รมช.คลังรับมีการกินหัวคิวขายสลาก มูลค่าสูงถึง 1.5 หมื่นล้าน/ปี
สนช.-นักวิชาการ หวั่น ร่างพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ไม่แก้ปัญหาราคาแพง เหตุรัฐยังหวังเอารายได้ ด้านผอ.กองสลากฯเชื่อเมื่อมีกองทุนแล้วแก้ปัญหาได้แน่
11 พฤษภาคม 2558 คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดสัมมนาเรื่อง “แก้ไขกฎหมายสลากฯ:โอกาสและความท้าทายสู่การปฏิรูปสลากเพื่อสังคม” ณ ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวโดยยอมรับว่า ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคานั้นมีมานานแล้ว ซึ่งมีการนำไปคิดส่วนต่างฉบับละ 20 บาท กว่า 37 ล้านฉบับคู่ต่อปี เป็นเงินมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีที่หายไปจากการกินหัวคิว และสาเหตุก็เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การไม่สามารถรับซื้อเลขไม่สวยคืนได้ จึงมีการขึ้นราคาเพื่อแบกรับความเสี่ยง
ส่วนการแก้ปัญหา รมช.คลัง กล่าวว่า ก็ยังมีปัญหาในเรื่องข้อกฎหมายที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นจึงมีการยกร่างบทบัญญัติขึ้นมาใหม่และได้มีการเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ และส่งต่อให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อที่จะประกาศใช้ในปลายปีนี้
นายวิสุทธิ์ กล่าวถึงกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคมว่า หากเงินในกองทุนเกินจำนวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องเอาเข้าแผ่นดิน และในร่างพระราชบัญญัติ ฯจะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อกำหนดราคาจำหน่ายและควบคุมดูแลแก้ไขให้มีการจัดสรรสลากในแต่ละกลุ่มให้มีความเท่าเทียม รวมทั้งต้องไม่มีการปรับลดโควตาในส่วนของกลุ่มผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส
ด้านนายมณเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมาธิการสังคมฯ กล่าวว่า จากการศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาสลากพบว่า ไม่ว่าจะมีการวิเคราะห์อย่างไรหรือวิเคราะห์แบบไหน สลากที่ถูกกฎหมายนั้นคือมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่คำว่า ประโยชน์สาธารณะแบบไทยคือประโยชน์สาธารณะเฉพาะกิจ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเมตตาของภาครัฐ เป็นสาธารณะแบบใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ดังนั้นวันนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายออกมารองรับเพื่อให้เกิดความชัดเจน
"ขอเรียกใหม่หากจะมีการปฏิรูปสลากวันนี้ ต้องเป็นสลากเพื่อสังคม ไม่ใช่สลากเพื่อรัฐบาล ทุกวันนี้คนเข้าใจกลไกของสลากกินแบ่งรัฐบาลว่าคือกลไกการหาเงินของภาครัฐและถือเป็นข้อผิดพลาดที่รัฐจะเอารายได้มาจากการเสี่ยงโชคของประชาชน"
นายมณเฑียร กล่าวถึงปัญหาราคาแพงจึงเป็นอาการกำเริบของโรคที่มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่รัฐมีนโยบายจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อเอาเงินจากประชาชน การเก็งกำไร หรือรับโควตาสลากเป็นเพียงปลายเหตุของปัญหา ฉะนั้นการแก้จะปฏิรูปเพื่อไม่ให้สลากมีราคาแพง จะต้องแก้ไขระบบโครงสร้าง เนื่องจากที่ผ่านมาการบริหารงานฝ่ายบริหารและฝ่ายกำกับนโยบายไม่ได้แยกออกจากกัน การจัดสรรก็ไม่มีการแยก จึงไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นและความศรัทธาจากประชาชนได้ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างการบริหารใหม่แบ่งแยกฝ่ายบริหารกิจการสลากและกำกับนโยบายออกจากกัน
“วันนี้ไม่โทษนักธุรกิจที่แสวงหากำไร แต่รัฐเองที่บอกว่าต้องการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส แต่สัดส่วนการถือครองสลากคนเหล่านี้มีเพียง 26% นั่นแสดงว่า รัฐไม่ได้จัดสรรสลากไปให้คนเหล่านั้น วัตถุประสงค์ที่สำคัญของรัฐเองก็หวังที่จะมีรายได้ โดยไม่ต้องการรับความเสี่ยง จึงหาคนที่จะมาจัดการกับความเสี่ยงแทนรัฐ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่รัฐบาลไม่รู้ รัฐรู้ดีเพราะเป็นคนกำหนดนโยบายทุกอย่าง”
ขณะที่พลตรี ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ไม่ใช่พ.ร.บ.ที่ล้าสมัยแต่ยังคงเป็นพ.ร.บ.ที่มีชีวิตชีวาและสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศมากว่า 40 ปี
"ส่วนปัญหาของการขายสลากเกินราคาวันนี้ต้องถามสังคมว่า เป็นเรื่องที่เป็นธรรม หรือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย" ผอ.กองสลากฯ กล่าว และว่า การบริหารกองสลากก็เป็นการบริหารโดยรัฐที่มีการจัดสรรรายได้ มีเจ้าหน้าที่ดูแล ตรวจสอบถ่วงดุล และรายได้ส่วนหนึ่งก็นำไปเป็นค่าบริหารและบำบัดการติดพนัน ซึ่งพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ที่กระทรวงการคลังเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนจะได้นำส่ง สนช.นั้น จะมีความทันสมัย มีการจัดตั้งกองทุนแก้ปัญหาสลาก และยังสร้างเสถียรภาพ นอกจากนี้การจำหน่ายในระบบโควตา 40 ปีที่มีปัญหาก็จะหาช่องทางจำหน่ายใหม่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสลากได้จริงๆ
ส่วนร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริมงคล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ความคิดเรื่องรายได้กองสลากต้องเป็นรายได้ของรัฐ คือ ความคิดที่ครอบงำรัฐไทยมานาน 40 ปี หากถามว่า ผิดไหมกับแนวคิดแบบนี้ก็บอกว่าไม่ผิด แต่ผิดตรงที่กระดุมเม็ดแรกที่ติดนั้นไม่ถูกต้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นมากเรื่องกระดุมเม็ดแรก ถ้าวันนี้ยังปรับแนวคิดเรื่องของการนำรายได้กองสลากมาเป็นของรัฐ รัฐก็จะเป็นรัฐที่เสพติดรายได้จากการพนัน ที่สำคัญ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ที่จะมีการนำเสนอนั้นไม่ได้มีการแก้ไขหรือปรับแนวคิดในส่วนนี้ ดังนั้นหากจะออกกฎหมายใหม่ก็ต้องแก้ทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะบางส่วนถ้ามุ่งหวังจะปฏิรูปอย่างแท้จริง และจะทำให้รัฐบาลคสช.ได้ใจคนเล่นสลากกินแบ่ง แต่หากปล่อยให้เป็นไปตามร่างพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ที่กระทรวงการคลังเสนอบอกได้คำเดียวว่าผิดหวัง