ก.พ.เมิน ก.ศป.ทักท้วง ยืนมติตั้ง "ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์"สอบ ปธ.ศาลปกครอง
ก.พ.มีมติยืนยันส่ง "ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์" เป็นกรรมการร่วมสอบสวน "หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล" ประธานศาลปกครองสูงสุดที่ถูกสั่งพักราชการ หลัง ก.ศป.ทักท้วงว่า มีความขัดแย้งกันแห่งผลประโยชน์เพราะได้แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาศาลปกครองสูงสุดกินเงินเดือน 60,000 บาท
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เปิดเผย "สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org" เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ในวันนี้มีการพิจารณากรณีที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.) โดยนายปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุดได้ทำหนังสือลงวันที่ 28 เมษายนขอให้ ก.พ.ทบทวนการแต่งตั้งนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุด ในฐานะ กรรมการ ก.พ. ไปเป็นกรรมการสอบสวนนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุดที่ถูก ก.ศป.สั่งพักราชการ เพื่อสอบสวนกรณีที่นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ทำทึกส่วนตัวหรือ "จดหมายน้อย"ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) และรอง ผบ.ตร.ขอให้เลื่อนตำแหน่งนายตำรวจยศ พ.ต.ท.นายหนึ่งให้เป็นผู้กำกับการ โดยอ้างว่า เป็นความประสงค์ของ ประธานศาลปกครองสูงสุด และนายตำรวจรายดังกล่าวเป็นเพื่อนกับหลานประธานศาลปกครองสูงสุด
แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ก.พ.มีมติยืนยันที่จะส่งนายธีรยุทธ์ไปเป็นกรรมการสอบสวนนายหัสวุฒิตามเดิม โดยให้เหตุผล นายธีรยุทธ์ไม่ได้มีคุณสมบัติที่เข้าข่ายความไม่เป็นกลางจน มีสภาพร้ายแรงตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539ที่อาจทำให้การสอบสวนไม่เป็นกลางได้ ตามที่ ก.ศป.ทำหนังสือขอให้ ก.พ.ทบทวน แต่อย่างใด
ทั้งนี้ คณะกรรมการสอลบสวนนายหัสวุฒิ ประกอบด้วย นายชาญชัย แสวงศักดิ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน นายวิษณุ วรัญญู นายวพจน์ วิศูรตพิชญ์ นายไพบูลย์ เสียงก้อง ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด และนายธีรยุทธ์ เป็นกรรมการ
สำหรับเหตุผลของ ก.ศป.ตามหนังสือของนายปิยะที่ส่งถึง ก.พ.ขอให้ทบทวนการแต่งตั้งนายธีรยุทธ์ระบุว่า แม้นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ จะดำรงดำแหน่งกรรมการข้าราชพลเรือนผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย แต่โดยข้อเท็จจริงนายธีรยุทธ์ นอกจากจะเคยดำรงดำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดและรองประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว ในปัจจุบันยังทำงานและดำรงตำแหน่งในสำนักงานศาลปกครองสูงสุดหลายตำแหน่ง ได้แก่ ประธานกรรมการมูลนิธิวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางการปกครอง และที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุดอันเป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งโดยเลขาธิการสำนักงานปกครอง โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีค่าตอบแทน เดือนละ 60,000 บาท
ที่ปรึกษาในศษลปกครองสูงสุดมีหน้าที่ ดังนี้ (1.) ให้ความเห็นแก่ประธานศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับสถานภาพและบทบาทของศาลปกครอง (2.) ให้คำปรึกษาปัญหาข้อกฎหมายที่ยุ่งยากแก่ตุลาการศาลปกครองและข้าราชการฝ่ายศาลปกครองที่ปฏิบัติหน้าที่ค้นคว้าเปรียบเทียบคำพิพากษาและคำสั่งในศาลปกครองสูงสุด (3) ปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวกับราชการศาลปกครองตามที่ประธานศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย
ดังนั้น การที่ประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าควรแต่งตั้งบุคคลใดเป็นที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุดเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในทางคดีปกครอง โดยเฉพาะในระหว่างบุคคลที่มีความรู้ความสามารถดังกล่าวหลายคน ก็ย่อมต้องคัดเลือกบุคคลดังกล่าวที่มีความไว้วางใจ ซึ่งความไว้วางใจก็จะเกิดจากความสัมพันธ์ฉันใกล้ชิดไม่ว่าจากการกระทำงานร่วมกัน หรือมีเหตุผลอื่นใดก็ตาม ประกอบกับระเบียบดังกล่าวกำหนดว่า ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเป็นที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุด ซึ่ง“คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง” ประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง อธิบดีศาลปกครองกลาง เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองในระดับไม่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ ก.ศป. กำหนด จำนวนสามคน
