ฝ่ายมั่นคงกั๊กเปิด"ศูนย์"รับโรฮิงญา หวั่นซ้ำรอย 9 ศูนย์อพยพชายแดนพม่า
ข้อเสนอการเปิดค่ายรองรับผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในช่วงนี้ เพราะแม้ภาคประชาสังคมและประชาคมมุสลิมในประเทศไทย โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เคยเสนอแนวคิดนี้มานาน ถึงขั้นจะหาพื้นที่รกร้างให้ชาวโรฮิงญาได้พำนัก แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง
ทว่าคราวนี้ ผู้เสนอผ่านสื่อกลับเป็น พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
แต่แน่นอนว่าในระดับรัฐบาลซึ่งเต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญงานความมั่นคง เพราะเป็นรัฐบาลทหาร ยังคงสงวนท่าที
แนวคิดของฝ่ายความมั่นคง มองผ่านสายตาและข้อมูลของอดีตนายทหารที่รับผิดชอบงานชายแดน ชี้ชัดว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ไทยสามารถเปิดศูนย์รองรับชาวโรฮิงญาได้ แต่ต้องไม่ใช้คำว่า "ศูนย์อพยพ" หรือ "ศูนย์พักพิง" เพราะจะถูกแทรกแซงจากต่างชาติทันที องค์กรต่างๆ จะเข้ามาแสดงบทบาท สร้างผลงาน และหางบประมาณสนับสนุน
ขณะที่โรฮิงญาที่อยู่ในศูนย์ ก็จะอยู่กับเราตลอดไป ไม่ไปไหน กลายเป็นภาระที่ไทยต้องแบกรับ เหมือนเมื่อครั้งที่ไทยตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าเมื่อกว่า 20 ปีก่อน
ในทางความมั่นคง การตั้งศูนย์พักพิงหรือศูนย์อพยพ ถือเป็น "ปัจจัยดูด" คือ ดูดการแทรกแซงจากต่างชาติเข้ามา และยังดูดผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
กระนั้นก็ตาม จากการประมวลข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง พบว่า การตั้งศูนย์รองรับชาวโรฮิงญา มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดี ได้แก่
O สามารถรวบรวมชาวโรฮิงญาที่หลบหนีกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ นำมารวมอยู่ในสถานที่นี้ ไม่ต้องไปฝากขังตามห้องกักของ ตม. (ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง) ซึ่งคับแคบ มีปัญหาเรื่องสถานที่ และง่ายต่อการหลบหนีหรือแทรกแซงจากขบวนการค้ามนุษย์
O เมื่อตั้งศูนย์ ก็สามารถจัดระเบียบชาวโรฮิงญาได้ เช็คยอดได้ ทำทะเบียนได้ว่ามาจากไหน เข้าไทยมาได้อย่างไร จ่ายเงินให้ใคร ช่วยให้สามารถจัดการเครือข่ายค้ามนุษย์ได้ง่ายขึ้น
ส่วนข้อเสียหรือข้อควรระวังก็คือ องค์กรต่างประเทศจะเข้ามาหาผลงาน และเป็นการประจานสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ทั้งนี้ ข้อเสนอของฝ่ายความมั่นคงที่ยืนยันมาตลอด คือ ถ้าจะตั้งศูนย์รองรับ ต้องไม่เรียก "ศูนย์อพยพ" หรือ "ศูนย์พักพิง" แต่อาจใช้คำว่า "ศูนย์รวบรวม" เพราะไม่อย่างนั้นจะมีสภาพเหมือนชายแดนไทย-เมียนมาร์ ซึ่งมีศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจากหม่าอยู่ 9 ศูนย์ มีผู้หนีภัยอยู่กว่า 1 แสนคน ผ่านมากว่า 30 ปีแล้วก็ยังอยู่ที่เดิม
ทั้งๆ ที่ข้อตกลง ณ เวลานั้นให้ใช้คำว่า "พื้นที่พักพิงชั่วคราว" แต่พอถึงเวลาจริงๆ กลับอยู่ถาวร หาเจ้าภาพมารับผิดชอบไม่ได้เลย
ข้อควรระวังอีกข้อหนึ่ง คือ การกำหนดพื้นที่ตั้งศูนย์ ก็มีสำคัญไม่น้อย โดยต้องไม่อยู่ใกล้ชายแดน เพราะเข้า-ออกง่าย ข้อเสนอให้ใช้เกาะ ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่เห็นด้วย เพราะจะยิ่งเป็น "ปัจจัยดูด" สุดท้ายจะถูกโรฮิงญายึดเกาะ
นอกจากนั้น สถานะของโรฮิงญา ไทยต้องยืนยันสถานะเดิม คือ "ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย" แล้วขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อย ก่อนเร่งดำเนินการผลักดันออกไป ไม่อย่างนั้นจะบานปลายเป็นภาระและเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงจากต่างชาติเหมือนกับศูนย์พักพิงฯ 9 ศูนย์ริมชายแดนไทย-พม่า
