พระราชพิธีจรดพระนังคัลฯ ปี 58 พระโคเสี่ยงทายหญ้า น้ำท่าบริบูรณ์พอสมควร
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 58 พระยาแรกนาหยิบผ้า 4 คืบ พยากรณ์ น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ พระโคกินหญ้า พยากรณ์ น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วย ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
วันที่ 13 พฤษภาคม 2558 เวลาประมาณ 08.30 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง มายังพลับพลาที่ประทับ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช 2558
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งประกอบพระราชพิธีวันแรกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันอังคารที่ 12 พฤษภาคม 2558 และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธี ในวันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2558 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและ ส่งเสริม บำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี อันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา
การจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ในระหว่างช่วงเวลา 08.19 - 08.59 น. ผู้ทำหน้าที่ เป็นพระยาแรกนา คือ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวฑิฆัมพร สุทธิฤทธิ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมการข้าว และนางสาวจารุรัตน์ พุ่มประเสริฐ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวอมรรัตน์ แขวงโสภา นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และว่าที่ร้อยตรีหญิงณฐมน อยู่เล่ห์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ กรมชลประทาน ส่วนพระโคแรกนาขวัญ ได้แก่ พระโคฟ้าและพระโคเลิศ
สำหรับผลการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ.2558 นี้ นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์ เสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนา และพระโคกินเลี้ยง โดยพระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งแต่งกาย หยิบได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากซักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
ขณะที่การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโค ผลเสี่ยงทายพระโคกินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วย ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
และในโอกาสเดียวกันนี้ ยังมีเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2557 เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้แก่ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2558 จำนวน 15 สาขาอาชีพ คือ 1) อาชีพทำนา ได้แก่ นางสาวสดวก จำรัส จังหวัดแพร่ 2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล จังหวัดชุมพร 3) อาชีพไร่นา ได้แก่ นายสนั่น ยิ้มระย้า จังหวัดสุพรรณบุรี 4) อาชีพไร่นาส่วนผสมได้แก่ นางรำพึง อินทร์สำราญ จังหวัดสุรินทร์ 5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางรุจาภา เนียนไธสง จัดหวัดบุรีรัมย์ 6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายสุพจน์ สิงห์โตศรี จังหวัดราชบุรี 7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายสำเนา เกาะกาเหนือ จังหวัดนครนายก 8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายฉัตรกุล ถิ่นท่าเรือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 9) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสมศักดิ์ แก้วมณีทอง จังหวัดราชบุรี 10) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นาวสาวสิรินุช ฉิมพลี จังหวัดนครปฐม 11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายสุรชัย แซ่จิว จังหวัดสมุทรปราการ 12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสมโภช ปานถม จังหวัดลำปาง 13) สาขาการใช้วิชาเกษตรดีที่เหมาะสม ได้แก่ นายปลื้ม จันทุง จังหวัดพัทลุง 14) ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายพนม จันทร์ดิษฐ จังหวัดนครสวรรค์ และ 15) สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ เด็กชายพีรพงษ์ หลงศิริ จังหวัดฉะเชิงเทรา
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2558 จำนวน 13 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านคลองกล้วยเหนือ จังหวัดอุตรดิตถ์ 2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนท่าอยู่ จังหวัดพังงา 3) กลุ่มเกษตรกรทำไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่นากลาง จังหวัดนครราชสีมา 4) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือสวยงามบ้านดอนสมอ จังหวัดนครพนม 5) กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด จังหวัดตรัง 6) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพทำปลาส้มบ้านตะคุ จังหวัดมหาสารคาม 7) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรลำสินธุ์ จังหวัดพัทลุง 8) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา จังหวัดยะลา 9) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผลิตพันธุ์ข้าวบ้านช้างมิ่ง จังหวัดสกลนคร 10) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้อยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ 11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านตาอ็อง จังหวัดสุรินทร์ 12) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านวังน้ำเย็น จังหวัดแพร่ และ 13) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชน จังหวัดกาญจนบุรี
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2558 จำนวน 7 สหกรณ์ คือ 1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด จังหวัดลำปาง 2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมไทย - เดนมาร์ค ก.น.ข. หนองรี จำกัด จังหวัดลพบุรี 3) สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์นิคมห้างฉัตร จำกัด จังหวัดลำปาง 4) สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางในเขตปฏิรูปที่ดินบ้านโคกม่วง จำกัด จังหวัดพัทลุง 5) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ ร้านสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ 6) สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลลำปาง จำกัด จังหวัดลำปาง และ 7) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านทุ่งเลียบ จำกัด จังหวัดพัทลุง
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2558 จำนวน 3 สาขา คือ 1) สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายสมศักดิ์ เครือวัลย์ 2) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายชัยพร พรหมพันธุ์ 3) สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ได้แก่ นายสืบศักดิ์ จินตาพล