รมว.เกษตรฯ แจงแผนฟื้นฟูรายย่อยสหกรณ์ฯ คลองจั่น ปล่อยกู้ไม่เกิน 5 หมื่น/ราย
‘ปีติพงษ์’แจงละเอียดยิบแผนเยียวยาเหยื่อเครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จัดทำแผนฟื้นฟูสหกรณ์ใกล้แล้วเสร็จ ปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภค ดำเนินคดีผู้กระทำผิด ระบุรัฐบาลไม่ขัดข้องตั้งหน่วยงานกลางดูแล หากระบบดีกว่าปัจจุบัน สร้างมาตรฐานผู้ตรวจสอบภายในเข้มแข็ง รายงานผลทุกเดือน
วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณากระทู้ถาม เรื่อง การแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่งถามโดยนายนิเวศน์ นันทจิต สมาชิก สนช. โดยตั้งคำถาม 3 ข้อว่า 1.รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือไม่ 2.รัฐบาลมีมาตรการกำกับดูแลและตรวจสอบความมั่นคงของกิจการสหกรณ์ในภาพรวมทั่วประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวอย่างไร 3.รัฐบาลมีนโยบายในการจัดตั้งองค์การกลางขึ้นเพื่อกำกับดูแลระบบสหกรณ์ทั้งประเทศอย่างไร
นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.เกษตรฯ) ชี้แจงว่า ภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการสหกรณ์และตั้งสหกรณ์เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย โดยบัดนี้เป้าหมายที่จะส่งแผนฟื้นฟูดังกล่าวครั้งแรกวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 และสามารถเลื่อนส่งแผนได้ 2 ครั้ง ซึ่งไม่น่าจะเกิน 7 กันยายน 2558 ต้องแล้วเสร็จ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดตั้งบุคลากรกลุ่มหนึ่งเพื่อช่วยสหกรณ์ในการบริหารจัดทำแผนฟื้นฟู
“ความช่วยเหลือในเรื่องกฎหมายและแนะนำปกติ ศาลมีคำสั่งให้เป็นเรื่องของกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” รมว.เกษตรฯ กล่าว และว่าส่วนการฟื้นฟูเป็นภาระของคณะกรรมการดำเนินการแผนฟื้นฟูร่วมกับกรมบังคับคดี
นายปีติพงษ์ ยังกล่าวถึงการเยียวยาแก่สมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับความเดือดร้อนว่า จากสมาชิกที่มีความเดือดร้อนทั้งหมดจะมีกลุ่มสมาชิกรายย่อยฝากเงินไม่เกิน 10,000 บาท/คน เป็นเงิน 42 ล้านบาท กลุ่มสมาชิกร่ำรวยนำเงินมาฝากเพื่อหวังได้รับดอกเบี้ยประมาณ 2,000 คน เป็นเงิน 8 พันล้านบาท และกลุ่มสหกรณ์ 76 แห่ง นำเงินไปฝาก 7.5 พันล้านบาท นอกจากนั้นเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องขณะนี้
ทั้งนี้ นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการจัดทำแผนฟื้นฟู ต้องมุ่งเน้นการแก้ปัญหากลุ่มคน 29,000 ราย ซึ่งเป็นรายเล็กรายน้อย ผู้เฒ่าผู้แก่ และผู้เยาว์ อย่างไรก็ตาม คณะผู้จัดทำแผนได้ยื่นร้องต่อศาล 2 เรื่อง คือ ขอให้กู้เงินเพื่อเยียวยาสมาชิก และจ่ายเงินฝากคืนแก่สมาชิกที่มีหนี้ไม่เกิน 10,000 บาท/คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด โดยศาลพิจารณาเรื่องการจ่ายคืนให้แก่สมาชิกเป็นการประกอบธุรกิจปกติของสหกรณ์จึงให้อยู่ในดุลยพินิจของสหกรณ์
ส่วนการจ่ายคืนเงินฝากแก่สมาชิก นายปีติพงษ์ ระบุว่า ศาลไม่อนุมัติ แต่ให้ผู้จัดทำแผนบรรจุไว้ในแผนฟื้นฟูของกิจการสหกรณ์ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ฝากรายเล็กจะได้รับความสำคัญมากที่สุดในแผนฟื้นฟู ซึ่งสหกรณ์ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม และมีผลอนุมติให้สหกรณ์จ่ายเงินกู้แก่สมาชิกเยียวยาในเบื้องต้นก่อนศาลอนุมัติได้หรือไม่ ดังนี้
1.การให้เงินกู้แก่สมาชิกเป็นสินเชื่อพิเศษเพื่อการบริโภค สำหรับวงเงินกู้ไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าองค์รวมกับเงินฝาก แต่ไม่เกินรายละ 50,000 บาท แบ่งจ่าย 5 เดือน ๆ ละเท่ากัน สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 5,000 บาท ให้จ่ายเต็มจำนวน อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 6 ต่อปี งวดชำระ 22 งวด ชำระทุกวันที่ 10 ของเดือน โดยเดือนที่ 1-3 ชำระเฉพาะดอกเบี้ย
“เริ่มจ่ายเงินกู้แล้วรอบแรกเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 และจะมีรอบต่อไป โดยจะโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารธนชาตและธนาคารอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อไป”
