กว่าจะถึงวันนี้ 23 ปี พฤษภา กับอนุสาวรีย์วีรชน
วันนี้เมื่อ 23 ปีที่ผ่านมา การต่อสู้บนท้องถนนระหว่างประชาชนผู้รักประชาธิปไตยกับกลุ่มอำนาจนิยมได้ขยายตัวและปะทุอย่างรุนแรง ด้วยการปราบปรามประชาชนผู้ชุมนุมอยู่บนถนนราชดำเนิน สะพานผ่านฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสาแยกคอกวัว หน้ากรมประชาสัมพันธ์ (เดิม) หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ และท้องสนามหลวง ยังผลให้เกิดความสูญเสียนับร้อยทั้งเสียชีวิต และหายสายสูญ บาดเจ็บหลายพันคน พิการจำนวนมาก ประชาชนผู้ต่อสู้ด้วยสองมือเปล่าและยึดมั่นในหลักอหิงสาถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวแพร่หลายไปทั่วโลกในภายในไม่กี่ชั่วโมง
ความรุนแรง ความสูญเสีย ความหาญกล้า และความรักชาติ รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรมของประชาชานถูกถ่ายทอด และบันทึกผ่านบทกวี วรรณกรรม บทเพลง ภาพถ่าย และภาพยนตร์จำนวนมาก หนึ่งในจำนวนนั้นคือบทกวีที่ทรงพลัง ของ กวีซีไรท์ จีระนันท์ พิตรปรีชา ที่ชื่อว่า “ฝนแรก”
ฝนแรกเดือนพฤษภา รินสายมาเป็นสีแดง
ฝนเหล็กอันรุนแรง ทะลวงร่างเลือดพร่างพราว
หลั่งนองท้องถนน เป็นสายชลอันขื่นคาว
แหลกร่วงกี่ดวงดาว และแหลกร้าวกี่ดวงใจ
บาดแผลของแผ่นดิน มิรู้สิ้นเมื่อวันใด
อำนาจทมิฬใคร ทะมึนฆ่าประชาชน
เลือดสู้จะสืบสาย ความตายจะปลุกคน
วิญญาณจะทานทน พิทักษ์เทิด ประชาธรรม
ฝนแรกแทรกดินหาย ฝากความหมายความทรงจำ
ฝากดินให้ชุ่มดำ เลี้ยงพืชกล้า ประชาธิปไตย
เป็นที่ชัดแจ้ง และถือเป็นความชอบธรรมของญาติวีรชนผู้เสียสละ และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย จะได้ร่วมกันแสดงความคารวะต่อวีรกรรมที่ได้ส่งผลกระเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองประชาธิปไตยจวบจนถึงปัจจุบัน การจัดกิจกรรมรำลึกถึงวีรกรรมในอดีต จึงมิใช่เป็นการ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” หากแต่เป็นการระลึกถึงความกล้าหาญ และความเสียสละของวีรชน และเป็นอุทาหรณ์อันดีให้กับสังคมประชาธิปไตยที่ต้องพัฒนาคืบหน้าต่อไป
ตัวเลขการสูญเสียในเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 17-21พฤษภาคม 2535 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 44 ราย สูญหาย 38 ราย (ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ให้การรับรอง) พิการ 11 ราย บาดเจ็บสาหัส 47 ราย และบาดเจ็บรวม 1,728 ราย ทั้งที่ในความเป็นจริง จะเป็นตัวเลขที่สูงกว่านี้มาก จนเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการเรียกขานว่าเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการจัดงานรำลึกในปีที่ 5 (เมื่อปี 2540) ได้มีมติและรณรงค์ให้มีการเรียกชื่อเหตุการณ์ใหม่ว่า “พฤษภาประชาธรรม” ด้วยเหตุที่วีรกรรมของประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ถือเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่ประชาชนยึดหลักสันติวิธี ใช้เพียงสองมือเปล่าเข้าต่อสู้กับอำนาจอธรรม ที่กระทำการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงด้วยกำลังอาวุธ ธรรมะที่อยู่ในจิตใจของประชาชนจึงเป็นพลัง เป็นอาวุธสำคัญในการผลักดันจนได้รับชัยชนะเหนืออำนาจอธรรม “พฤษภาประชาธรรม” จึงมีความหมายในทางสร้างสรรค์ และบ่งบอกชัยชนะของขบวนการประชาชนมากกว่าความรู้สึกเคียดแค้นชิงชังและเจ็บปวด
เหตุการณ์พฤษภา 35: ประวัติศาสตร์ภาคประชาชน
