ศวปถ.แนะเพิ่มโทษเมาชนคนตายคุก10ปี -เมาแล้วขับกักขังแทนรอลงอาญา
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนแนะเปลี่ยนทัศนคติสังคมไทยอย่ามองเรื่องอุบัติเหตุเป็นคราวเคราะห์ เสนอโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี กรณีเมาแล้วขับ ด้านเลขาธิการมูลนิธิเมาแล้วขับชี้โทษรอลงอาญาไม่ทำให้นักดื่มกลัว
10 พฤษภาคม 2558 ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายปลอดภัยทางถนนมูลนิธิเมาไม่ขับ จัดเสวนา“เมา +ขับ=ฆาตกร:บทเรียนกรณีเมาแล้วขับชนจักรยานสามศพ”ณ โรงแรมเอทัส ลุมพินี ถนนพระราม 4
นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวถึงช่องว่างทางสังคม ว่า ประเทศไทยยังมีช่องว่างอยู่มากในเรื่องอุบัติเหตุ เพราะคนไทย 1 ใน 4 ยังเชื่อว่า อุบัติเหตุเป็นคราวเคราะห์ ดังนั้นถึงเวลาแล้วกับการใช้ยาแรง เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมดื้อยา คนเมาดื้อด้านกลายเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของสังคม ถ้ายังไม่มีการจัดการที่แท้จริง หรือใช้ ยาแรง กว่านี้ปัญหาจะสะสมต่อไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ข้อมูลจากในมรณะบัตรยังบันทึกชัดเจนว่า ทุกวันนี้มีคนตายที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถวันละ 8 คน ไม่นับรวมเหยื่อที่ถูกคนเมาชนตายในช่วงเทศกาลอย่างสงกรานต์ที่ผ่านมา สาเหตุหลักๆของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงร้อยละ 39.31 คือ เมาแล้วขับทำให้ตายถึงร้อยละ 24%
นายแพทย์ธนะพงศ์กล่าวว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ ต้องล้างทัศนคติที่ว่าการดื่มแล้วขับเป็นเรื่องปกติ และควรหยุดการดื่มสังสรรค์ในแบบตระเวนไปหลายๆร้าน หากจะดื่มต้องให้คนที่ไปด้วยและไม่ได้ดื่มขับรถแทน เมื่อเกิดคดีขึ้นควรบันทึกข้อมูล ความผิดซ้ำ เพราะจะเป็นข้อมูลที่สำคัญมากในการเพิ่มโทษตามลำดับขั้นความผิด ด้านการตัดสินในชั้นศาลส่วนใหญ่มักจะจบที่คำว่า ประมาท และต้องเปลี่ยนเป็นเรื่องของ เจตนากระทำผิด จะเห็นได้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลี สิงคโปร์ จะตัดสินคนเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตด้วยการจำคุก
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวถึงข้อเสนอแนะที่อยากให้เกิดขึ้นว่า อยากให้ศาลพิจารณาลงโทษให้หนัก กรณี เมาแล้วขับ ชนคนตาย ด้วยโทษสูงสุดคือจำคุก 10 ปี และกรณี เมาแล้วขับ แต่ไม่เกิดอุบัติเหตุ พิจารณาให้เป็นกักขังแทนรอลงอาญา สั่งสืบเสาะ ผู้กระทำความผิด เพื่อตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดซ้ำและเพิ่มโทษ กรณีตรวจพบแอลกอฮอล์ 100% ต้องเพิ่มโทษปรับมากขึ้น และส่งคุมประพฤติทุกราย รวมทั้งขอให้มีการเผยแพร่คำพิพากษาคดีเมาแล้วขับชนคนตายเพื่อให้จำเลยและสังคมตระหนักว่า เมาแล้วขับ เป็นพฤติกรรมที่อันตรายส่งผลให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและไม่ใช่แค่เรื่องความประมาท
“นอกจากนี้ควรตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ หลังสถานบันเทิงปิด มีการออกกฎหมายและบังคับใช้จริง สร้างเลนส์สำหรับจักรยาน และต้องขอความอนุเคาระห์รถปิดท้ายขบวนจากตำรวจจราจร กำหนดทุกกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรุนแรงต้องมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ทุกราย และรัฐบาลเองก็ต้องสนับสนุนเครื่องตรวจเมา และค่าใช้จ่ายในการสอบเทียบ (calibrate) เครื่องให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เพียงพออย่างน้อย 2 เครื่องต่อสถานีตำรวจภูธร ไม่ใช่มีเพียง 1 เครื่อง ต่อสถานีอย่างทุกวันนี้”
