logo isranews

logo small 2

ผลสอบเลือกตั้ง2ก.พ.เหลว! กกต.รวยจัด จ้างทำโปรแกรมนับคะแนน 8.8 ล. ใช้ครั้งเดียวทิ้ง?

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 14 พฤษภาคม 2558 เวลา 12:25 น.
เขียนโดย
isranews

"...สำนักงาน กกต. ได้จัดจ้างทำโปรแกรมประมวลผลการเลือกตั้ง โดยทำสัญญาจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวร ในวงเงินค่าจ้างจำนวน 8,800,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการให้ประชาชนได้รับทราบผ่านช่องทางการนำเสนออกอากาศของสถานีโทรทัศน์และสื่อมวลชนแขนงอื่น อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า โปรแกรมการเลือกตั้งดังกล่าวถูกใช้งานเพียงครั้งเดียวไม่มีการเก็บรักษาหรือพัฒนาเพื่อการใช้งานในการรายงานผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป.."

oyteeeddddxcc

กำลังจะกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง! สำหรับประเด็นการจัดการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 ภายหลังจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา และถูกศาลตัดสินให้โมฆะ ซึ่งส่งผลทำให้เงินจำนวน 3.8 ล้านบาท ที่ถูกใช้จ่ายไป สูญเปล่าโดยไร้ประโยชน์

เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกเมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 ออกมาแล้ว ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบข้อมูลต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สตง.ได้ทำหนังสือแจ้งไปถึงรัฐบาล รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อแสดงความห่วงใยต่อการใช้จ่ายเงินแผ่นดินในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบชดใช้เงินแผ่นดินที่เสียหายไปคืนกลับมาด้วย 

โดยผลการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ สตง.สรุปผลออกมาเป็นทางการแล้วนั้น พบปัญหาสำคัญในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งงบประมาณที่สูงเกินความเป็นจริง การใช้เงินในขั้นตอนต่างๆ ที่ส่อว่าจะมีปัญหาไม่ชอบมาพากล บางรายการถึงขึ้นมีการทุจริตของเจ้าหน้าที่

(อ่านประกอบ : สตง.สรุปผลใช้เงินเลือกตั้ง 2 ก.พ. เหลว! กกต.ตั้งงบเกินจริง 282ล.-จนท.ทุจริต 17 ล.)

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลสำคัญที่ปรากฎอยู่ในรายงานการสอบสวน และชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.อย่างชัดเจน คือ "การจัดหาวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง"

โดย สตง. สรุปผลข้อมูลการตรวจสอบส่วนนี้ ใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1.เอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งและผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ใช้ข้อมูลจำนวนครัวเรือนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ทำให้การจัดทำเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้สูญเสียงบประมาณโดยไม่คุ้มค่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด 6 จังหวัด ที่ตรวจสอบ คำนวณมูลค่าความเสียหายได้จำนวน 3,977,899.55 บาท

2. การจัดหาหีบบัตรเลือกตั้งและคู่เลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด 6 จังหวัด ที่ตรวจสอบ เป็นการจัดหาจากผู้ประกอบการที่มีที่ตั้งในกรุงเทพมหานครทุกจังหวัด

3. การจัดจ้างทำโปรแกรมประมวลผลการเลือกตั้งได้มีการใช้งานเพียงครั้งเดียว โดยไม่มีการเก็บรักษาหรือพัฒนาเพื่อการใช้งานในการรายงานผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ทั้งนี้ ในประเด็นที่ 1 และ 2 ที่ปรากฎอยู่ในรายงานสอบสวนของ สตง. ดังกล่าว จะมีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกในโอกาสต่อไป

แต่ในส่วนของประเด็นที่ 3 สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า สำนักงาน กกต. ได้จัดจ้างทำโปรแกรมประมวลผลการเลือกตั้ง โดยทำสัญญาจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวร ในวงเงินค่าจ้างจำนวน 8,800,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการให้ประชาชนได้รับทราบผ่านช่องทางการนำเสนออกอากาศของสถานีโทรทัศน์และสื่อมวลชนแขนงอื่น

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า โปรแกรมการเลือกตั้งดังกล่าวถูกใช้งานเพียงครั้งเดียวไม่มีการเก็บรักษาหรือพัฒนาเพื่อการใช้งานในการรายงานผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป

และที่สำคัญที่สุด ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในวันที่ 30 มี.ค.57 ก็มีค่าจ้างจัดทำโปรแกรมประมวลผลการเลือกตั้งอีกจำนวน 8 ล้านบาท

สำหรับรายละเอียดการดำเนินงานส่วนนี้ จะมีเบื้องหลังเบื้องหลังอะไรซ้อนเร้นแอบแฝงอยู่หรือไม่ เจ้าหน้าที่ สตง.กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนช่วงเชิงลึกเพิ่มเติมอยู่ และคงจะมีการรายงานผลให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบเพิ่มเติมอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้

ส่วน "ใคร" จะปรากฎรายชื่อเป็นผู้รับผิดชอบต่อกรณี โปรแกรมรายงานผลการเลือกตั้งที่ถูกใช้งานไม่คุ้มค่ากับงบประมาณเป็นล้านบาทที่เสียหายไปในครั้งนี้บ้าง

โปรดติดตามต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด!