นักวิจัยเตือนเฝ้าระวังรอยเลื่อน ‘ศรีสวัสดิ์-สะกาย’ เสี่ยงแผ่นดินไหวกระทบไทย
ทีมวิจัย สกว.ชี้อาคารส่วนใหญ่ในไทยไม่ผ่านมาตรฐานต้านทานแผ่นดินไหว เหตุขาดผู้เชี่ยวชาญออกแบบก่อสร้างถูกหลักวิศวกรรม หวังกรมโยธาฯ แก้ฎกระทรวงบังคับใช้อาคารในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล
เร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย แถลงข่าว เรื่อง “บทเรียนแผ่นดินไหว ไทย-เนปาล” ณ ห้องประชุม สกว. เพื่อเป็นเวทีสื่อสารข้อมูล องค์ความรู้ และข้อเสนอจากงานวิจัยลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทยและเนปาล
ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระบุว่า บริเวณตอนเหนือของอินเดียและเนปาลมีแผ่นดินไหวชุกชุมในบริเวณแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย อาคารส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ในเนปาลเป็นอาคารอิฐก่อที่อ่อนแอและเสียหายได้ง่ายเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ก่อสร้างได้ง่าย ราคาถูก ชาวบ้านปลูกสร้างกันเองหรือใช้ช่างก่อสร้างท้องถิ่น
ส่วนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมีอยู่ร้อยละ 25 เป็นอาคารที่วิศวกรสามารถออกแบบให้ทนต่อแผ่นดินไหวรุนแรงได้ แต่ร้อยละ 70 ของอาคารเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบและก่อสร้างมาตรฐานที่มีอยู่ เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่ไม่มีการออกแบบอาคารที่ได้มาตรฐาน
ส่วนแผ่นดินไหวในประเทศไทยตามรอยเลื่อนมีพลังต่างๆ หัวหน้าชุดโครงการฯ กล่าวว่า อาจมีความแรงได้ถึง 6.8-7.2 ริกเตอร์ แต่อาจไม่เกิดในช่วงชีวิตของเรา ปัญหาใหญ่คือ กฎกระทรวงกำหนดให้วิศวกรต้องออกแบบอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ แต่มีจำกัดพื้นที่ควบคุมเพียบ 10 จังหวัด บังคับใช้กับอาคารสาธารณะ อาคารสำคัญ อาคารเก็บวัสดุอันตราย และอาคารทั่วไปที่มีความสูงเกิน 15 เมตร ซึ่งกรมโยธาธิการกำลังปรับกฎหมายให้มีพื้นที่ครอบคลุมมาถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในระยะไกล
“พื้นที่มีความเสี่ยงมาก คือ ภาคเหนือและภาคตะวันตก อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่มีอยู่อาจไม่ได้นำมาใช้อย่างถูกต้องโดยเฉพาะกับวิศวกรผู้ออกแบบ ช่างก่อสร้าง ดังนั้นความรู้ความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นในขณะนี้” ศ. ดร.เป็นหนึ่ง กล่าว และว่าควรมีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี รวมถึงการสร้างความตื่นตัวแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง นอกจากจังหวัดเชียงราย โดยไม่ต้องไปหวังพึ่งหน่วยงานรัฐ
“โครงสร้างอาคารในประเทศไทยจะเสียหายมากกว่าที่เนปาลได้ หากเกิดแผ่นดินไหวใน 3 กรณี คือ ขนาดมากกว่า 7.5 ที่รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี, ขนาด 8 ที่รอยเลื่อนสะกาย และขนาด 8.5 ที่รอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกยูเรเชียและอินเดีย แม้โอกาสก็เกิดยากแต่ก็มีความเป็นไปได้ โดยมีอาคารประมาณ 4-17 หลังที่มีคนอยู่นับพันอยู่ในอาคารเหล่านี้ โดยอาคารสูงจะได้รับผลกระทบสูงกว่าแม้จะมีการออกแบบและใช้วัสดุดีกว่า แต่เป็นผลจากการโยกตัวหรือการกำทอนจากแรงแผ่นดินไหว” ศ. ดร.เป็นหนึ่งระบุ