ด้านนพ.แท้จริง ศิริพานิชเลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ที่ผ่านมามูลนิธิเมาไม่ขับได้รณรงค์ เมาไม่ขับ เพื่อเรียกร้องไม่ให้คนเมาออกมาขับรถบนท้องถนน และสร้างปัญหาอุบัติเหตุทางถนนซ้ำซาก ทำให้คนเจ็บและตายมากมาย แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอ เราจึงทำอย่างเข้มข้นขึ้น โดยตั้งสโลแกนว่า เมา+ขับ=จับ + ขัง เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จะยังซ้ำซากเหมือนเดิม แปลว่าทุกวินาทีมีคนรอเจ็บ ตายอยู่บนท้องถนนอีกมาก เพราะฉะนั้น เมา+ขับ=จับ + ขัง นี่คือมาตรการเดียวที่เราจะทำในตอนนี้ เพราะพฤติกรรมของคนเมาแล้วขับก็มีเกลื่อนถนน ซ้ำยังไม่กลัวถูกจับ ผู้ถูกคุมพฤติกรรมหลายคนบอกว่า คนเมาแล้วขับไม่กลัวหรอก เพราะเมาแล้วขับโทษก็แค่รอลงอาญา แสดงให้เห็นว่า เขาพร้อมที่จะกระทำผิดซ้ำได้เสมอ ฉะนั้นการรณรงค์เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว คนเหล่านี้เขารู้ว่าเมื่อเมาแล้วขับ อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุการบาดเจ็บและตายได้ ซ้ำยังรู้ด้วยว่าผิดกฎหมาย สิ่งเดียวที่เขาจะกลัวได้คือ การติดคุก เพราะคำว่า รอลงอาญา เราต้องมีบทลงโทษคนที่เมาแล้วขับอย่างแท้จริง
ขณะที่นายสุจิน ซื่อสุวรรณ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ กล่าวถึงสิ่งที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากอุบัติสามารถกระทำได้ ว่า ถ้าจะเปลี่ยนความคิดผู้พิพากษานั้นคงทำไม่ได้ เพราะทางผู้พิพากษาจะลงว่าเป็นการประมาท และจะลงโทษเฉพาะข้อหาหนักเพียงข้อหาเดียวคือเมาแล้วชนคนตาย แต่เมาแล้วขับเฉยๆจะไม่ได้มีบทลงโทษ ดังนั้นสิ่งที่จะทำได้คือไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ยื่นคำร้องขอสินไหมทดแทน ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ ในมาตรา 41/1 กรณีคนตายก็จะเรียกร้องโรงศพ และกรณีที่ไม่ถึงตายก็สามารถเรียกร้องขอรักษาพยาบาลได้และค่าเสียหายได้ หลังจากนั้นก็จะสามารถเข้าร่วมเป็นโจทย์กับสำนักงานอัยการได้ ถ้าศาลตัดสินออกมาแล้วเราไม่พอใจสามารถที่ยื่นอุธรณ์ต่อได้ แต่ถ้าไม่เข้าร่วมศาลตัดสินออกมาอย่างไรเราก็จะอุทธรณ์ไม่ได้ และการขออุทธรณ์ในการที่เรายากจนเราสามารถขอให้ศาลหาทนายให้เราได้ อันนี้คือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประสบปัญหา
ทั้งนี้นายณรงค์ เทียมเมฆ ตัวแทนเครือข่ายจักรยาน กล่าวว่า บนท้องถนนนักปั่นส่วนใหญ่จะปั่นเพื่อการเดินทางและเพื่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามคนที่ไม่ใช้จักรยานมักมองว่าการปั่นรถจักรยานบนท้องถนนเป็นสิ่งกีดขวาง เกะกะการสัญจรของยานพาหนะอื่นๆแต่แท้จริงแล้วจักรยานถือเป็นยานพาหนะที่ช่วยโลกลดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและถนนถือเป็นสถานที่สำหรับยานพาหนะทุกประเภทไม่เพียงรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เท่านั้น อีกทั้งภาครัฐก็ยังมีการรณรงค์ให้ ประชาชนใช้จักรยานเพื่อสุขภาพและเพื่อการเดินทางกันมากขึ้น แต่ภาครัฐกลับยังไม่มีมาตรการรองรับที่เพียงพอดังนั้นทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนให้แก่ผู้ขับขี่ทุกประเภท โดยเฉพาะจักรยานซึ่งถือเป็นยานพาหนะที่บอบบางที่สุด