นิเซ๊ะ นิฮะ : อำนาจพิเศษจะทำให้สถานการณ์ที่นี่ไม่จบ
"หลังจากนี้ถ้าหากมีอะไรในกระบวนซักถามในชั้น พ.ร.ก. ข้าฯ นายนิเซ๊ะ นิฮะ จะไม่ให้การใดทั้งสิ้น นอกจากยังยืนยันคำให้การเดิม ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นแก่ข้าฯ ไม่ว่าร่างกายหรือชีวิตหรือกรณีใดก็ตาม ข้าฯ ขอเขียนหนังสือนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการต่อไป”
เป็นข้อความตอนหนึ่งในจดหมายน้อยที่ นิเซ๊ะ นิฮะ เขียนจากห้องควบคุมตัวภายในศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ภายในโรงเรียนตำรวจภูธร 9 อ.เมือง จ.ยะลา ส่งถึงมือองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ และสามารถสร้างกระแสการเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง
นิเซ๊ะถูกจับกุมเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2554 จากบ้านใน ต.ตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่มีหมายจับหรือหมายเชิญตัวใดๆ มาแสดง แต่เป็นการจับที่อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ซึ่งก็คือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ที่ให้อำนาจทหารคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้เป็นเวลา 7 วัน
พอใกล้ครบ 7 วัน เขาก็ถูกตำรวจ สภ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ขอหมาย ฉฉ ซึ่งเป็นหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อควบคุมตัวต่อ ซึ่งตามกฎหมายให้ควบคุมตัวได้ 7 วัน และขอขยายเวลาได้อีกคราวละ 7 วัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 30 วัน
จุดนี้ทำให้ตัวนิเซ๊ะและญาติทำเรื่องร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งข้อมูลจากทั้งสององค์กรระบุว่า ตลอดเวลาที่ถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตั้งข้อหาอะไรกับนิเซ๊ะ และไม่ได้ซักถามเขาในประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สักเท่าไหร่เลย มีเพียงการซักถามเกี่ยวกับแนวคิดและกิจกรรมทางการเมืองที่เขาเคยเคลื่อนไหวในอดีตมากกว่า
ข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ระบุว่า นิเซ๊ะ นิฮะ จบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง เป็นปัญญาชนที่มีบทบาทในงานพัฒนาชุมชนตามวิถีชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น เคยเป็นนักกิจกรรมและเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงสมัยที่มีการชุมนุมขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (พ.ศ.2535)
การควบคุมตัว นิเซ๊ะ โดยมิได้ตั้งข้อกล่าวหาใดๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการจับกุมและควบคุมตัวโดยมิชอบ จึงมีแรงขับเคลื่อนออกแถลงการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมจากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรนักศึกษามากถึง 17 องค์กร และหนึ่งในนั้นมี "พีเอ็นวายเอส" หรือกลุ่มนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมอยู่ด้วย
จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้อยู่ที่ศูนย์ทนายความมุสลิมได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวต่อศาลจังหวัดปัตตานี และศาลได้นัดไต่สวนในวันที่ 5 ต.ค.2554 ทำให้ฝ่ายความมั่นคงชิงปล่อยตัวนิเซ๊ะก่อนถึงวันนัด (บ่ายวันที่ 4 ต.ค.) เพราะที่ผ่านมาเคยมีกรณีคล้ายๆ กันเช่นนี้ และศาลก็สั่งให้ปล่อยตัวมาแล้ว เช่น เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2554 ศาลจังหวัดปัตตานีสั่งปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวตามหมาย พ.ร.ก.จำนวน 8 คน
นอกจากนั้น ยังมีเหตุการณ์สำคัญที่ไม่ควรลืมเลือน คือการควบคุมตัวพี่น้องมุสลิมจากชายแดนใต้จำนวนมากถึง 384 คน ซึ่งถูกระบุว่าเป็น "กลุ่มเสี่ยง" ที่จะถูกชักจูงจากแนวร่วมก่อความไม่สงบ ในรูปของการส่งตัวไปฝึกอาชีพใน 3 จังหวัดนอกพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จ.ระนอง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เมื่อกลางปี 2550 กรณีนี้สุดท้ายศาลก็สั่งปล่อยเช่นกัน โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2550 แม้ฝ่ายความมั่นคงจะนำคำสั่งของแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น (พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ) ที่ห้ามบุคคลทั้ง 384 คนเข้าไปอาศัยอยู่ใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เป็นเวลา 6 เดือนมาแสดง แต่ศาลก็ยืนยันว่าเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมายรองรับ
ฉะนั้นกรณีของนิเซ๊ะ หากยังแข็งขืนต่อไปโอกาสที่จะถูกศาลสั่งซ้ำรอยเดิมย่อมสูงมาก...
