อดีต 310 ส.ส.งานเข้า! ป.ป.ช.ลุยสอบต่อปมดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯแล้ว
“วรชัย-อดีต 310 ส.ส.”งานเข้า! ป.ป.ช. มีมติลุยสอบต่อปมเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แล้ว เหตุขัด รธน.ปี’50 มาตรา 122, 3, 4, 5 ขัดอนุสัญญาสหประชาชาติด้านต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 ส่งผลเสียหายต่อประเทศอย่างร้ายแรง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ไต่สวนข้อเท็จจริง นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมพวก (อดีต ส.ส.) รวม 310 คนกรณีเสนอและให้การรับรองร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวาระที่ 1 และในวาระอื่น ๆ
โดยกรณีนี้ มีผู้ร้องเรียนมายัง ป.ป.ช. กล่าวหานายวรชัย และพวกว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยร่วมกันเสนอร่างและให้การรับรองร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. ในวาระที่ 1 และวาระอื่น ๆ ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีหลักการและเหตุผล ตลอดจนเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 122 มาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 รวมถึงขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อประเทศอย่างร้ายแรงต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2556 ก่อนที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2558 ได้มีมติไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เคยกล่าวถึงกรณีนี้ว่า ป.ป.ช. ตีตกประเด็นในส่วนของการถอดถอน แต่เรื่องทางอาญาควรไต่สวนต่อเพื่อให้ได้ความจริงว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญขณะนั้น และขัดกับกฎหมาย ป.ป.ช. หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว ถูกประชาชนหลายฝ่าย รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ขณะนั้น) ออกมาคัดค้านการนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเชื่อว่าหากผ่านการพิจารณา จะเอื้อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกคำพิพากษาศาลจำคุก 2 ปี และหนีคดีอยู่ต่างประเทศ กลับเข้ามาประเทศไทยได้
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งหมด 7 มาตรา มีสาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 3 และ 4 ว่าด้วยการละเว้นโทษให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองหรือแสดงออกทางการเมือง ที่ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นผลกระทบต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน และสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคล ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค. 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการกระทำผิดโดยสิ้นเชิง ถึงแม้จะอยู่ระหว่างการต้องคำพิพากษาหรือการรับโทษ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงทั้งหมด
อ่านประกอบ : “วิชา”รับกลางสภา! ลุยไต่สวนคดีอาญา 310 ส.ส.ดันพ.ร.บ.นิรโทษฯต่อ