“เรามิอาจปฏิเสธได้เลยว่า เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยภาคประชาชน นัยยะของประวัติศาสตร์เดือนพฤษภาที่ดำรงอยู่ และดำเนินมาจึงผูกพันกับขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทังในแง่ที่เป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ในการต่อสู้ เป็นชัยชนะของภาคประชาชน หรือกระทั่งเป็นความทรงจำอันมีค่า และเป็นต้นทุนในการต่อสู้แสวงหาประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ทั้งนี้เรามิอาจหยิบยกประวัติศาสตร์ประชาชนที่เกิดขึ้นต่างกรรม ต่างวาระ มาเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่เหนือกันและกันได้ เพราะประวัติศาสตร์ประชาชน เป็นประวัติศาสตร์ที่ต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีดจากอำนาจรัฐ เป็นการเรียกร้องความยุติธรรมให้บังเกิดขึ้นในสังคม แม้บางครั้งจะชนะ บางคราวจะพับพ่ายปราชัย แต่อุดมการณ์ที่เป็นหลักนำของการต่อสู้เป็นสิ่งที่มิเคยตายตามทั้งยังเป็นภารกิจของอนุชนคนรุ่นหลังที่ต้องสืบสานและขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ประชาชนให้บรรลุเป้าหมายต่อไป” นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้บันทึกไว้ในงานเขียนชิ้นหนึ่งของเขาขื่อ “หมายเหตุ 9 ปี พฤษภาประชาธรรม”
ประวัติศาสตร์ได้ถูกบันทึกเอาไว้แล้วว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2535 ได้มีการปราบปรามผู้ร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม 2535 ทำให้เกิดเหตุการณ์นอเลือดที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สาเหตุเริ่มจากที่คณะก่อการรัฐประหารอันประกอบด้วยกลุ่มนายทหารได้โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในปี 2534 ต่อจากนั้นได้แต่งตั้งคณะบริหารบ้านเมืองชั่วคราวโดยอยู่ภายใต้ความดุแลของ “สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่จัดตั้งโดยคณะผู้นำการรัฐประหาร ในปีต่อมา มีการเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปตามที่ผู้นำการรัฐประหารได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ และประชาชนต่างคาดหวังให้มีการบริหารบ้านเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตยอีกครั้ง แต่แล้วพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำคณะ รสช. กลับยึดอำนาจ แล้วก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ขัดต่อความต้องการของประชาชนในขณะนั้น ทั้งยังผิดต่อคำสัตย์ที่พลเอกสุจินดาได้ให้ไว้ก่อนการจัดตังรัฐบาลว่าจะไม่รับตำแหน่งดังกล่าว ประชาชนที่โกรธแค้นเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และเหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นสูงสุดระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 มีการเดินขบวนประท้วงอยู่ทุกหนทุกแห่งในกรุงเทพมหานคร โดยมีมวลชนจำนวนหลายหมื่นคนเข้าร่วมเดินขบวนเรียกร้องอย่างสันติให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวโดยสันติกลับถูกกองกำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงและเหี้ยมโหด ผู้เดินขบวนหลายร้อยคนที่ชุมนุมกันอยู่ที่ถนนราชดำเนินถูกยิงเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บสาหัส ประชาชนจำนวนหนึ่งคันรถถูกทหารระดมยิงใส่และเผารถ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าไม่มีผู้รักประชาธิปไตยคนใดจะคิดหลบหนี ทั้งยังมีผู้เห็นการลำเลียงศพขึ้นรถบรรทุกของทหารนำไปยังที่ใดไม่มีใครทราบ
การกระทำที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมจนเกินขอบเขตได้รับการบันทึกโดยองค์การสิทธิมนุษยชนสากลอย่างน้อยสองแห่งดังนี้
“ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2535 มีผู้ประท้วงหลายแสนคนมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งประกาศตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งที่เป็นการสวนทางกับคำสัตย์ที่กล่าวไว้ ให้ลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 17 พฤษภาคม 2535 หลังจากที่การหารือระหว่างรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มเหลว ฝ่ายค้านจึงมารวมตัวครั้งใหม่ คราวนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยตอบโต้ด้วยกำลัง และเริ่มยิงกระสุนใส่ผู้เดินขบวน การปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 52 ราย ผู้บาดเจ็บอีกนับร้อย และผู้สูญหายอีกมากที่ไม่ทราบจำนวนและชะตากรรม (คาดว่ามีตัวเลขอยู่ระหว่าง 69-200 กว่าคน) รัฐบาลไม่มีความพยายามที่จะใช้สันติวิธีในการสลายผู้ชุมนุม นอกจากการปราบปรามแล้วยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ อันได้แก่ การใช้กำลังความรุนแรงอย่างเกินเหตุอันสมควรและไม่จำเป็น การฝ่าฝืนความเป็นกลางทางการแพทย์ ทั้งยังอาจมีการเคลื่อนย้ายคนโดยไม่มีการสอบถามหรือชันสูตรอย่างเหมาะสม” (Human Rights Watch, www.hrw.org)
ในขณะที่ Amnesty International บันทึกไว้ว่า
“การแต่งตั้งพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 เมษายน 2535 เป็นชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองแบบฉับพลันที่สุดในรอบสองทศวรรษในประเทศไทย มีการเดินขบวนประท้วงหลายครั้งของกลุ่มต่อต้านกองทหารที่ยังคงยึดอำนาจในกระบวนการทางการเมืองของไทย และเหตุการณ์ได้รุนแรงถึงขีดสุดเมื่อมีการปราบปรามโดยกองกำลังความมั่นคงในวันที่ 17-20 พฤษภาคม ที่กรุงเทพมหานคร เอกสารทางการขอรัฐบาลรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 52 คน ผู้ได้รับบาดเจ็บ 696 คน และอีก 175 คน “สูญหาย” ในระหว่างเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงนี้ แต่แหล่งข่าวอย่างไม่เป็นทางการระบุว่ามีจำนวนผู้สูญหายมากกว่านี้” (Amnesty International, Thailand: The Massacre in Bangkok, October 1992)
หลังเหตุการณ์พฤษภา 50 วัน คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ก็ได้ก่อตั้งขึ้น โดยการรวมบรรดาญาติของวีรชนผู้เสียชีวิต พิการ และสูญหาย เข้าด้วยกัน ทั้งหมดกว่าร้อยครอบครัว โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ คือ
1.เพื่อฟื้นฟู และสร้างขวัญ กำลังใจในหมู่ญาติของวีรชนผู้เสียชีวิต พิการ และสูญหาย อันเป็นผลจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535
2.เพื่อเรียกร้องให้มีการนำศพหรืออัฐิของผู้สูญหาย หรือที่เสียชีวิตมาประกอบพิธีฌาปนกิจตามสมควร
3.เพื่อเรียกร้องให้มีการเปิดเผยผลการสอบสวนเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ตามสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะในความดูแลของหน่วยงานราชการ
4.เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนในการให้ความช่วยเหลือแก่ญาติซึ่งสูญเสียผู้เป็นที่รักไป
นับแต่นั้นเป็นต้นมา คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และไม่ย่อท้อ ภายใต้การนำของผู้นำที่เข้มแข็งอย่าง นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนฯ ซึ่งสูญเสียบุตรชายในเหตุการณ์พฤษภา 35 และ นางสาวกรองกาญจน์ สืบสายหาญ เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนฯ ซึ่งสูญเสียน้องชายในเหตุการณ์ดังกล่าว แม้จะไม่ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ก็มีความชอบธรรมอย่างสูงในการเชิดชูเกียรติภูมิของวีรชนประชาธิปไตยผู้ได้เสียสละ และต่อสู้เพื่อความถูกต้องให้ได้รับความเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 มีภารกิจหลักสองด้านด้วยกัน ภารกิจด้านหนึ่งคือการเข้าร่วมกับเครือข่ายองค์การประชาธิปไตยและองค์กรประชาชน เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของขบวนการประชาชนเดือนพฤษภา 35 อันเป็นเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างการเมืองของภาคประชาชน การเมืองที่เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้าถึงอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะทุกๆ ด้าน และอำนาจในการร่วมกำหนดชะตากรรมของชาติและสังคม ส่วนภารกิจอีกด้านหนึ่ง นั้นมุ่งหมายชำระประวัติศาสตร์เดือนพฤษภาโดยเฉพาะ