ทั้งโดยทางนิตินัยและพฤตินัย การแต่งตั้งบุคคลเป็นที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุดจึงขึ้นอยู่กับประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นสำคัญ เพราะคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองอีกสามคนแม้จะได้รับเลือกจากข้าราชการฝ่ายศาลปกครองด้วยกัน แต่ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองที่ได้รับเลือกดังกล่าวก็ยังเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองก็ยังอยู่ภายใต้การสั่งการของประธานศาลปกครองสูงสุดอีกทอดหนึ่ง ประกอบกับตามข้อ 4/4 ของระเบียบดังกล่าว กำหนดว่า ให้ที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุดปฏิบัติงานเต็มเวลาราชการปกติ โดยได้รับค่าตอบแทนในลักษณะเหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 60,000 บาท
ดังนั้น การที่นายธีรยุทธ์ ซึ่งได้รับความไว้วางใจจนได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุด และได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 60,000 บาท ได้เข้ามาร่วมเป็นกรรมการสอบสวนประธานศาลปกครองสูงสุดที่เป็นผู้เห็นชอบในการแต่งตั้งนายธีรยุทธิ์ ย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดว่าย่อมเกิดความขัดแย้งกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of interest) ย่อมทำให้วิญญูชนทั่วไปเคลือบแคลงสงสัยในการทำหน้าที่ได้ว่าจะโปร่งใสยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวแม้ไม่ใช่ความเป็นกลางทางภาวะวิสัยตามนัยมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกคอง พ.ศ.2539 แต่เข้าข่ายความไม่เป็นกลางทางอัตวิสัย มีสภาพร้ายแรงตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครอง (การสอบสวน) ไม่เป็นกลางได้ แม้ว่านายธีรยุทธ์เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุดแล้วจะได้ทำหน้าที่ในการให้ความเห็นต่อประธานศาลปกครองสูงสุดหรือได้ปฏิบัติงานตามที่ประธานศาลปกครองสูงสุดมอบหมายหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและหรือมีความไว้วางใจจนได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุดหรือไม่มากกว่า เพราะมิฉะนั้นแล้วก็อาจเลือกบุคคลอื่นที่มีความรู้ความสามารถใกล้เคียงกันมาเป็นที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุดก็ได้
นอกจากนั้นในระเบียบการแต่งตั้งที่ปรึกษาฯ กำหนดให้ที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุดต้องปฏิบัติงานเต็มเวลาราชการเพื่อให้คุ้มค่ากับค่าตอบแทน แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่เมื่อพิจารณาถึงบุคคลิกของประธานศาลปกครองสูงสุดที่เป็นที่รู้กันทั่วไปและลักษณะงานของศาลปกครองที่เกี่ยวกับการพิพากษาคดีปกครอง กล่าวคือ ในศาลปกครองชั้นต้น การพิพากษากระทำโดยองค์คณะตุลาการที่มีจำนวน 3 คน ซึ่งร่วมปรึกษาหารือกัน ทั้งยังมีตุลาการผู้แถลงคดีอีกหนึ่งคนที่เมื่อตรวจสำนวนแล้วจะทำความเห็นโดยอิสระเพื่อถ่วงดุลความเห็นขององค์คณะอักชั้นหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้คำพิพากษาที่ต้องตัดสินออกไปมีความรอบคอบถูกต้องที่สุด ทั้งหากคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นก็มีสิทธิอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด หากนายธีรยุทธ์ให้คำปรึกษาแก่ศาลปกครองชั้นต้นในการพิพากษาหรือมีคำสั่งไปแล้วก็อาจทำให้เกิดความลำบากใจหรือเกรงใจ ทำให้เกิดอุปสรรคในการทำหน้าที่โดยอิสระขององค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดก็ได้ ความจำเป็นในการขอรับคำปรึกษาจากที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุดจึงแทบไม่เกิดขึ้นในความเป็นจริง
นอกจากนี้ องค์คณะในศาลปกครองสูงสุดก็มีตุลาการจำนวน 5 คน มากกว่าองค์คณะในศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งต้องถือว่าในระดับหนึ่ง ตุลาการศาลปกครองสูงสุดก็ไม่ได้มีความรู้ความสามารถในด้านคดีปกครองด้อยไปกว่านายธีรยุทธ์ และก็ยังมีตุลาการผู้แถลงคดีที่ทำความเห็นโดยอิสระเพื่อถ่วงดุลความเห็นขององค์คณะในศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมีความรอบคอบและถูกต้องยิ่ง ๆ ขึ้นในทำนองเดียวกับศาลปกครองชั้นต้น
