บอร์ดค่าจ้าง ไม่ได้ข้อสรุปค่าจ้าง 300 บาท เสียงแตก 2 ทาง
ประชุมบอร์ดค่าจ้างกลาง “เสียงแตก” ฝ่ายรัฐ-ลูกจ้างเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บ.ใน 2 ปี ปีแรกปรับ 40% เริ่ม 1 ม.ค.55 ฝ่ายนายจ้างขอเวลา 4 ปี-วอนรัฐชดเชยค่าจ้างส่วนต่าง ด้านเครือข่ายแรงงานขู่ฟ้องศาสลปกครองหากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ผิดสัญญาหาเสียง 300บ.ทั่วประเทศต้นปีหน้า
วันที่ 5 ต.ค.54 นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) ในฐานะประธาน คณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางเพื่อพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทตามนโยบายของรัฐบาลว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทโดยระยะแรกจะปรับเพิ่มขึ้น 40% ทุกจังหวัดในวันที่ 1 ม.ค.55 แต่มีข้อเสนอ 2 แนวทาง
แนวทางแรก-ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทภายใน 2 ปี โดยปีแรกปรับเพิ่มขึ้น 40% ทุกจังหวัด 1 ม.ค.55 ส่วนปีที่สองปรับเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ 1 ม.ค.2556 โดยมีเงื่อนไขว่าปีแรกจังหวัดใดมีค่าจ้างขั้นต่ำถึง 300 บาทแล้วก็ให้คงอัตราค่าจ้างที่ปรับใหม่ไว้ 2-3 ปี เพื่อแบ่งเบาภาระนายจ้างได้มีเวลาปรับตัว แนวทางที่สอง-ให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแบบขั้นบันไดภายใน 4 ปี โดยไม่ต้องอาศัยกลไกพิเศษมาช่วย เพื่อให้นายจ้างมีเวลาปรับตัวมากขึ้น ทั้งนี้ตัวแทนฝ่ายนายจ้างไม่ได้ขัดข้องทั้ง 2 แนวทาง แต่อยากให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการค่าจ้างกลางไปรวบรวมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการมาเสนอในการประชุมครั้งหน้า 17 ต.ค.55
“ฝ่ายรัฐและลูกจ้างเสนอให้ปรับขึ้นในเวลา 2 ปี ขณะที่ฝ่ายนายจ้างขอเวลา 4 ปีและต้องการเห็นมาตรการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งจะไปหารือกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ให้ช่วยคุยกับกระทรวงการคลังและกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้ออกมาชี้แจงมาตรการต่างๆในส่วนที่รับผิดชอบ อยากให้เสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.)พร้อมกันเพื่อให้ออกมาเป็นแพคเกจช่วยเหลือ” นพ.สมเกียรติ กล่าว
นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกระทรวงแรงงานมีความชัดเจนอยู่แล้ว เช่น การลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมลงฝ่ายละ 1.5% ใน 4 กรณี เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร เสียชีวิต จากเดิมฝ่ายรัฐบาลจ่ายอยู่ที่ 2.75% ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจ่ายอยู่ที่ฝ่ายละ 5% ของค่าจ้าง โดยการลดเงินสมทบนี้จะครอบคลุมแรงงานในระบบประกันสังคม 9.6 ล้านคน ยืนยันว่าไม่ไปกระทบสิทธิประโยชน์รวมทั้งเงินออมชราภาพด้วย ทั้งนี้จะเสนอให้รัฐบาลนำเงินสมทบส่วนที่ลดลง 1.5% ในส่วนของรัฐบาลเติมในส่วนของกรณีว่างงานและเงินออมชราภาพ ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราว 1-2 ปีเท่านั้น รวมถึงโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่จะขออนุมัติงบลงทุนเพื่อสังคม 1 หมื่นล้านบาท โดยจะเสนอบอร์ด สปส. 11 ต.ค. และการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ผลิตชิ้นงานได้เพิ่มขึ้น
“ผมตั้งใจว่าจะให้ได้ข้อยุติเรื่องปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทในการประชุมครั้งหน้า 17 ต.ค. ไม่อยากใช้วิธีโหวต แม้จะชนะแต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เพราะยังมีความเห็นแตกต่างกัน แต่อยากให้เป็นความเห็นร่วมกัน” นพ.สมเกียรติ กล่าว
นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ฝ่ายนายจ้างได้เสนอให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 4-5% เพื่อลดต้นทุนของนายจ้าง และเพิ่มรายได้ให้แก่ลูกจ้าง เพราะมาตรการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ได้รับประโยชน์ ส่วนมาตรการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ ทางเอสเอ็มอีก็ไม่อยากเป็นหนี้ ทั้งนี้ได้เสนอมาตรการ 4 ขั้น คือให้พิจารณาตามกรอบที่ได้เคยทำมา คือขั้นแรก 1 ม.ค. 55 ปรับขึ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพฯ 215 บาทเป็น 230 บาท ขั้นที่สอง 1 ม.ค. 56 ปรับขึ้นเป็น 245-255 บาท ขั้นที่สาม 1 ม.ค.57 ปรับขึ้นเป็น 265-275 บาท ขั้นที่สี่ 1 ม.ค.58 ปรับขึ้นเป็น 300 บาท โดยส่วนต่าง 300 บาทที่ภาครัฐได้หาเสียงไว้ก็เป็นส่วนที่รัฐบาลจะต้องชดเชยเป็นขั้นบันไดตามค่าจ้างที่ปรับขึ้นรายปี ซึ่งเมื่อครบปี 2558 ก็หยุดชดเชย เพราะค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นมาที่ 300 บาทพอดี
วันเดียวกันที่กระทรวงแรงงาน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มายื่นหนังสือต่อ รมว.แรงงาน และปลัด รง. โดยกล่าวว่า คสรท.ยืนยันให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ 1 ม.ค.ปีหน้าตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งวันที่ 7 ต.ค.เวลา 10.30 น.จะร่วมกับองค์การแรงงานต่างๆประมาณ 3 พันคนไปยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ทำตามสัญญา รวมทั้งขอให้ผลักดันการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้แรงงานจัดตั้งสหภาพและรวมตัวเรียกร้องสวัสดิการจากนายจ้างได้
“หากรัฐบาลไม่สามารถทำได้ ก็จะหารือกันดำเนินการรวบรวมรายชื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพราะรัฐบาลทำผิดกฎหมายในเรื่องการหาเสียงเลือกตั้ง” รองประธาน คสรท. กล่าว
นายเผดิมชัย กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้เร่งดำเนินการเรื่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทอย่างเต็มที่ ซึ่งเหตุผลที่ต้องดำเนินการในเวลา 2 ปี เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการในการลดภาษีนิติบุคคล โดยปี 2555 จะลดจาก 30% เหลือ 23% และปี 2556 ลดจาก 23% เหลือ 20% ทั้งนี้การลดหย่อนภาษีต้องทำเป็นรอบปี จึงไม่สามารถปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ 1 ม.ค.ปีหน้าได้ .