ภารกิจการฟ้องร้องดำเนินคดีกับบรรดาแกนนำ รสช. ไม่สามารถดำเนินการนำคนผิดที่สั่งการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมได้ ด้วยข้ออ้างจากศาลว่ามีการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายไปแล้ว แต่คณะกรรมการญาติวีรชนฯ ในฐานะผู้เสียหายโดยตรงยังไม่ล้มเลิกความพยายาม ยังถือเป็นภารกิจสำคัญซึ่งมิใช่การแก้แค้นทางการเมืองหรือการฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่เพื่อสร้างบรรทัดฐานและเป็นหลักประกันป้องกันการกระทำรัฐประหารในอนาคตให้กับการเมืองไทย คนผิดที่ลงมือโดยแอบอ้างอำนาจรัฐจะต้องถูกลงโทษตามหลักนิติธรรม นอกจากนี้คดี รสช. ยังท้าทายกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทยว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ก็เข้าข่ายกรอบกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยการกระทำความผิดแล้วลอยนวล ด้วยการที่ผู้มีอำนาจได้ออกมาตรการ รวมทั้งกฎหมาย (เช่น พรบ. นิรโทษกรรม) เพื่อลบล้างความผิดให้กับตนเอง (Impunity) ซึ่งเป็นความห่วงใยและอยู่ในความสนใจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเพื่อรับรองธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศไว้เมื่อปี 2543 แล้ว แต่ยังมิได้ให้สัตยาบัน
ภารกิจการผลักดันการจัดสร้างอนุสรณ์สถาน 17-20 พฤษภาคม 2535 ความพยายามในการผลักดันการจัดสร้างอนุสรณ์สถานให้กับวีรชนในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่เฉพาะเหตุการณ์เดือนพฤษภาเท่านั้น นับเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานและวกวน อีกทั้งยังสะท้อนถึงเบื้องลึกทางตรรกะของภาครัฐที่มีความคิดอคติที่ฝังใจว่าอนุสรณ์สถานจะเป็นสัญลักษณ์ของความแตกแยก ทำให้สังคมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การเรียกร้องอนุสรณ์สถานวีรชนเดือนพฤษภาแม้จะเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ แต่ก็เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องผลักดันเพื่อเชิดชูรำลึกถึงวีรกรรมของวีรชน และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่งอกงามเบ่งบานในสังคมไทย เพื่อให้บรรลุภารกิจ จึงได้มีการทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ขึ้นเพื่อดำเนินการตามภารกิจนี้ โดยมี รศ.ดร. โคทม อารียา เป็นประธานกรรมการ
ภารกิจในการผลักดันให้มีการติดตามค้นหาผู้สูญหาย หลังจากการปราบปรามมีผู้สูญหายไปเป็นจำนวน 38 ราย (ตามข้อมูลตัวเลขที่กระทรวงมหาดไทยให้การรับรอง) ไม่ว่าคนเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม การค้นหานี้มิใช่ภารกิจของญาติ เท่านั้น หากแต่เป็นภารกิจร่วมของรัฐบาลและสังคมไทยที่จะต้องช่วยกันสืบค้นติดตาม เพราะคนหายเหล่านี้ถูกกระทำด้วยเหตุผลทางการเมือง มิใช่เหตุพิพาทส่วนบุคคล ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ชองเขาเหล่านั้นพึงได้รับการคุ้มครอง แม้จะเสียชีวิต หรือเหลือเพียงเถ้ากระดูกก็สมควรนำมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแม้คุณค่าที่ยิ่งใหญ่จะถูกเรียกขานเป็นวีรชนผู้กล้าไปแล้วก็ตาม
