ตำรวจชิงปล่อยตัว "นิเซ๊ะ นิฮะ" ถูกรวบไร้ข้อหา ศูนย์ทนายฯรุกฟ้องศาลสั่งเลิก พ.ร.ก.
ตำรวจยอมปล่อย "นิเซ๊ะ นิฮะ" ปัญญาชนมุสลิมที่ถูกจับและควบคุมตัวโดยใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษทั้งๆ ที่ไม่มีการตั้งข้อหาแล้ว ชี้ชิงปล่อยตัดหน้าก่อนศาลนัดไต่สวนเพียง 1 วัน "ศูนย์ทนายมุสลิม" ตั้งโต๊ะแถลงจี้รัฐเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯชายแดนใต้ เหตุสถิติชี้ชัดชาวบ้านร้องเรียนกว่า 2 พันเรื่อง โวยถูกซ้อมทรมานเกือบ 300 กรณี สู้คดีบนศาล 122 คดี ศาลยกฟ้องกว่า 70% วอนฝ่ายความมั่นคงเลิกอ้างใช้เพื่อป้องกันเหตุร้าย ให้กลับไปใช้กฎหมายปกติแทน "ทนายสิทธิพงษ์" ลั่นลุยฟ้องศาลรัฐธรรมนูญสั่งเลิก พ.ร.ก.
ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ได้ปล่อยตัว นายนิเซ๊ะ นิฮะ ปัญญาชนมุสลิม แล้วเมื่อช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 4 ต.ค.2554 ภายหลังจากที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งนัดไต่สวนในวันพุธที่ 5 ต.ค.
ทั้งนี้ เมื่อฝ่ายตำรวจปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ ทำให้ศาลมีคำสั่งงดการไต่สวน เพราะเห็นว่าไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องไต่สวนต่อไป
การปล่อยตัวนายนิเซ๊ะอย่างกะทันหัน เชื่อว่าสืบเนื่องจากกรณีที่ศูนย์ทนายความมุสลิมยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวดังกล่าว ประกอบกับมีองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรนักศึกษาจำนวน 17 องค์กร ในนาม "เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยทันที
อนึ่ง นายนิเซ๊ะถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับกุมตัวที่บ้านเลขที่ 32/5 หมู่ 3 ต.ตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2554 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 โดยไม่ได้แสดงหมายใดๆ หลังจากนั้นได้นำตัวไปควบคุมยังค่ายทหาร และย้ายสถานที่ควบคุมตัวหลายครั้ง พร้อมทั้งขอออกหมายควบคุมตัวต่อโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ไม่ได้ซักถามนายนิเซ๊ะเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ คงสอบถามเพียงชื่อและประวัติส่วนตัวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีรายงานยืนยันว่านายนิเซ๊ะไม่ได้ถูกซ้อมทรมาน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อนายนิเซ๊ะเป็นอย่างดี
ศูนย์ทนายมุสลิมโชว์สถิติร้องเรียน 2 พันเรื่อง
วันที่ 5 ต.ค.มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่หน้าศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี อ.เมืองปัตตานี พร้อมแจกจ่ายแถลงการณ์ที่มีเนื้อความระบุว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเป็นองค์กรหนึ่งที่เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากในมาตรา 11 (1) ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยและนำเข้าสู่กระบวนการซักถามได้โดยที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีสิทธิในการพบหรือปรึกษาทนายความเฉกเช่นผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550
ที่ผ่านมา มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึง วันที่ 31 ส.ค.2554 รวมทั้งสิ้น 2,338 เรื่อง โดยในเรื่องร้องเรียนดังกล่าวปรากฏว่าชาวบ้านร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิประชาชนโดยการซ้อมทรมาน จำนวน 282 เรื่อง และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ปรากฏว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเป็นทนายความแก้ต่างให้กับจำเลยในคดีความมั่นคงสืบเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จำนวน 495 เรื่อง ศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำนวน 122 เรื่อง ศาลพิพากษาลงโทษ 33 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 27.04 และศาลพิพากษายกฟ้องมากถึง 87 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 72.95 มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงเห็นว่า การใช้พยานหลักฐานในการซักถามตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้
นอกจากนั้น ที่ผ่านมามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมยังได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อให้ศาลได้ไต่สวนเป็นบรรทัดฐาน ปรากฏว่าหลายกรณีศาลสั่งให้ปล่อยตัว มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากข้อเท็จจริงที่ได้นำเสนอทั้งหมด จะทำให้รัฐบาลได้ตระหนักถึงการละเมิดสิทธิโดยการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพิจารณาทบทวนต่อไป
ซัดใช้กฎหมายพิเศษก็ป้องกันเหตุร้ายไม่ได้
นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ผลกระทบจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเยอะมาก โดยเฉพาะจะส่งผลต่อชาวบ้านที่ถูกจับตัวไป และผู้ถูกจับนั้นถูกบังคับ บางคนถูกทรมานให้รับสารภาพ แล้วนำผลการสารภาพตรงนั้นมาเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน
