่ละคนและพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบสัดส่วนต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่าย ต่อ กกต. เพื่อดำเนินการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่าย โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันที่รับรายงานการรับจ่ายเงินและบัญีรายรับและรายจ่ายการตรวจสบอรายการค่าใช้จ่ายดังกล่าว ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายผู้สมัครและพรรคการเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ อาจเป็นเหตุให้การจัดทำสรุปรายงานการรับจ่ายเงินและปิดบัญชีไม่สามารถจัดทำได้ภายในกำหนด 30 วัน ตามระเบียบ
ข้อเสนอแนะ
1. การจัดทำคำของบประมาณ
สำนักงาน กกต. ควรจัดทำข้อมูลพื้นฐานตามภารกิจต่างๆ ในการจัดการเลือกตั้ง และรวบรวมข้อมูลสถิติผลการใช้จ่ายเงินในการจัดการเลือกตั้งก่อนๆ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดเกณฑ์การของบประมาณโดยจัดทำประมาณการอย่างสมเหตุสมผล ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำประมาณการและคำของบประมาณมีความถูกต้องเพียงพอกับการปฏิบัติงานเท่าที่จำเป็น
2. การจัดหาวัสดุเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
-เอกสารกี่ยวกับการเลือกตั้ง และ ผู้สมัครพรรคการเมือง กกต. ควรกำหนดมาตรการในการเตรียมความพร้อมเรื่องข้อมูลจำนวนครัวเรือนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เป็นปัจจุบัน และซักซ้อมความเข้าใจกับกกต.จังหวัด ในการใช้ข้อมูลจำนวนครัวเรือนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน เพื่อไม่ให้มีการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งและผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ส่งไปให้ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งเกินความจำเป็น ทำให้สูญเสียงบประมาณไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้รับ โดยควรหารือกับกรมการปกครองพิจารณาหาแนวทางให้สามารถใช้ข้อมูลจำนวนครัวเรือนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ถูกต้องตรงกัน
-การจัดหาหีบบัตรเลือกตั้งและคูหาเลือกตั้ง ควรมีการทบทวนสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และปรับเปลี่ยนวิธีการจัดหาหีบบัตรเลือกตั้ง และคูหาเลือกตั้งรวมทั้งวัสดุ อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเลือกตั้งให้เหมาะสม
-การจัดทำโปรแกรมประมวลผลการเลือกตั้ง เพื่อการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ควรจัดให้มีการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับประมวลผลการเลือกตั้งที่ใช้งานได้กับการเลือกตั้งทุกครั้ง เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ
3. แนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงิน
-หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายและกรอบวงเงินงบประมาณค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาทำการ ควรกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีความสอดคล้อง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และควรกำชับ กกต.จังหวัด ให้ควบคุมการเบิกจ่ายเงินของกกต.ประจำเขตเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามกรอบวงเงินงบประมาณโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อรักษาวินัยทางการเงินการคลังและการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด
-ควรทบทวนคู่มือการปฏิบัติงานกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้สอดคล้องกับระเบียบเกี่ยวกับค่าตอบแทน ผู้เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ โดยกำหนดให้มีเอกสารแสดงระยะเวลาที่มีการปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย เพื่อเป็นการสร้างระบบการควบคุมที่ดี
4. ขอให้กกต.เรียกเงินที่เบิกจ่ายไม่ถูกต้อง จำนวน 1.4 ล้านบาท คืนจากผู้เกี่ยวข้อง ส่วนการเบิกจ่ายเงินทุจริต 15.7 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าอาจมีการทุจริตอยู่ระหว่างการตรวจสอบและจะแจ้งผลให้ทราบต่อไป
5.สำนักงาน กกต. และรัฐวิสาหกิจ ควรหารือร่วมกันเพื่อกำหนดเกณฑ์การคิดค่าบริการไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้กระทบการดำเนินการและไม่เป็นภาระต่อรัฐวิสาหกิจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
6. สำนักงาน กกต. ควรเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวม สรุปค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์การใช้จ่ายงบประมาณและการปรับปรุงการดำเนินการและเป็นฐานในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในโอกาสต่อไป
7.สำนักงานกกต. ควรทบทวนข้อกำหนดระเบียบปฏิบัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถถือปฏิบัติได้จริงและไม่เกิดปัญหาในภายหลัง
@ ผลการตรวจสอบหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจที่ร่วมดำเนินการจัดการเลือกตั้ง
จากการตรวจสอบพบว่า การใช้จ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง มีการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง เช่น การเบิกจ่ายเงินเกินสิทธิ์ เบิกจ่ายโดยไม่มีเอกสารหลักฐาน ซ้ำซ้อน การขอเบิกเงินเกินกว่าคำสั่งและข้อบังคับ รวมเป็นเงินจำนวน 1,791,657.48 บาท ดังนี้
และยังมีการเบิกจ่ายโดยเจ้าหน้าที่มีพฤติการณ์ น่าเชื่อว่า อาจมีการทุจริต 1,446,749.10 บาท ดังนี้
นอกจากนี้ ยังมีการเบิกขอเงินงบประมาณตามข้อมูลประมาณการ ไม่ได้ขอเบิกตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง อาทิ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นต้น ขณะที่ กทม.และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รวบรวมเอกสารหลักฐานการประกอบการเบิกจ่ายล่าช้า
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลที่ปรากฎอยู่ในรายงานการตรวจสอบของ สตง. ที่ปรากฎออกมา ส่วนจะเป็นธรรมต่อ กกต.หรือไม่ คงต้องให้สาธารณชนเป็นผู้ตัดสิน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนในขณะนี้ และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือ เงินงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 3.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชน ที่เสียหายไปจากการจัดการเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. 57 ที่ถูกศาลตัดสินว่าเป็นโมฆะ
เวลาผ่านไปพ้นเป็นปีแล้ว ก็ยังไม่สามารถหาตัว "ผู้รับผิดชอบ" ได้
แม้กระทั่ง "เงา" ก็ไม่เคยเห็น