อนึ่ง คณะทำงานคนหายของสหประชาชาติ (UNWGEID) ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ได้รับข้อร้องเรียนกรณีคนหายในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ทั้ง 38 ราย ไว้ในสารบบของการตรวจสอบ ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ในการรายงานความคืบหน้าให้กับคณะทำงานเป็นระยะๆ แต่ที่ผ่านมา 23 ปี แทบจะไม่มีความคืบหน้าใด ๆ และประการสำคัญรัฐบาลได้แสดงเจตจำนงด้วยการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 และคาดว่าจะมีการให้สัตยาบันเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ภายในปีนี้
ภารกิจในการเรียกร้องค่าชดเชยให้กับผู้เสียชีวิตบาดเจ็บ และสูญหายจากเหตุการณ์ แม้ในสมัยของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จะมีการจ่ายค่าสงเคราะห์ไปแล้วก็ตาม แต่ค่าสงเคราะห์นั้นก็เปรียบเสมือนแค่ค่าทำขวัญ หรือเงินบรรเทาทุกข์เนื่องจากภัยธรรมชาติ จึงไม่ถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อชีวิต และร่างกายของประชาชนที่ถูกกระทำโดยตรงจากอำนาจรัฐ การจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ถูกกระทำจากอำนาจรัฐ จึงเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญอันหนึ่งว่า สิทธิและศักดิ์ศรีของประชาชนในสังคมนั้นๆ จะเป็นเพียงวาทกรรม คำขวัญ หรือลมปากของผู้ปกครองประเทศเท่านั้นหรือไม่
ภารกิจในการผลักดันให้มีการบันทึกประวัติศาสตร์พฤษภา ประวัติศาสตร์ประชาชนลงในหลักสูตรการเรียนการสอน ความเป็นไปทางการเมืองการปกครองนั้นแยกไม่ออกจากสาระในระบบการศึกษา ซึ่งร้อยรัดและเชื่อมโยงกัน การสร้างสังคมที่มีวุฒิภาวะ มีทิศทางและดุลยภาพที่ดี บริบททางสังคมทุกส่วนจะต้องตอบสนองซึ่งกันและกัน การบันทึกประวัติสาสตร์ เช่นเดียวกับเหตุการณ์สำคัญทางสังคมการเมืองอื่น ๆ เช่นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ลงในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งที่สำคัญ และท้าทายวิสัยทัศน์การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปสังคม การเมืองของชาติว่าจะสำเร็จหรือไม่
คุณูปการของเหตุการณ์ พฤษภา 2535 ต่อสังคมไทย คือ
- การปิดฉากบทบาทของเผด็จการอำนาจนิยม ที่ไม่เพียงครอบงำสังคมการเมืองไทยอย่างเบ็ดเสร็จแล้วยังผูกขาดชี้นำชะตากรรมของชาติ โดยไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชนแต่อย่างใด การทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความพยายามของกลุ่มอำนาจเก่าบางกลุ่มในกองทัพ ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือยึดอย่างเอาอำนาจ เพื่อกลับเข้ามามีบทบาทเหนือสังคมการเมืองไทย ภายหลังจากที่ถูกเบียดขับโดยกลุ่มอำนาจใหม่หรือกลุ่มทุนธุรกิจ
- การปฏิรูปการเมืองในความหมายของการจัดระเบียบ และปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองใหม่นั้น ไม่ควรมุ่งเพียงแค่การล้มเลิกการผูกขาดทางการเมืองของกลุ่มอำนาจเก่า หรือเพียงเพื่อประตูรัฐสภาต้อนรับอำนาจทุนจนเป็นสนามต่อรองและประนีประนอมผลประโยชน์กันอย่างสันติระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ หรือทุนธุรกิจการเมืองเท่านั้น แต่เจตจำนงของวีรชนและขบวนการประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2535 เรื่อยมา นั้น ได้สะท้อนเห็นถึงสาระสำคัญของ “รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง” (2540) ที่มุ่งหมายสร้างพื้นที่ทางการเมืองให้ภาคประชาชนคนยากคนจนโดยตรง มิใช่ผ่านตัวแทนทางเดียวเหมือนดังที่ผ่านมา รวมทั้งการกระจายอำนาจทางการเมืองไปยังท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ
