ราชบัณฑิตยสถานแนะใช้ "โรฮีนจา" แทน "โรฮิงญา"
มีคำแนะนำจาก "ราชบัณฑิตยสถาน" เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำภาษาไทยเรียกชาวโรฮิงญา โดยระบุให้ใช้ "โรฮีนจา" แทน ขณะที่คำว่า "เมียนมา" ที่หมายถึงประเทศพม่าตามความเข้าใจของคนไทยนั้น ไม่มี ร.เรือการันต์
พันเอกบรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า กอ.รมน.ได้ใช้คำว่า "โรฮีนจา" ในการเรียกชาว "โรฮิงญา" มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.ได้ประสานมา เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน
โอกาสนี้ พันเอกบรรพต ได้นำหนังสือที่ราชบัณฑิตยสถาน ส่งถึงเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 มาเปิดเผยกับสื่อมวลชนด้วย
เนื้อหาในหนังสือ สรุปว่าเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษาไทยของคำว่า Rohingya (ชาติพันธุ์โรฮิงญา) เพื่อหาข้อยุติการใช้คำที่ถูกต้องนั้น ราชบัณฑิตยสถานได้พิจารณาหาข้อยุติโดยจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาพม่า ซึ่งคำภาษาอังกฤษว่า Rohingya เมื่อมาถอดเป็นอักษรโรมัน จะได้คำว่า ro-hin-gya ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการพม่า ดังนั้นเมื่อทับศัพท์ตามเกณฑ์จะได้คำว่า "โรฮีนจา"
ทั้งนี้ gy เป็นเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย ตัวอักษรไทยที่ใกล้เคียงที่สุดคือ "จ" ประกอบกับหลักเกณฑ์ของพม่ากำหนดให้ in แทนเสียง อีน, ar แทนเสียง อา
ส่วนการที่ y กลายเป็น "ญ" เนื่องจากมีการฟังคล้ายเสียงขึ้นจมูก จึงมีผู้ใช้ "ญ" แทน "ย"
สำหรับคำว่า Myanmar ถอดตามหลักเกณฑ์ได้ว่า "เมียนมา" ไม่ใช่ "เมียนมาร์"
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : หนังสือที่ราชบัณฑิตยสถาน ทำถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ ว่าด้วยการเรียกชาวโรฮิงญาว่า "โรฮีนจา"