กสม.-UNHCR เสนอแก้ไขปัญหาลี้ภัยชาวโรฮีนจา
วันที่ 15 พฤษภาคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ สนับสนุนรัฐบาลในการช่วยเหลือชาวโรฮีนจา และดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแรงร้าย
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาผู้อพยพ ชาวโรฮีนจาว่า หลังสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศร่วมประชุมทั้งหมด 15 ประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว เพื่อหาแนวทางร่วมกันระหว่างรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหา รายละเอียดปรากฏตามที่เป็นข่าวนั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเดินหน้าไปในกรอบและทิศทางที่จะปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ในการนี้ กสม.เห็นสมควรต่อแนวทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนี้
1.กสม.ขอสนับสนุนรัฐบาลที่เล็งเห็นความสำคัญ และเอาจริงเอาจังต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การค้ามนุษย์ รวมถึงการช่วยเหลือการลี้ภัยของชาวโรฮีนจา ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับหลายบริบทและหลายมิติในสังคม อย่างเป็นรูปธรรม รวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel , Inhuman or Punishment)
2. กสม.ขอสนับสนุนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีนโยบายในการเร่งดำเนินการปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์ อีกทั้งดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว และรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณชนให้รับทราบ
3. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการเร่งรัดให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค อาทิ ประเทศที่ได้รับผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อร่วมกันหาแนวทางการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งผิดกฎหมายและละเมิด สิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงให้หมดสิ้นไป
4. ขอให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาการลี้ภัยชาวโรฮีนจา โดยให้ความช่วยเหลือ และประสานความร่วมมือกับประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์การสหประชาชาติเพื่อดำเนินมาตรการ ด้านมนุษยธรรม และพิจารณาจัดตั้งที่พักพิงชั่วคราว ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการ ควรคำนึงถึงการป้องกันและยุติความรุนแรงทางเพศในสถานที่พักพิงชั่วคราว รวมทั้งการกำหนดให้มีมาตรการคุ้มครองสำหรับผู้หญิงและเด็กเป็นการเฉพาะด้วย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยินดีให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนข้อมูลต่างๆ ต่อรัฐบาลและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการร่วมกันสร้างสังคมที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปราบปรามการค้ามนุษย์จะสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ภายใต้การบริหารในรัฐบาลชุดปัจจุบัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ด้าน UNHCR ได้ร้องขอความร่วมมือจากรัฐบาลต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ช่วยเร่งปฏิบัติการค้นหา และช่วยชีวิตผู้อพยพที่ถูกปล่อยทิ้งกลางทะเลเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย และได้รับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดย UNHCR พร้อมให้ความช่วยเหลือทันทีหากต้องการ
สำหรับประเทศไทย UNHCR ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
- ระยะเร่งด่วน โดยการให้สิ่งของบรรเทาทุกข์ เช่น ชุดสุขอนามัย เสื้อผ้า ผ้าห่ม
- คืนครอบครัว คือ สัมภาษณ์เพื่อช่วยตามหาคนในครอบครัวที่พลัดพรากจากกันระหว่างลี้ภัย เพื่อให้ได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง โดยอาศัยเครือข่ายของ UNHCR ในประเทศอื่นๆ ในการช่วยกันเช็ครายชื่อ
- แก้ไขถาวร คือ ช่วยให้ชาวโรฮินจาได้ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3
- คุ้มครองเด็ก UNHCR มอบชุดการศึกษาแก่เด็กๆ อเป็นการคุ้มครองเด็ก และให้เขาได้รับพัฒนาสมอง และใช้ชีวิตได้เป็นปกติเหมือนเด็กคนอื่นๆในวัยเดียวกันมากที่สุด
ประเทศพม่า UNHCR ได้รณรงค์มาอย่างยาวนาน และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยตระหนักถึงสิทธิของทุกฝ่าย การปรองดอง ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมือง
ประเทศมาเลเซีย UNHCR ให้ความคุ้มครองต่อชุมชนชาวโรฮินจา โดยเข้าเยี่ยมเยียนพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ และช่วยผู้อพยพทางเรือให้ได้รับการปล่อยตัวจากศูนย์กักกัน นอกจากนี้ UNHCR ยังให้การสนับสนุน โครงการฝึกอาชีพ การพัฒนาชุมชน กิจกรรมเสริมสร้างทักษะ และโครงการการศึกษาให้กับชุมชน ผู้ลี้ภัย โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ UNHCR ได้อยู่บนเกาะลังกาวีเพื่อเข้าพบกับหน่วยงานท้องที่และได้ทำงาน ร่วมกับทางรัฐบาลเพื่อมอบความช่วยเหลือ
ประเทศอินโดนีเซีย UNHCR ได้ส่งทีมงานไปที่เมืองโลห์กสุกนทางตอนเหนือของเขตอาเจะห์เพื่อร่วมมือกับทางรัฐบาล ในการสัมภาษณ์กลุ่มคนที่ถูกช่วยชีวิตโดยกองทัพเรืออินโดนีเซียเพื่อมอบความคุ้มครองให้กับผู้เดินทาง
ประเทศบังคลาเทศ UNHCR ทำงานร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ให้ความคุ้มครองทางกฎหมาย สนับสนุนด้านอาหารและสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงการให้การศึกษา สร้างที่พักพิงและการอบรมวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ลี้ภัยสามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป