นายกฯ ย้ำโครงการรับจำนำข้าวต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด-โปร่งใส
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ มอบนโยบายจำนำข้าว ย้ำผู้เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดติดตามอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน-ดำเนินการโปร่งใส เพื่อป้องกันความเสียหาย หวังประโยชน์ตกแก่เกษตรกรเต็มที่
วันที่ 6 ตุลาคม เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายในการประชุมมอบนโยบายการดำเนินโครงการการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั่วประเทศ และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวม 600 คน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดโครงการฯ ในวันที่ 7 ตุลาคม จัดโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการนำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ยกระดับราคาสินค้าเกษตรว่า เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพราะจะส่งผลกลับมายังกำลังซื้อของประเทศ ที่เป็นการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจในประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งเศรษฐกิจจากต่างประเทศอย่างเดียว ซึ่งข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักและเป็นสินค้าพื้นฐานที่สำคัญของประเทศไทยที่มี เกษตรกรผู้ปลูกข้าวถึง 3.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 20 ล้านคน โดยรัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าราคาในการรับจำนำข้าวเปลือกความชื้นไม่เกินร้อย ละ 15 สำหรับข้าวเปลือกเจ้าที่ราคาตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิที่ราคาตันละ 20,000 บาทนั้นเป็นราคาที่เหมาะสมและถูกต้อง เพราะเป็นราคาที่คำนึงถึงต้นทุนบวกกำไรให้เกษตรกรอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพ
" รัฐบาลรับทราบและตระหนักดีถึงจุดบกพร่องและปัญหาต่าง ๆ ของการรับจำนำ แต่เราต้องนำสิ่งที่ดีที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต และขณะเดียวกันนั้นก็ไม่ลืมที่จะรับฟังการท้วงติงและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงให้นโยบายของเรานั้นมีความแน่นขึ้น มีความเชื่อถือ มีความเชื่อมั่น มีความโปร่งใส และเพื่อที่จะนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาปรับปรุงในการทำนโยบายในครั้งนี้ ต้องถือว่าเป็นการต่อยอดของการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสริมในส่วนของความแข็งแรงของโครงการให้เป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องชาวนาอย่างแท้จริง และต้องไม่ลืมที่จะป้องกันความเสียหายของภาครัฐด้วย"
ทั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯ ช่วยกันกำกับดูแลคอยตรวจสอบ สอดส่อง เพื่อให้โครงการเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะการรับจำนำข้าวเปลือกนี้เป็นนโยบายที่สำคัญ จะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงาน และหลักเกณฑ์ของหน่วยงานในการติดตามกำกับดูแล พร้อมทั้งฝากภารกิจที่สำคัญนี้ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานอนุกรรมการในการติดตามการรับจำนำระดับจังหวัด ได้เป็นผู้ตรวจสอบปรับปรุง เพื่อป้องกันการทุจริตหรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งขอให้วางระบบอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกหนังสือรับรองเกษตรกรจะต้องถูกต้องและชัดเจน เกษตรกรที่เข้าโครงการต้องมีการเพาะปลูกจริง เก็บเกี่ยวจริง และเป็นข้าวของเกษตรกรจริง เพื่อป้องกันการนำข้าวเปลือกจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์จำนำ
ขณะที่ในส่วนของโรงสี ตลาดกลางนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ให้จังหวัดตรวจสอบปริมาณข้าวคงเหลือของโรงสีและตลาดกลาง ก่อนรับมอบข้าวเปลือกจำนำ รวมทั้งจะต้องมีการตรวจสต๊อกทั้งก่อนและหลังส่งมอบข้าว เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหล ตรวจสอบกรณีข้าวหาย และการนำข้าวมาเวียนเทียนในระบบจำนำ ซึ่งผู้ว่าฯ จะเป็นผู้กำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบาย
"รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องการระบายข้าวและการส่งออก โดยต้องมีกลยุทธ์การจัดการข้าวในมิติใหม่เพื่อสร้างความสมดุลทั้งตลาดใน ประเทศและต่างประเทศ ที่เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรและระบบเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุด ดังนั้น จึงไม่ควรมองแค่ปริมาณการซื้อขายในประเทศ แต่ต้องคำนึงถึงปริมาณและกลยุทธ์ของการส่งออกรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย"
ทั้งนี้ โครงการการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 มีระยะเวลาการเปิดรับจำนำข้าว ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ส่วนภาคใต้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 กรกฎาคม 2555 ระยะเวลาการไถ่ถอน 4 เดือน นับจากเดือนที่รับจำนำ