“ศุภกิจ”ซี9สรรพากรคดีโกงภาษีไม่รอด! ก.คลัง สั่งลงโทษไล่ออก ขรก.แล้ว
“ศุภกิจ”ซี 9 สรรพากรคดีโกงภาษี 3.2 พันล. ไม่รอด อ.ก.พ.กระทรวงคลัง มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ให้ลงโทษไล่ออกจากราชการแล้ว เผยเบื้องหลังประชุมกว่า 49 ครั้งก่อนลงดาบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในช่วงเช้าวันที่ 14 พ.ค.58 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยความคืบหน้าผลการสอบสวนข้าราชการกรมสรรพากรที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)หลายพันล้านบาท อย่างเป็นทางการ
โดยระบุว่า อ.ก.พ.กระทรวงการคลัง ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างแรงงานของกระทรวงการคลัง ให้ลงโทษไล่ออก นายศุภกิจ ริยะการ หรือ นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ ออกจากราชการแล้ว
ทั้งนี้ ในเอกสารแถลงข่าวกระทรวงการคลัง ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค.58 กระทรวงการคลัง ได้ประชุมพิจารณาความผิดของ นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ หรือชื่อเดิมว่า นายศุภกิจ ริยะการ สรรพากรพื้นที่นราธิวาส กรมสรรพากร เดิมเคยดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่กรุงเทพฯ 22 ในกรณีประพฤติมิชอบในเรื่องการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามคำสั่งกระทรวงการคลังให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.56 และตามคำสั่งคณะกรรมการสอบสวนวินัย วันที่ 22 ส.ค.56
ฐานความผิดของ นายสิริพงศ์ ที่คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวน ตั้งแต่กระทรวงการคลังมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 ส.ค.56 ถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมดได้ประชุมกันถึง 49 ครั้ง ประกอบด้วย
1. ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย
2.ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3. ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
4. ฐานละเว้นการกระทำหรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
จากการสอบสวนอย่างละเอียดของคณะกรรมการฯ รับฟังได้เป็นที่ยุติ ว่าได้มีกลุ่มบริษัทที่ประกอบกิจการส่งออกโลหะ และแร่โลหะ ที่เพิ่งจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 30 ราย ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม และขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในเขตท้องที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กทม. 22
ซึ่งกลุ่มบริษัททั้ง 30 รายนี้ มีชื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้น เป็นบุคคลซ้ำๆ กัน และใช้ที่ตั้งในการจดทะเบียนเป็นสถานประกอบการซ้ำกัน แต่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง และยังพบว่ากลุ่มบริษัททั้ง 30 รายนี้ ได้มีการซื้อสินค้าจากผู้ขายซ้ำรายกันจากบริษัทผู้ขาย 6 ราย ซึ่งก็ได้ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ากลุ่มบริษัททั้ง 6 ราย มีการประกอบการจริง
ทั้งนี้ บริษัทที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 30 รายนี้ ทางสำนักงานสรรพากรพื้นที่ 22 ได้มีการจ่ายคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว 25 ราย ส่วนอีก 5 ราย ได้มีการระงับการจ่าย เนื่องจากได้ปรากฎข่าวการขอคืนภาษีเป็นเท็จ โดยได้มีการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีแรก ให้กับบริษัท 25 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 339.6 ล้านบาท และหลังจากนั้นผู้ถูกกล่าวหาในฐานะสรรพากรพื้นที่ 22 ได้ อนุมัติให้คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดไปให้กับกลุ่มบริษัท ทั้ง 25 ราย อีกจำนวน 2,869.42 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นได้มีการคืนเงินภาษีให้กับผู้ประกอบการส่งออกโลหะกลุ่มนี้ที่ไม่ได้ประกอบการจริง จำนวน 3,209 ล้านบาท
คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างแรงงานของกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาได้ทำให้รัฐเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงได้เสนอ อ.ก.พ.กระทรวงการคลัง ให้ลงโทษไล่ นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ ออกจากราชการ ซึ่งอ.ก.พ.กระทรวงการคลัง ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการได้เสนอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนนายศุภกิจ ริยะการ หรือ สิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่กรุงเทพฯ 22 (บางรัก) ร่ำรวยผิดปกติ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 โดยมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุฯ ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายศุภกิจและผู้เกี่ยวข้องรวม 4 คน ไว้เป็นการชั่วคราว รวมมูลค่าประมาณ 48 ล้านบาท
สำหรับอายัดทรัพย์ ที่ถูกอายัดไว้ ประกอบด้วย
1.ของนายศุภกิจ เป็น เงินฝาก 10 บัญชี เงินลงทุน 2 แห่ง (ทุนเรือนหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ ขรก.กรมสรรพากร, หุ้นบริษัท หนองคายทรัพย์อนันต์ จำกัด) ที่ดิน 1 แปลง และยานพาหนะ 2 คัน (โตโยต้า แคมรี่, เบนซ์ E280)
2.ของนางวราภรณ์ ริยะการ (หรูจิตตวิวัฒน์) เป็น เงินฝาก 13 บัญชี ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 7 แห่ง คอนโดมีเนียม 1 แห่ง
3.ของ น.ส.ธนวรรณ ริยะการ เป็น เงินฝาก 1 บัญชี
4.ของนายกรัณย์ ริยะการ เป็น เงินฝาก 2 บัญชี ที่ดิน 2 แปลง รถยนต์ 2 คัน (โตโยต้า, ฮอนด้า)
และทรัพย์สินที่ยังไม่ปรากฏชื่อผู้ครอบครอง/ถือกรรมสิทธิ์ เป็นรถยนต์ 2 คัน (อีซูสุ, เบนซ์ E220)
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีคำสั่งให้นายศุภกิจ แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 79 ด้วย
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.อายัดทรัพย์“ศุภกิจ-พวก”คดีโกงแวต 4.3 พันล.-สอบรวยผิดปกติ, โชว์ใบหุ้น“ศุภกิจ”ซี 9 สรรพากรคดีโกงภาษี 4.3 พันล.-พวกขนเงินตั้งบริษัท 5 ล)