- เหตุการณ์พฤษภา 2535 จึงเป็นการจุดพลุให้กับการเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองนอกสภาให้ได้รับการยอมรับ และมีฐานะความชอบธรรมทางการเมืองเทียบเท่าและถ่วงดุลกับการเมืองในทำเนียบหรือในรัฐสภา เพราะนัยยะของ “การเมืองภาคประชาชน” นั้นมิใช่แค่ปัญหาปากท้องหรือเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่มุ่งที่การเข้าถึงอำนาจในการกำหนดชะตากรรม และการจัดสรรทรัพยากรของชาติ ของสังคมเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามท่ามกลางสถานการณ์ที่มีการสัประยุทธ์ทางการเมืองระหว่างทุนธุรกิจการเมืองกับกลไกอำนาจนิยมราชการในเครื่องแบบ ก็เป็นระยะผ่านที่องค์กรภาคประชาชนจะต้องฝ่าข้ามไปให้ได้ในกระแสความขัดแย้ง และการจัดความสัมพันธ์ในเรื่องผลประโยชน์ และดุลยภาพทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
- การรัฐประหารสองครั้งภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีนัยยะที่สะท้อนให้เห็นถึงขั้วอำนาจที่แกว่งไปมา อำนาจทุนธุรกิจ กับอำนาจระบบราชการ ผลัดกันคุมอำนาจ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่าได้ประโยชน์มากขึ้นเท่าใดนัก ชีวิตกลับยากเย็นแสนเข็ญมากกว่าเดิม ถือเป็นวิกฤตทางสังคม เศรษฐกิจ สังคม ที่หนักหน่วง มีความซับซ้อน การปฏิรูปการเมืองไม่บรรลุผล นักการเมืองขาดคุณภาพ และคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการนำพาประเทศสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนา การคอรัปชั่นโกงกิน กระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า และพัฒนารูปแบบไปถึงระดับนโยบาย การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอยู่ในสภาพชะงักงัน ไม่สามารถเดินหน้าได้ตามความคาดหวัง กลับเข้าสู่วัฎจักรการเมืองแห่งความชั่วร้าย (Vicious Circle)
- สรุปว่าผลผลิตในเบื้องต้นในที่นี้คือ รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาชนมากขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนธุรกิจซึ่งมีทั้งผู้ได้ประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ (เกษตรกร ขาวไร่ ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน คนยากคนจน ประชาชนทั่วไป) ที่อยากจะได้ “ประชาธิปไตยที่กินได้” (แก้ไขปัญหาปากท้องได้) และประโยชน์เป็นกอบเป็นกำ (ส่วนใหญ่จะเป็นตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนอุตสาหกรรม ทุนสื่อสารและโทรคมนาคม และทุนภาคการบริการขนาดใหญ่) นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 ยังเปิดโอกาสให้
>> มีกลไกอิสระในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากขึ้น เช่น ศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น
>> ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ได้มาก แต่บ่อยครั้งไม่ค่อยมีผลในทางปฏิบัติเนื่องจากปัญหากฎหมาย และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ตอบสนอง มีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติ 2542 มีการจัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งปรก และมีมติคณะรัฐมนตรีรับรองเมื่อเดือนตุลาคม 2543 มีการร่วมลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ปลายปี 2543 เป็นต้น
>> ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่วมเสนอกฎหมาย และเสนอญัตติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบหรือกฎหมายลูกที่หยุมหยิม สร้างเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดการใช้สิทธิที่พึงได้ตามรัฐธรรมนูญ
>> ชนชั้นกลางมีการเติบโตมากขึ้น เข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารมากยิ่งขึ้น