สถานที่ตั้งศูนย์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชน หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำโดยพลการ
กรณีม้งลาวที่บ้านห้วยน้ำขาว อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่มีการลักลอบเข้าเมือง แล้วพยายามจะตั้งเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว มีการปลูกกระต๊อบกันเต็มไปหมด จำนวนประชากรม้งตอนนั้นมีกว่า 7,800 คน กว่าจะแก้ปัญหาได้ด้วยการส่งกลับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต้องใช้เวลาหลายปี
สำหรับปัญหาแทรกซ้อนที่ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลอย่างมากก็คือ จากความหละหลวมของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้โรฮิงญากระจายอยู่ทั่วประเทศ เมื่อครั้งที่มีการจับกุมล็อตใหญ่ก่อนหน้านี้ ก็มีมติสภาความมั่นคงแห่งชาติให้ผลักดันออกไป ปรากฏว่าตำรวจตรวจค้นเข้าเมืองนำไปปล่อยไว้ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อให้โรฮิงญาข้ามแดนกลับไปเอง อ้างว่าเป็นการผลักดันกลับไปแล้ว แต่วันนี้โรฮิงญาก็ตั้งชุมชนอยู่ที่แม่สอด อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ด้าน พลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า สมัยเขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ไม่เคยเสนอให้มีการตั้งศูนย์พักพิงโรฮิงญาในประเทศไทย แต่มีความเห็นและข้อเสนอจากต่างชาติเข้ามาจริง สมช.ก็ทำหน้าที่ประมวลข้อดีข้อเสียเสนอรัฐบาล แล้วสุดท้ายรัฐบาลก็ตัดสินใจไม่เปิดศูนย์พักพิง เพราะปัญหาขณะนั้นเป็นเรื่องการหลบหนีเข้าเมือง และไทยยังมีศักยภาพสกัดกั้นได้
อย่างไรก็ตาม หากเทียบสถานการณ์ของปัญหาระหว่างขณะนี้กับตอนนั้น ปัจจุบันสถานการณ์การค้ามนุษย์ชัดเจนมาก ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาต้องพิจารณาตามสถานการณ์ และต้องร่วมกันกับประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะประเทศไทย ฉะนั้นคงตอบไม่ได้ว่าสมควรเปิดศูนย์พักพิงให้ชาวโรฮิงญาหรือไม่ เนื่องจากไม่มีข้อมูลในมือมากพอ
ตามดู 9 ศูนย์พักพิงฯริมชายแดนไทย-พม่า
พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่านั้น จนถึงปัจจุบันมี 9 ศูนย์ กระจายอยู่ใน 4 จังหวัด คือ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และราชบุรี เปิดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี บางแห่งเกือบ 30 ปี โดยช่วงแรกต่างชาติสนับสนุน และใช้ชื่อว่า "พื้นที่พักพิงชั่วคราว" แต่พอเปิดขึ้นจริงๆ กลับกลายเป็นพื้นที่พักพิงถาวร จนถึงปัจจุบันยังมีผู้หนีภัยจากการสู้รบอาศัยอยู่นับแสน ได้แก่
1.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จำนวน 30,673 คน
2.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก จำนวน 12,692 คน
3.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก จำนวน 15,923 คน
4.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านใหม่ในสอย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 13,548 คน
5.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ลามาหลวง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 14,425 คน
6.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ละอูน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 15,694 คน
7.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 2,248 คน
8.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี จำนวน 3,104 คน
9.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จำนวน 4,397 คน
รวม 9 แห่ง 112,704 คน เป็นชาย 54,463 คน หญิง 58,241 คน!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัว
2 แผนที่แสดงที่ตั้งพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่า จำนวน 9 แห่ง ริมชายแดนไทย-เมียนมาร์