ด้านผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงการศึกษารอยเลื่อนต่างๆ ว่าค่อนข้างมีปัญหา เช่น ไม่ได้รับอนุญาต การเลื่อนตัวที่ปรากฏอาจเกิดเพียงครั้งเดียว ในภาพรวมรอยเลื่อนที่ศึกษามีหลักฐานการเกิดอยู่ในช่วงพันปีขึ้นไป ซึ่งถือว่าค่อนข้างยาว จึงต้องหาความสัมพันธ์ระหว่างความยาวของรอยเลื่อน เพื่อทำนายการเกิดแผ่นดินไหว พบว่าทุกรอยเลื่อนมีศักยภาพการเกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 6 และเกือบถึง 7
ทั้งนี้ หลังแผ่นดินไหวที่เชียงรายได้สำรวจการจัดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวตาม (อาฟเตอร์ช็อค) และสำรวจภาคสนาม เพื่อเก็บข้อมูลและผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในเชิงธรณีวิทยา พบว่าการเกิดแผ่นดินไหวมีระยะการแตก 25 กม. แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่แต่ก็ทำให้เกิดรอยแตกสองแนว จึงเป็นประเด็นสำคัญว่าแนวใดที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว รอยเลื่อนพานหรือรอยเลื่อนแม่ยาว ซึ่งต้องทำการศึกษากันต่อไปส่วนการศึกษาการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน พบว่าเลื่อนไปทางซ้าย และมีโอกาสเกิดอาฟเตอร์ช็อคได้นานกว่า 500 วัน
ส่วนแผ่นดินไหวล่าสุดที่เกาะยาวในทะเลอันดามัน นักวิชาการ มก. ระบุด้วยว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะอยู่ในรัศมี 100-200 กม. และเป็นรอยเลื่อนเดียวกัน เรายังไม่ทราบว่าพลังงานที่สะสมในรอยเลื่อนต่างๆ มีเท่าใด และจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกเมื่อไร ซึ่งจะต้องทำการศึกษากันต่อไป
ขณะที่ รศ. ดร.ไพบูลย์ ปัญญาคะโป มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวถึงการออกแบบอาคารเรียนต้านทานแผ่นดินไหว ว่าจะต้องมีฐานรากต้านทานแรงแผ่นดินไหว เสริมผนังรับแรงเฉือนเพื่อป้องกันการเคลื่อนตัวทางด้านขวางที่จะส่งถ่ายแผ่นดินไหว รวมทั้งวางผังคานด้านขวางระดับหลังคาไม่ให้โยกไหวแตกร้าว และใช้เสากลมที่มีเหล็กเสริมในเสา มีเหล็กปลอกเสริมพิเศษบริเวณปลายเสา ขณะที่บ้านส่วนใหญ่ไม่มีคานยึดบริเวณหัวเสาแต่ใช้เหล็กเชื่อมเล็กน้อยซึ่งไม่ถูกต้อง และผนังก่ออิฐแตกร้าวเนื่องจากไม่มีคานคอนกรีตยึดระหว่างหัวเสาจึงต้องเสริมเหล็กในบริเวณนี้
ด้าน ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บทเรียนสำคัญที่ควรรู้คือชาวบ้านธรรมดาต้องสร้างบ้านอย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหายหรือความเสียหายลดลง ทั้งนี้มีอาคารมากกว่าหมื่นหลังที่ได้รับการประเมินความเสียหาย ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.แม่ลาว ไม่ได้ออกแบบทางวิศวกรรมที่ถูกต้อง วัสดุก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานและไม่ต้านทานแผ่นดินไหว
ปัญหาสำคัญคือ ขาดแคลนทุนทรัพย์และความรู้ รวมถึงต้องปลูกฝังจิตสำนึกการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนให้ปลอดภัยตามมาตรฐานการรองรับแผ่นดินไหว เพราะเราไม่สามารถทำนายได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดเมื่อใด