>> ชนชั้นล่าง ยังไม่ค่อยเติบโตเท่าที่ควร เพราะบางส่วนยังติดกับดักของนโยบายประชานิยม ขณะที่บางส่วนก็มีการเลื่อนฐานะจากชนชั้นล่างขึ้นมาเป็น ชนชั้นกลางใหม่ มากขึ้น
>> ญัตติสาธารณะ มีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยการผ่านกลไกสื่อสาธารณะที่เสรีมากขึ้น
คณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามผู้สูญหายและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535
ผลจากการรณรงค์เรียกร้องของคณะกรรมการญาติพฤษภา 35 ด้วยความมุ่งมั่นในความยุติธรรม โดยการสนับสนุนของเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยทั้งในประเทศและระดับสากล ทำให้รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามผู้สูญหายและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ขึ้นโดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมการ อาทิ เช่น ท่านอดีตผู้พิพากษา สวัสดิ์ โชติพานิช ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี พล.อ. สายหยุด เกิดผล ศาสตราจารย์คณิต ณ นคร และ ดร. กฤตยา อาชวนิชกุล และได้จัดทำข้อเสนอการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อย นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และมีมติชัดเจนในหลายประเด็น เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้กระทำความรุนแรงต่อประชาชนจนเกิดการสูญเสีย บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
ส่วนข้อเสนอเรื่องการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกลับดำเนินการที่ขัดแย้งและผิดเงื่อนไขจากข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระฯ ที่ต้องการสร้างบรรทัดฐานในเรื่องการช่วยเหลือและเยียวยาความสูญเสียอันเนื่องมาจากการกระทำของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังมีมติให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดงานรำลึกวัน “พฤษภาประชาธรรม” ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่วนราชการและผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมจัดงานในวันดังกล่าวในทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
อนุสาวรีย์พฤษภาประชาธรรม: อีกก้าวย่างหนึ่งเพื่อความยุติธรรม การเยียวยา และการปรองดอง
การได้มาซึ่งอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภาประชาธรรม ซึ่งจะถือเป็นตำแหน่งแห่งที่ทางประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย ในวันนี้ ต้องผ่านเส้นทางที่คดเคี้ยวเลี้ยวลด เต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคขวากหนามในเกือบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นของมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม โดยการนำของ ดร. โคทม อารียา คุณปรีดา เตียวงศ์สุวรรณ์ อาจารย์ชัยยงค์ อัฌชานนท์ อาจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คุณรสนา โตสิตระกูล ฯลฯ ร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และกัลยาณมิตรจากองค์กรภาคประชาชน นิสิตนักศึกษา ศิลปินประชาธิปไตย สถาปนิก และวิศวกรออกแบบโครงสร้าง สภาทนายความ องค์กรสิทธิมนุษยชน กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ บุคลากรในภาครัฐที่รักความเป็นธรรม ทำให้ภารกิจนี้มีความคืบหน้าเป็นอย่างดี การก่อสร้างตัวอนุสาวรีย์เสร็จสิ้นลงเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยศิลปินผู้ออกแบบคือ อาจารย์ประโภชน์ อุปอินทร์ ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้านี้
บทสรุป
