จุดยืนป.ป.ช.ในรธน.ใหม่! ศูนย์กลางป้องปรามทุจริต-จี้บทบาทสมัชชาคุณธรรมให้ชัด
จุดยืน ป.ป.ช. ต่อรัฐธรรมนูญใหม่! ยันต้องมีความเป็นอิสระไร้การแทรกแซง ศูนย์กลางบูรณาการป้องปรามทุจริต จี้กำหนดบทบาทสมัชชาคุณธรรมไม่ให้ทับซ้อน ป.ป.ช. สรรหาต้องตามปี’50
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นการแถลงจุดยืนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้แถลง
----
สืบเนื่องจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคีโดยให้สัตยาบันและมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ในข้อ 36 ได้กำหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐในการต่อต้านการทุจริต ต้องมีลักษณะ ดังนี้
1.ต้องมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงใดๆ
2.มีความชำนาญพิเศษในด้านการต่อต้านการทุจริต
3.ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับการฝึกอบรมที่เหมาะสมและได้รับทรัพยากรที่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ อนุสัญญาได้วางมาตรการและกฎเกณฑ์เพื่อให้การต่อต้านการทุจริตมีประสิทธิภาพ
โดยให้ดำเนินการในด้านต่างๆ ประกอบด้วย (1) การป้องกันการทุจริตทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน (2) การกำกับดูแลคุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (3) การดำเนินคดีความผิดอาญาและความผิดทางวินัย (4) การริบและติดตามทรัพย์สินคืน (5) การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ (6) การดำเนินการอย่างบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น เพื่อให้การยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงการยกร่างกฎหมายอื่นใด ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต จึงสมควรดำเนินการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนี้
1.องค์กรใดๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ต้องมีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และใช้กระบวนการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น ใช้ระบบไต่สวน
2.คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีบทบาทและความรับผิดชอบในภารกิจทั้ง 3 ด้าน คือ การป้องกันการทุจริต การปราบปรามการทุจริต และการตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตสามารถเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ แต่สำหรับภารกิจด้านการป้องกันการทุจริต อาจไม่จำเป็นต้องกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับผิดชอบทั้งหมด ควรคงบทบาทให้เป็นผู้กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ ทิศทาง ผู้สนับสนุน ติดตามประเมินผล การเสนอมาตรการ ความเห็น ข้อเสนอแนะในการต่อต้านการทุจริตต่อคณะรัฐมนตรี ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และองค์กรอื่นๆ ในการต่อต้านการทุจริต
3.คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยรับผิดชอบและเป็นศูนย์กลางการบูรณาการเพื่อความคุ้มค่าของงบประมาณ ลดความซ้ำซ้อน
4.คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอ โดยจัดสรรเป็นวงเงินในรูปแบบร้อยละของวงเงินงบประมาณประจำปี เช่น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.3
5.ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลคุณธรรมและจริยธรรมของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 74 วรรค 4 วรรค 5 วรรค 6 และมาตรา 253 ทำให้เกิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการถอดถอนเพิ่มขึ้นคือคณะกรรมการการเลือกตั้งและสมัชชาคุณธรรม ล้วนมีอำนาจในการส่งเรื่องให้รัฐสภาถอดถอนได้ จึงควรกำหนดขอบเขตของแต่ละองค์กรให้ชัดเจน
6.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 247 (7), (8) ดังนี้
(7) ดำเนินการตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต
(8) ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
7.แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 261 โดยให้ใช้องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา แบบเดิม ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คือ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
8.ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 205 การตรวจสอบนโยบายการคลังและงบประมาณของรัฐควรกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยเฉพาะในชั้นของการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้
9.ควรตัดบทบัญญัติใน มาตรา 255 (3) ของร่างรัฐธรรมนูญออก ในเรื่องที่กำหนดให้มีกรรมการสามฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายอื่น ซึ่งมีจำนวนฝ่ายละเท่ากัน เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง