คุยกับปราชญ์เกษตร ปี 58 ‘ชัยพร พรหมพันธุ์’ ทำนาต้องลดต้นทุน ประกันกำไรเหนาะ ๆ
"...การปลูกข้าวอินทรีย์ 100% ยากมาก แต่หากจะเน้นผลผลิตต้องใช้วิธีเกษตรปลอดภัย เพราะให้ผลผลิตดีกว่าอินทรีย์ สามารถใช้ปุ๋ยเคมีได้ แต่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเด็ดขาด หากทำได้จะช่วยลดต้นทุนการผลิต..."
“ผมทำนามานานแล้วกว่าจะมาถึงวันนี้ จึงดีใจที่ได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน แม้จะรู้สึกกดดันเล็กน้อยก็ตาม”
‘ชัยพร พรหมพันธุ์’ หรือครูชัยพร ชาวนาแห่งทุ่งบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เจ้าของรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปี 2558 สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น บอกกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความภาคภูมิใจ ก่อนจะระบุไม่ขอรับรางวัลใด ๆ อีก เพราะการเป็นปราชญ์เกษตรถือเป็นจุดสูงสุดในชีวิตแล้ว
เขาถือเป็นศิษย์คนหนึ่งของ อ.เดชา ศิริภัทร ครูชาวนา และเป็นบุคคลต้นแบบชาวนารุ่นใหม่ในการยึดวิถีเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ทำนาด้วยสองมือแรงกาย จนสามารถก้าวสู่การเป็นชาวนาเงินล้านได้ ลบคำสบประมาท ‘ทำนาแล้วยากจน’ อย่างหมดสิ้น
โดยปัจจุบันมีพื้นที่นาของตัวเอง 108 ไร่ เช่าเพิ่มอีก 12 ไร่ เพื่อนำมาทำแปลงเพาะพันธุ์ ครูชัยพร คุยว่า ทำนาปรัง 2 ครั้ง/ปี แบ่งเป็นข้าวพันธุ์หอมปทุม พันธุ์สุพรรณบุรี 60 ซึ่งแต่ละปีได้กำไรเฉลี่ยกว่า 1 ล้านบาท เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต เพราะเราอยู่แบบพอเพียง สบายๆ ไม่โลภมาก
ชาวนาเงินล้านผู้หันมาทำนาแบบอินทรีย์ แต่เขาบอกว่า การปลูกข้าวอินทรีย์ 100% ยากมาก แต่หากจะเน้นผลผลิตต้องใช้วิธีเกษตรปลอดภัย เพราะให้ผลผลิตดีกว่าอินทรีย์ สามารถใช้ปุ๋ยเคมีได้ แต่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเด็ดขาด หากทำได้จะช่วยลดต้นทุนการผลิต นำข้าวแปรรูปขายได้จนสร้างกำไร ซึ่งถือเป็นข้าวปลอดภัยที่มีคุณภาพดีกว่าข้าววางขายทั่วไปอีกระดับหนึ่ง
เขายังแนะการลดต้นทุนสามารถทำได้หลายวิธี พร้อมกับยกตัวอย่าง หากต้องการลดปุ๋ยเคมีก็ไม่ต้องเผาฟาง แต่ปล่อยให้ฟางย่อยสลายเองกลายเป็นอินทรีย์ เลือกใช้สมุนไพรแทนการใช้สารเคมีก็ช่วยลดการเกิดศัตรูพืชได้แล้ว หรือทำนาด้วยตัวเอง แทนการจ้างแรงงาน
“เราจ้างตัวเองก็ไม่เกิดความเสี่ยง เพราะเราทำเอง ต่อให้ราคารับซื้อข้าวต่ำหรือสูงรับประกันได้ว่า มีกำไรอยู่แล้ว เพียงแต่จะมากน้อยเท่านั้น”
เมื่อถามว่า คิดเห็นอย่างไร ที่ชาวนาไทยส่วนใหญ่ยังยากจน ครูชัยพร ชี้ว่าสาเหตุเพราะบางคนยังไม่เปิดใจ มักนิยมทำนาตามกระแส ใช้ของราคาสูง ไม่ผลิตใช้เองในสิ่งที่ทำได้ จึงทำให้ไม่มีกำไร เหมือนกับกำลังมีทิฐิ ใช้สมุนไพรก็กลัวไม่ได้ผล ทั้งที่ยังไม่ได้ทดลองเลย
