หวั่นทำผิดซ้ำ! “ครูหยุย”ตั้งกระทู้ถาม “บิ๊กต๊อก”ปมลดโทษผู้ต้องหาคดีร้ายแรง
หวั่นออกมาทำผิดซ้ำซาก! “ครูหยุย” ตั้งกระทู้ถาม “บิ๊กต๊อก” ปมกรมราชทัณฑ์ลดหย่อนโทษให้ “ผู้ต้องหาเด็ดขาด” ปล่อยตัวก่อนกำหนด หลังถูกสังคมวิจารณ์ขรม ยันส่งผลเสียต่อนักโทษชั้นดี
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เรื่องการพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ โดยขอให้ตอบในที่ประชุม สนช. ในวันที่ 15 พ.ค. 2558
โดยนายวัลลภ ระบุว่า ตามที่กรมราชทัณฑ์ได้นำมาตรการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุกมาใช้นักโทษเด็ดขาดนั้น ทำให้แต่ละปีมีนักโทษเด็ดขาดได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดตามคำพิพากษาเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้สังคมโดยรวมกังวลว่านักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจะดำเนินชีวิตอย่างไร จะกระทำความผิดซ้ำและสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนอีกหรือไม่
ทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตและเกิดความกังวลใจว่าเหตุใดผู้ที่กระทำความผิดอาญาอย่างร้ายแรง ไม่เกรงกลัวกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และกระทบความรู้สึกของผู้คนในวงกว้าง จึงได้รับการปล่อยตัวหลังจากจำคุกในระยะเวลาไม่นาน ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า นักโทษที่ได้รับการพิจารณาให้ปล่อยตัวมีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ กรมราชทัณฑ์ใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณา มีการทบทวนหรือปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาหรือไม่
ความสงสัยและไม่เข้าใจของสังคมในการทำงานของกรมราชทัณฑ์ ที่ไม่เพียงจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกรมราชทัณฑ์เท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลให้นักโทษที่มีความประพฤติดี ปฏิบัติตนตามกฎ ระเบียบ ของเรือนจำที่มีความก้าวหน้าในการฝึกอบรม พร้อมที่จะประกอบอาชีพสุจริต ไม่ได้รับโอกาส หรือการยอมรับจากผู้คนในสังคมในการที่จะดำเนินชีวิตใหม่ และกลับมากระทำความผิดซ้ำได้
กรมราชทัณฑ์สมควรที่จะชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทราบว่าเหตุใดในแต่ละปีจึงมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังจำนวนมาก และการปล่อยตัวผู้ต้องขังนั้น ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ คุณสมบัติ และเงื่อนไขในการพิจารณาที่มีมาตรฐาน และสอดส่องความประพฤติของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ เพื่อสร้างการยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นของสังคมต่องานราชทัณฑ์
จึงขอเรียนถามว่า
1.กรมราชทัณฑ์มีการกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุกหรือไม่ ประการใด
2.กรมราชทัณฑ์มีมาตรการติดตามและสอดส่องดูแลความประพฤติของนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ ประการใด
หมายเหตุ : ภาพประกอบ กรมราชทัณฑ์ จาก thairath