17 พฤษภาคม 2558 จึงเป็นวันที่บรรดาญาติพี่น้อง บุตร ธิดา และครอบครัวของผู้สูญเสียจากความรุนแรง ได้รอคอยมายาวนาน โดยเฉพาะการจัดสร้างอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภาประชาธรรม แม้เป็นเพียงการเริ่มต้นและเป็นรูปเป็นร่างขึ้น หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปถึง 23 ปี วันนี้จึงเป็นวันที่มีความหมายหมายอย่างยิ่งสำหรับเขา เพราะนี่คือหนึ่งในมาตรการการเยียวยา ทั้งทางจิตใจ และทางสังคม ถือเป็นเกียรติที่วีรชนได้รับการยอมรับให้เป็นผู้มีคุณูปการต่อสังคมประชาธิปไตยของไทย มีคุณูปการต่อการก่อรูปรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ปฏิเสธไม่ได้ว่าวีรกรรมพฤษภาคม 2535 มีคุณูปการต่อการสร้างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพื่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การจัดตั้งองค์กรควบคุมแลตรวจสอบคลื่นความถี่ เช่น กสทช. และมีคุณูปการต่อการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสื่อ และจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อสาธารณะ ร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชนและสังคม ที่เริ่มต้นจาก ไอทีวี จนมาเป็นไทยพีบีเอสในปัจจุบัน
17 พฤษภาคม 2558 จึงเป็นวันที่บรรดาญาติพี่น้อง บุตร ธิดา และครอบครัวของผู้สูญเสียจากความรุนแรง จะได้ทำพิธีบรรจุเถ้ากระดูกของวีรชนผู้เสียชีวิตไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภาประชาธรรม
อย่างไรก็ดี การสถาปนาให้วันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันพฤษภาประชาธรรม การจัดกิจกรรมรำลึกวีรชนเป็นประจำทุกปี การจัดสร้างอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภาประชาธรรม จึงถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาเพื่อความยุติธรรม ภารกิจที่ยังไม่บรรลุ ก็คือการการเยียวยา ชดเชยค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาสที่เขาพึงจะได้รับอย่างเป็นธรรม ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระฯ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2546 รวมทั้งภารกิจในการผลักดันให้รัฐค้นหาผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 อย่างเต็มที่ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วถึง 23 ปี แต่ญาติพี่น้องของผู้สูญหายทั้งหลายก็มีสิทธิที่จะได้รับรู้ความจริงว่าญาติพี่น้องของเขาเหล่านั้นหายไปไหน ญาติของผู้สูญหายยังคงหวังว่าสักวันคนรักเขาจะกลับมาสู่อ้อมกอด แต่หากเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เขาขอร้องในลำดับสุดท้ายก็อาจเป็นเพียงเถ้ากระดูกที่จะขอกลับคืนมาทำพิธีทางศาสนาตามประเพณีเท่านั้นเอง
ดังนั้น รัฐ (ไม่ว่ายุคสมัยใด) จึงต้องแสดงความจริงใจ โดยการแสดงความเสียใจ และกล่าวขอโทษวีรชนและญาติวีรชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงอันน่าละอายใจที่เกิดขึ้นในอดีต และเร่งไขความจริงให้เป็นที่ปรากฏ เร่งค้นหาผู้สูญหายอย่างจริงจัง และ เยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ นี่จึงจะเป็นแบบอย่างของการปรองดองที่เป็นรูปธรรมได้ดีที่สุด อย่าให้ญาติพี่น้องของวีรชนเหล่านี้ต้องรอคอยความยุติธรรมไปยาวนานกว่านี้อีกเลย เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว ความล่าช้าของความยุติธรรม ถือเป็นความ “อยุติธรรม” นั่นเอง
พร้อมกันนี้ เราขอร่วมสดุดีวีรกรรมพฤษภาประชาธรรม มา ณ โอกาสอันสำคัญนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของวีรชนจะได้รับการสานต่อเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่พึงปรารถนา และความหวังของพี่น้องในคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จะได้บรรลุซึ่งมรรคผลโดยสมบูรณ์ ในเร็ววัน.