"ความจริงเรื่องนี้เราไม่ได้เพิ่งมาพูด แต่เราพูดมานานแล้ว เมื่อก่อนเราพยายามใช้กลไกทางศาลให้มีการไต่สวน อย่างเช่นกรณีของ นายสุกรี อาดำ ที่ถูกซ้อมทรมาน พอนำตัวไปศาลปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาตาม ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) เพื่อให้หลุดพ้นจากกรอบการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ต้องถูกไต่สวนโดยศาล นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เป็นพื้นที่ที่ประกาศมาตรการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ทว่าเจ้าหน้าที่กลับจับกุมตัวโดยอ้างอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อศาลเรียกมาไต่สวนก็ไม่มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ศาลจึงสั่งปล่อย นี่คือสิ่งที่เราทำ และกรณีของนายนิเซ๊ะนั้น เราเห็นได้ชัดว่าผลกระทบมันยิ่งขยายกว้างมากขึ้น"
นายอนุกูล กล่าวอีกว่า ในมุมมองของเจ้าหน้าที่คิดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯยังมีความจำเป็น อาจจะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้สะดวกในการป้องกันเหตุร้าย แต่ศูนย์ทนายความมุสลิมมองว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายต่างๆ โดยใช้กฎหมายพิเศษได้ หลายครั้งที่มีการก่อเหตุรุนแรง เจ้าหน้าที่มักอ้างกฎหมายพิเศษในการปิดล้อม ตรวจค้น และนำตัวบุคคลต้องสงสัยไปซักถาม แต่แท้ที่จริงแล้วกฎหมายปกติอย่าง ป.วิ อาญา ก็ให้อำนาจ ไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ชิงปล่อยตัวส่อตัดตอนอำนาจศาล
นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวเสริมว่า หลายครั้งที่มีการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วไม่มีการยื่นฟ้องตาม ป.วิอาญา ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินชดเชยหรือเยียวยา นอกจากนั้นยังมีอีกหลายครั้งที่ศูนย์ทนายความมุสลิมยื่นคำร้องคัดค้านการขยายเวลาควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เจ้าหน้าที่มักชิงปล่อยตัวก่อน การกระทำแบบนี้เป็นการปิดโอกาสไม่ให้ศาลรับทราบข้อเท็จจริงของกระบวนการต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ใช้เป็นหลักฐานต่อศาลในการควบคุมตัว จึงดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่เองมีเจตนาที่จะไม่ต้องการให้ศาลตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่
“ที่ผ่านมาเราได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ทั้งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งยังยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกาอีก 2 ฉบับด้วยกัน แต่ก็ไม่เห็นมีความคืบหน้าใดๆ ดังนั้นการเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงจำเป็นต้องออกสื่อเพื่อให้ปรากฏต่อสาธารณชน จริงๆ แล้วในการปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ ถ้าคำนึงถึงคำแนะนำของประธานศาลฎีกาแล้ว ยังถือว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติผิดวิธี เพราะที่จริงแล้วนายนิเซ๊ะจะต้องถูกนำตัวไปปล่อยที่ศาลที่ออกหมาย ฉฉ. (หมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ไม่ใช่เจ้าหน้าที่นึกจะปล่อยตัวที่ไหนก็ได้"
สำหรับคำแนะนำของประธานศาลฎีกาที่ทนายสิทธิพงษ์พูดถึง หมายถึงประกาศ "คำแนะนำของประธานศาลฎีกา" เกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอจับกุมและควบคุมตัวบุคคลตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 1 มี.ค.2554
เล็งฟ้องศาล รธน.สั่งเลิกใช้ พ.ร.ก.
ทนายสิทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางเครือข่ายฯกำลังหาวิธีการเพื่อเดินหน้าต่อไป ประการแรก อาจจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ให้เลิกใช้ ประการที่ 2 ทำให้องค์กรที่ตรวจสอบถ่วงดุลกฎหมายฉบับนี้มีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ ได้ทำงานอย่างเต็มที่ นั่นก็คือองค์กรของศาล เพราะไม่สามารถพึ่งองค์กรอื่นได้เลย
"แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ถึงแม้ประธานศาลฎีกาจะออกข้อแนะนำให้เจ้าหน้าที่ต้องปฎิบัติ แต่ก็ยังไม่มีการปฏิบัติตามข้อแนะนำนั้น ซึ่งเราจะทำความเข้าใจกับศาลต่อไป" ทนายสิทธิพงษ์ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง เผยว่า ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ทราบความเคลื่อนไหวของศูนย์ทนายความมุสลิมและองค์กรภาคประชาสังคมมาก่อนหน้านี้แล้ว และได้รายงานผู้บังคับบัญชาตามระดับชั้น กระทั่งผู้บังคับบัญชาระดับสูงของทั้งฝ่ายทหารและตำรวจได้หารือกัน โดยได้รับรายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยรายนี้ด้วยเหตุผลบางประการ แต่เมื่อไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงจึงประสานให้ปล่อยตัวเพื่อไม่เป็นการสร้างเงื่อนไขต่อไป
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศการแถลงข่าว
2 ทนายอนุกูล กับ ทนายสิทธิพงษ์
อ่านประกอบ : สั่งปล่อย 8 ผู้ถูกคุมตัวตามหมาย พ.ร.ก.- เปิดหลักเกณฑ์ใหม่ ปธ.ศาลฎีกากำหนดแนวบังคับใช้ กม.พิเศษชายแดนใต้
http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/item/1942-8.html