เมื่อการแต่งตั้งนายธีรยุทธ์เป็นที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุดไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแต่งตั้งเพื่อให้มาปฏิบัติหน้าที่อย่างแท้จริงของระเบียบ ก็ย่อมสะท้อนให้เห็นภาพว่าเป็นการแต่งตั้งเพราะเหตุความสัมพันธ์หรือความไว้วางใจในทางส่วนตัวเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้วิญญูชนเห็นถึงความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ (Conflict of interest) เป็นอย่างยิ่ง
หาก ก.พ.ยังคงแต่งตั้งให้นายธีรยุทธ์มาร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการสอบสวนประธานศาลปกครองสูงสุด ความยุติธรรมไม่เพียงต้องเกิดขึ้น แต่ต้องให้บุคคลทั่วไปเห็นว่าเป็นไปโดยยุติธรรมด้วย (justice not be done but seen to be done)
นอกจากนี้ มาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ได้บัญญัติว่า ในการพิจารณาให้ตุลาการศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 22(1) (2) หรือ (4) ประกอบกับมาตรา 21 (4) หรือ (7) หรือมาตรา 23 (1) หรือ (2) ให้ ก.ศป. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนประกอบด้วยตุลาการในศาลปกครองสูงสุดหรือตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นจำนวนสี่คน และกรรมการข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ เพื่อทำการสอบสวน ซึ่งการที่มาตรา 24 ดังกล่าวบัญญัติให้มีกรรมการข้าราชการพลเรือนที่เป็นบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นกรรมการสอบสวน ก็โดยมีเจตนารมณ์ให้การสอบสวนโปร่งใสไม่มีการลูบหน้าปะจมูกช่วยเหลือกัน โดยเมื่อบุคคลภายนอกดังกล่าว เมื่อไม่รู้เรื่องที่จะสอบสวนมาก่อน เมื่อมาฟังการกล่าวหาและการแก้ข้อกล่าวหาและพิจารณาพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายในชั้นสอบสวนแล้วจะมีความเห็นเป็นประการใด หากบุคคลดังกล่าวรู้เรื่องมาก่อนหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลภายนอกที่เป็นกลาง และทำให้ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ดังกล่าวได้ ไม่สามารถรับประกันได้ว่าการสอบสวนจะโปร่งใสและยุติธรรม แต่กลับอาจเป็นบุคคลที่สร้างความไม่โปร่งใสหรือไม่ยุติธรรมเสียเอง
ดังนั้น เมื่อนายธีรยุทธ์เคยดำรงตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด ทำงานใกล้ชิดกับประธานศาลปกครองสูงสุดที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยตุลาการ ทั้งยังคงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุดที่ต้องปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประธานศาลปกครองสูงสุดและได้รับการแต่งตั้งจากความเห็นชอบของประธานศาลปกครองสูงสุดที่เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองให้เป็นที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุดโดยมีค่าตอบแทน เดือนละ 60,000 บาท สถานะของนายธีรยุทธ์ จึงชัดแจ้งว่ามิได้เป็นบุคคลภายนอกอย่างแท้จริงและเป็นกลางตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรา 24 ดังกล่าว
ก.ศป.จึงมีมติว่า การที่ ก.พ.แต่งตั้งนายธีรยุทธ์มาเป็นกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนเรื่องที่ประธานศาลปกครองสูงสุดถูกกล่าวหา จึงเป็นเรื่องที่เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าย่อมทำให้เกิดความไม่เป็นกลางทางอัตวิสัยที่มีสภาพร้ายแรงเพราะมีความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์และเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายของมาตรา 24 ดังกล่าว เมื่อ ก.พ. มีอำนาจหน้าที่ประการหนึ่ง ได้แก่ การวางมาตรฐานการบริหารงานและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนเพื่อส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ หาก ก.พ. ได้รับทราบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุผลที่ชัดแจ้งข้างต้นแล้ว ก็หวังว่า ก.พ. จะใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อวางบรรทัดฐานที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะต้องใช้กับส่วนราชการอื่นต่อไป
(อ่านประกอบ : ก.ศป.มีมติให้ ปธ.ศาลปกครองสอบ "ดิเรกฤทธิ์"กล่าวหาขวางประชุมพักงาน"หัสวุฒิ")