กรณีของ นิเซ๊ะ นิฮะ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการต่อสู้คัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ชายแดนใต้ ณ พ.ศ.นี้ โดยเจ้าตัวตัดสินใจเข้าร่วมขบวนด้วยอย่างไม่ลังเล
"สิ่งที่ทำให้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวก็คือความรู้สึกของการเป็นประชาชนคนหนึ่ง และเคยเป็นนักเคลื่อนไหวมาก่อน ซึ่งที่ผ่านมาผมไม่ได้สนใจอะไรมากมายกับปัญหานี้ แต่เมื่อมาเจอกับตัวเอง ผมเห็นว่าอำนาจพิเศษที่ดำรงอยู่มันล้นเหลือจนเกินไป ทำให้กระบวนการใช้อำนาจมันล่อแหลมต่อการไปกดทับสิทธิของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ แล้วมิหนำซ้ำบุคลากรที่ใช้อำนาจยังไม่พยายามเข้าใจอำนาจ และพยายามไม่เข้าใจสถานการณ์ อำนาจตรงนี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ที่นี่ไม่จบ"
นิเซ๊ะ บอกว่า การออกมาเคลื่อนไหวแน่นอนว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะต้องป้องกันตนเอง แต่การปกป้องตัวเองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะไปเป็นฝ่ายรัฐก็ไม่ได้ เป็นฝ่ายขบวนการก็ไม่ได้ ฉะนั้นคนที่เจ็บปวดที่สุดคือคนที่อยู่ตรงกลาง
“ผมคาดหวังกับการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้สูงมาก ผมเชื่อว่ากฎหมายพิเศษฉบับนี้ (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ไม่ใช่แค่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หมายถึงทั่วประเทศไม่ควรนำมาใช้ ถ้าเผชิญกับอำนาจพิเศษตัวนี้ ไม่มีใครต้องการมันแน่ โดยเฉพาะถ้ายังตกอยู่ในมือคนที่ไม่เข้าใจการใช้อำนาจ"
กระนั้นก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ย่ำแย่ ก็ยังมีเรื่องดีๆ ปรากฏอยู่บ้างเหมือนกัน นั่นก็คือการพัฒนาบุคลากรของศูนย์พิทักษ์สันติ (ศูนย์ควบคุมตัวของฝ่ายตำรวจ) ที่ไม่แสดงท่าทีหรือใช้อำนาจกดดันหรือละเมิดผู้ที่ถูกควบคุมตัว
"ขอชื่นชมศูนย์พิทักษ์สันติ คือเขามีบุคคลากรที่สามารถให้กำลังใจและผ่อนคลายเราอยู่บ้าง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชนคับแค้นใจ ถึงแม้จะเป็นเพียงบุคลากรตัวเล็กๆ แต่เขากลับสร้างความหวังให้เราในวันที่เราหมดกำลังใจ ซึ่งผมขอชื่นชมในส่วนดีของเขาตรงนี้” นิเซ๊ะ กล่าว
หากยังไม่มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือปรับปรุงการบังคับใช้ให้เป็นไปตามตัวบทอย่างเคร่งครัด นิเซ๊ะคงไม่ใช่คนสุดท้ายที่ต้องตกเป็นเหยื่อกฎหมายพิเศษ!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- จาก 384 มุสลิมใต้ถึง ก.ม.ความมั่นคง...บทเรียนรัฐลุแก่อำนาจ!
http://www.oknation.net/blog/kobkab/2007/11/19/entry-1
- สั่งปล่อย 8 ผู้ถูกคุมตัวตามหมาย พ.ร.ก. - เปิดหลักเกณฑ์ใหม่ ปธ.ศาลฎีกากำหนดแนวบังคับใช้ ก.ม.พิเศษชายแดนใต้!
http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/item/1942-8.html