องค์กรวิชาชีพสื่อเสนอตัดคำว่า “สวัสดิการ” ในม. 49 วรรคท้าย ร่างรธน.ฉบับปฏิรูป
องค์กรวิชาชีพสื่อ ระดมความเห็นเนื้อหาร่างรธน. ที่เกี่ยวข้อง จี้ปรับคำ “สวัสดิการ” เป็น “สวัสดิภาพ” ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคท้าย หวั่นตอบคำถามสังคมไม่ได้
วันที่ 14 พฤษภาคม องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดประชุมระดมความเห็นผู้บริหารสื่อและบรรรณาธิการ เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน โดยเฉพาะมาตรา 48 มาตรา 49 และมาตรา 50 ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวถึงทิศทางการทำกฎหมายปฏิรูปสื่อ ยึดยุทธศาสตร์ เสรีภาพบนความรับผิดชอบ การป้องกันการแทรกแซงจากรัฐและทุน และการกำกับ กำกับกันเอง การกำกับโดยภาคประชาชน และองค์กรกำกับดูแลที่มีอำนาจทางกฎหมาย
“การทำกฎหมายหลักๆ มี 3-4 ฉบับ กฎหมายอันแรกคือเรื่องต่อเนื่องมาจากคราวก่อนที่เคยมีการผลักดันและยังไม่ผ่านออกมา เช่น กฎหมายสภาวิชาชีพสื่อมวลชน กฎหมายโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ นอกจากนั้นเสนอปรับปรุงกฎหมายข้อมูลข่าวสาร 2540 เพื่อให้เป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะ สังคมโปร่งใส สื่อ ประชาชนเข้าถึงได้”นายวสันต์ กล่าว และว่า ขณะเดียวกันก็จะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการผูกขาด ครอบงำ แทรกแซง ซึ่งยังไม่มีกฎหมายออกมา ก่อนหน้านั้นมีแค่ระเบียบหรือประกาศของกสทช.จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมา ดูเรื่องการครอบครองสิทธิข้ามสื่อ การเทคโอเวอร์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งต้องมีความชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน
ขณะที่นายภัทระ คำพิทักษ์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงการประชุมล่าสุดขององค์กรวิชาชีพสื่อช่วงที่ผ่านมา เห็นด้วยที่ควรมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำ ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคท้าย ที่ระบุว่า “ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนตามมาตรา 48 ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภภาพตามมาตรา 48 และคุ้มครองสวัสดิการของบุคคลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง” จากคำว่า “สวัสดิการ” เป็น “สวัสดิภาพ” แทน หรือไม่ก็ตัดออกไป รวมถึงอาจเสนอให้มีการตัดการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนออก และให้นำไปไว้ในกฎหมายลูก จากนี้องค์กรสื่อมวลชนจะทำจดหมายส่งถึงสปช. เพื่อให้สปช.นำไปแปรญัตติต่อไป
“เรื่องการบรรจุคำว่า สวัสดิการ ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชนอาจถูกตั้งคำถามจากสังคม อาชีพเราสำคัญอย่างไรถึงต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ อาชีพเดียว แต่หากเปลี่ยนเป็น คำว่า สวัสดิภาพ อาจครอบคลุม และนิ่มนวลกว่า หรือไม่”
ด้านนางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและนโยบายสื่อ ศูนย์ศึกษาจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายสื่อ สถาบันอิศรา กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคท้าย ที่ระบุว่า “ …พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภภาพตามมาตรา 48” ตอนนี้ยังไม่น่าห่วง แต่จะน่าห่วงตอนไปลงกฎหมายในรายละเอียด แม้มีเจตนาดีที่จะปกป้องผู้ที่เสียหายจากการกระทำของสื่อ แต่จะปกป้องในลักษณะไหน รวมถึงการนำอำนาจไปใช้
“ส่วนในมาตรา 49 วรรคท้าย คำว่า สวัสดิการ และสวัสดิภาพ สองคำต่างกัน ไม่เหมือนกัน หากรัฐธรรมนูญใช้คำสวัสดิการ วันนี้วิชาชีพสื่อมวลชนเป็นฐานันดรที่ 4 หรือไม่ หากไม่ใช่เหตุใดต้องมีสวัสดิการแตกต่างจากอาชีพอื่น ท่านกำลังเขียนเพื่อให้เกิดเป็นช่องว่าง และเราต้องตอบคำถามสังคมให้ได้”
ทั้งนี้ นางสาวสุวรรณา กล่าวด้วยว่า องค์กรสื่อมวลชนจะกำกับกันเองโดยปราศจากบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยดูแลไม่ได้แล้ว แต่สัดส่วนจะเป็นเท่าไหร่ต้องมาพิจารณากัน สำหรับแนวคิดการกำกับดูแลสื่อขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป อาจมีกฎหมายมาตัดตั้งสภา ซึ่งจะเข้ามาเป็นร่มใหญ่ ดูแลสภาเล็กๆ หรือไม่ หรืออาจเป็นการกำกับดูแลร่วม
"ประเด็นปัญหาของสื่อมวลชนวันนี้เราอาจกำกับดูแลสมาชิกกันเองไม่ได้ ดังนั้นจึงมีความพยายามนำขั้นตอนที่ 3 เข้ามา โมเดลที่ 1. มีกฎหมายมาบังคับให้จัดตั้งสภา คล้ายกับสภาวิชาชีพวิศวกรรม สภาวิชาชีพบัญชี ให้ทุกคนต้องไปสังกัด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสื่อ หรือตัวผู้ประกอบวิชาชีพ ก็ว่าไป ส่วนโมเดล 2 ออกกฎหมายเพื่อรับรองว่า ใครมีคุณสมบัติครบถ้วนมาจดแจ้ง ก็ให้การรับรองสภาวิชาชีพเหล่านี้ เป็นสภา ซึ่งแตกต่างกันที่วิธีการคิด"
นอกจากนี้ ในที่ประชุมระดมความเห็นอย่างกว้างขวางในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน โดยเฉพาะมาตรา 49 วรรคท้าย รวมถึงแนวคิดการกำกับดูแลกันเอง การกำกับดูแลด้วยการมีกฎหมาย ให้มีองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน เสมือนมีร่มใหญ่ มีกลไกกำกับกันเอง 3 ขั้น ซึ่งทางองค์กรวิชีพไม่ค่อยเห็นด้วย ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุป โดยเฉพาะอาจขอให้ตัด “พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภภาพตามมาตรา 48” ในมาตรานี้ออกหรือไม่