ยิ่งระบบผู้จัดการนาที่มีการจ้างทำนาอย่างเดียว ถามว่า ลูกจ้างที่ไหนจะทำนาให้อย่างดี นอกจากทำเพื่อให้เสร็จงานเท่านั้น ชาวนามือถือจึงรวยยาก เพราะปัจจุบันราคารับซื้อข้าวต่ำ ผิดกับเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ราคารับซื้อข้าวยังสูงอยู่ ต่อให้ลงทุนเท่าไหร่ก็มีกำไรสูง
“ตอนนี้ราคาข้าวได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำในอดีต เพราะยังมีปริมาณข้าวเต็มโกดัง ทำให้โรงสีกดราคารับซื้อถูก ภาระจึงตกอยู่ที่ชาวนา” ครูชัยพร กล่าว และว่า ที่ผ่านมาปุ๋ยเคมีราคาสูงตามราคารับซื้อ แต่เมื่อราคารับซื้อต่ำลง ราคาปุ๋ยกลับไม่ลดลงตาม นี่จึงเป็นผลเสียหายตามมา
ชาวนาเลยต้องรู้จักลดต้นทุนการผลิต โดยไม่ต้องไปใช้ควายเหมือนเดิม เราก็ใช้รถไถไป แต่ต้องลงทุนน้อยที่สุด จึงจะอยู่ได้
ทั้งนี้ หากชาวนาคนใดอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ปราชญ์เกษตร ปี 58 บอกว่า ยินดีให้คำแนะนำ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายคนเข้าไปหา โดยถือว่า คนที่กล้าไปหาเป็นคนตั้งใจ ส่วนคนไม่ตั้งใจจะไม่ยุ่งเกี่ยว เพราะไม่ใช่เซลล์แมนสมุนไพรต้องเข้าไปแนะนำ ถามมาจึงจะบอก
และเมื่อถามถึงคนรุ่นใหม่ที่จะมาสืบทอดอาชีพทำนา เขาคิดเห็นอย่างไร
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ยอมรับว่า พ่อแม่ยังมีค่านิยมสนับสนุนให้ลูกรับราชการมากกว่าทำนาอยู่ แต่สำหรับครูชัยพร โชคดีไม่เป็นเช่นนั้น
"สมัยนี้มีอินเตอร์เน็ต คนรุ่นใหม่สามารถสืบค้นข้อมูลและทำเองได้ โดยส่วนใหญ่คนที่เข้ามาเรียนรู้มักเป็นผู้เรียนจบระดับปริญญาที่ต้องการกลับไปสานต่ออาชีพทำนาจากพ่อแม่ เพราะอาชีพนี้ไม่ต้องอยู่ในบังคับใคร เพียงแค่ขยันก็อยู่ได้"
พร้อมกันนี้ เขายืนยันว่า พ่อแม่ส่งลูกเรียนเพื่อทำงานรับรายได้ 1.5-2 หมื่นบาท/เดือน ยังสู้รายได้จากการทำนาเองไม่ได้เลย
แม้วัยจะล่วงโรยตามกาลเวลา แต่ปราชญ์เกษตรผู้นี้ไม่คิดจะเลิกทำนา โดยจะทำต่อไปจนกว่าจะหมดเรี่ยวแรง เขาบอกว่า หากทำไม่ไหวแล้วจะส่งมอบมรดกชิ้นนี้ให้แก่ลูก แต่ตอนนี้ให้พวกเขาทำงานประจำไปก่อน ส่วนในอนาคตก็จะให้ทำนาควบคู่ด้วยในรูปแบบระบบจัดการนาที่ผ่านการคิดวางแผนเอง
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ชาวนารุ่นใหม่ต้องไม่ทำนาตามกระแส มิฉะนั้นจะเหมือนกำลังถูกรุม เข้าไม่ถึง ฮือกันไปไม่พอแบ่ง จึงต้องคิดทบทวน วางแผนคิดย้อนไปมา เพื่อให้อยู่ได้”
แม้คำว่า ‘กระแส’ จะหวานหอมก็ตามที .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์พันทิป