นายกฯ ส.ประมงสมุทรสาครหวั่นเสียค่า Air Time รายเดือน หลังติดระบบ VMS
นายกสมาคมประมงสมุทรสาครหวังช่วยรัฐล้างใบเหลือง IUU ยินดีติดตั้ง VMS บนเรือประมง เผยไม่กังวลราคาสูงต่ำเท่าต้องเสียงค่า ‘Air Time’ รายเดือน หวั่นเป็นภาระชาวประมง ระบุเลิกใช้อวนรุน-อวนลาก ไม่ได้ เหตุบางพื้นที่ยังจำเป็น
วันที่ 10-22 พฤษภาคม 2558 คณะทำงานของสหภาพยุโรป จะเดินทางมาไทยเพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาประมงให้เป็นไปตามมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) เพื่อให้พ้นจากสถานะใบเหลือง
ทั้งนี้ หนึ่งในมาตรการเร่งด่วน คือ ให้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอส ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) โดยราคาประมาณ 25,000-30,000 บาท/ลำ และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการจัดหาบริษัท
นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)ว่า การให้เรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอส ต้องติดตั้ง VMS โดยเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท/ลำ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่กับเจ้าของเรือประมง เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือต้องเสียค่าบริการรับส่งข้อมูลรายเดือน ค่าอุปกรณ์ (Air Time) ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200-1,300 บาท/เดือน/ลำ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท แต่จะจ่ายให้กรมเจ้าท่าหรือบริษัทนั้น ยังไม่มีข้อสรุปเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ชาวประมงอาจรวมตัวกันจัดส่งสัญญาณกันเองก็ได้
“การบังคับให้จ่ายค่า Air Time รายเดือน จะกลายเป็นภาระของเจ้าของเรือประมง เพราะแต่ละคนมีศักยภาพไม่เท่ากัน” นายกสมาคมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าว และว่า รัฐบาลควรตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลค่าใช้จ่ายการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว
นายกำจร ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องประมงของรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้วตามหลักสากล เพื่อหวังให้ไทยรอดพ้นจากใบเหลือง แต่ยังมีบางประเด็นที่ชาวประมงปฏิบัติไม่ได้ นั่นคือ การส่งเสริมใช้เครื่องมือให้ถูกต้อง และกรณีไม่มีอาชญาบัตรจะไม่ได้รับอนุญาตออกจากท่า โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ยุติใช้เครื่องมือทำลายล้าง ประเภทอวนรุน อวนลาก และเรือปั่นไฟ ซึ่งบางกรณีไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะต้องใช้ในการทำประมง เช่น จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสงคราม ต้องใช้อวนรุนจับเคย เพื่อนำมาทำกะปิ ใช้อุปกรณ์อื่นแทนไม่ได้
ทั้งนี้ เห็นด้วยต้องส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องมือเพื่อการอนุรักษ์ โดยจำกัดขนาดอวนรุนและอวนลากให้เล็กและสั้นลง แต่คงไม่ยกเลิกนำมาใช้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องร่วมกันคิดและบริหารจัดการ อย่างไรก็ตามนักวิชาการจะต้องศึกษาว่า ทะเลไทยทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยมีปริมาณสัตว์น้ำจำนวนเท่าไหร่ และเรือประมงสามารถจับได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นข้อมูลแก่ชาวประมงต่อไป .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ thailandindustry