2.การดำเนินคดีกรณีทำให้สหกรณ์เสียหาย กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมบัญชีสหกรณ์ได้ช่วยเหลือ แนะนำ ติดตาม ให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่เสียหายจากผู้กระทำผิด โดยเป็นคดีแพ่ง 5 คดี ทุนทรัพย์ 16,041 ล้านบาท และคดีอาญาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการ 4 คดี ซึ่งคดีเหล่านี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ
'ปีติพงษ์' ติงระบบสหกรณ์บริหารคล้ายการเมือง
รมว.เกษตรฯ ยังตอบคำถามรัฐบาลมีมาตรการกำกับดูแลและตรวจสอบความมั่นคงของกิจการสหกรณ์ในภาพรวมทั่วประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวว่า รัฐบาลพยายามหามาตรการป้องกันในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น ได้สั่งการให้ออกมาตรการต่าง ๆ เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ แต่ที่สำคัญ คือ การแก้ไขกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งจะแก้ปัญหาในการตรวจสอบหน่วยงาน ทั้งในเรื่องความถี่และระบบการตรวจสอบ
“สมัยก่อนจะส่งคนเพียง 2 คน ไปตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจต้องใช้กำลังกับคนที่กระทำผิดกฎหมาย โดยขอกำลังจากฝ่ายความมั่นคงช่วยดูแลเรื่องเหล่านี้” นายปีติพงษ์ กล่าว และว่า จะทำให้ผู้ตรวจสอบภายในของสหกรณ์เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และขณะนี้มีระเบียบกำหนดต้องรายงานผลทุกเดือน จากเดิมทุกครึ่งปี หรือปีละครั้ง ส่วนผู้ตรวจสอบบัญชีถ้ามีชั้นกำหนดได้ชัดเจน สหกรณ์แห่งไหนมีความเสี่ยงก็จะดำเนินการได้ดีขึ้น
รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ในการแก้ไขระเบียบต่าง ๆ ขณะนี้ได้ตรวจสอบและทำประชาพิจารณ์แล้ว พร้อมเสนอไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะพิจารณาเร็ว ๆ ในเรื่องแก้ไขเพิ่มบทลงโทษ เพิ่มอำนาจนายทะเบียนสหกรณ์ เพิ่มวิธีการตรวจสอบระเบียบและข้อบังคับ ซึ่งค่อนข้างประสบปัญหา นอกจากนี้ข้อเสนอเข้าสู่ระบบเครดิตบูโร กำลังคิดอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไร พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ระบบบริหารจัดการสหกรณ์คล้ายการเมืองมากเกินไป
รบ. ไม่ขัดข้องตั้งหน่วยงานกลางดูแลระบบสหกรณ์
ส่วนรัฐบาลจะมีนโยบายจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาดูแลระบบสหกรณ์ทั้งประเทศหรือไม่ นายปีติพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่พูดมานานตั้งแต่สมัยรับราชการอยู่ ซึ่งขณะนั้นมีความพยายามนำเรื่องดังกล่าวเข้าไปให้กระทรวงการคลังดูแล แต่เกิดปัญหาขัดข้องจึงไม่ค่อยอยากรับดำเนินการ อย่างไรก็ตาม โดยปกติกระทรวงเกษตรฯ อยู่กับสหกรณ์มานาน และมีวิธีกำกับดูแลของหน่วยงานอยู่แล้ว หากมีการเสนอตั้งใครขึ้นมาช่วยดูแลวินัยทางการเงินก็ยินดี ถ้าระบบที่เสนอดีกว่าปัจจุบัน
“กระทรวงเกษตรฯ มีความชำนาญในด้านการดูแลสหกรณ์การเกษตรหรือสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรโดยตรง ส่วนสหกรณ์ประเภทอื่นคงแล้วแต่ข้อเสนอจัดตั้งหน่วยงานกลางจะเป็นอย่างไร” รมว.เกษตรฯ กล่าว และเน้นย้ำว่า รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ไม่มีข้อขัดข้องประการใด หากมีข้อเสนอที่ดีในการจัดการธรรมาภิบาลไว้ในหน่วยงานกลางแห่งใดก็ได้ตามความเหมาะสม
นายปีติพงษ์ ยังตอบคำถามถึงข้อกังวลกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์จะมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ในการดำเนินการกับสหกรณ์ที่มีมากถึง 8 พันแห่ง แบ่งเป็นสหกรณ์ชั้นดี ร้อยละ 37 ที่เหลือเป็นสหกรณ์ชั้นกลางและพอใช้ ระบุว่า มีความเชื่อจะสามารถปรับปรุงได้ แต่ต้องมีแผนงานชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการแล้วและกำลังดำเนินการอยู่ โดยให้แต่ละชั้นพัฒนาได้มากน้อยเพียงใดตามแผนงานที่กำลังอยู่ระหว่างจัดทำ คาดว่าจะเสร็จในอีก 1-2 เดือน
“ปัญหาหนี้เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นคิดเป็นร้อยละ 2 ของเงินฝากในระบบ มีทุนดำเนินการของสหกรณ์ทั้งหมดราว 2.25 ล้านล้านบาท เงินฝาก 7.7 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า หากไม่ดำเนินการในลักษณะลูกโซ่ ไม่มีทางกระทบภาพรวม” รมว.เกษตรฯ ระบุ .