ภาค ปชช.จี้รัฐใช้มาตรา 44 เปิดประมูลแปลงปิโตรเลียมระบบแบ่งปันผลผลิต
กมธ.วิสามัญฯ จัดรับฟัง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม-พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เล็งชงเดินหน้าตามแผน 3 ระยะ แก้มาตรา 23, 56 เปิดทางระบบแบ่งปันผลผลิต ตั้งบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ ด้าน ปชช.ร่วมเวทีคึกคัก หนุนยกเลิกทั้งสองฉบับ ใช้มาตรา 44 เปิดประมูลแบบแบ่งปันผลผลิตเเปลงที่มีศักยภาพ
วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 จัดสัมมนา เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ณ สโมสรนายทหารอากาศ บางซื่อ โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังราว 600 คน
พล.ท.อำพล ชูประทุม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะ ประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 กล่าวถึงข้อสรุปผลการศึกษาเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ว่าต้องมีรายละเอียดเปิดกว้างเพื่อทำให้รัฐมีเครื่องมือและกลไกที่หลากหลายบริหารจัดการพลังงานตามสภาพแวดล้อมและศักยภาพของประเทศที่มีอยู่ จากเดิมจำกัดเฉพาะการใช้ระบบสัมปทาน โดยเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างสัญญา
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เนื่องจากมีปริมาณการขุดเจาะลดลง ดังนั้น จึงอาศัยการพึ่งพาตนเองมากขึ้น แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดังกล่าวนั้นในบางประเทศใช้เวลามากกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อเชิญตัวแทนบริษัทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ร่วมหารือก็ไม่ได้ปฏิเสธระบบดังกล่าว เพราะไม่ว่าระบบใดล้วนเป็นข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาที่ให้ผลประโยชน์สมดุลกัน
ประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังกล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นควรให้ดำเนินงานตามแผน 3 ระยะ คือ
1.ระยะเร่งด่วน ต้องแก้ไขกฎหมายให้เปิดกว้างขึ้น เพื่อสร้างทางเลือกบริหารจัดการพลังงาน โดยแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มาตรา 23 และ 56 เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมจำกัดเฉพาะระบบสัมปทานเท่านั้น
2.ระยะกลาง จัดตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาทำงานเฉพาะกาลสำหรับร่างกฎหมายให้สมบูรณ์ ในระหว่างยังไม่มีหน่วยงานกลางขึ้นมาทำหน้าที่
3.ระยะยาว จัดตั้งบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติเป็นหน่วยงานบริหารจัดการอย่างเป็นทางการ
ด้านนายประภาส คงเอียด อนุกรรมาธิการและเลขานุการวิสามัญ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 กล่าวตอนหนึ่งถึงค่าภาคหลวงว่า การยกเว้นค่าภาคหลวงที่ผ่านมาทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ดังนั้นจึงควรยกเว้นเฉพาะปิโตรเลียมที่ใช้ในการสำรวจและผลิตเท่านั้น ส่วนกรณีอื่นไม่ควรยกเว้น และให้การชำระค่าภาคหลวงและค่าภาษีเป็นเงินตราไทย
ส่วนการคำนวณมูลค่าปิโตรเลียมเพื่อเสียค่าภาคหลวงนั้น อนุกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ถือราคาจำหน่ายปิโตรเลียมเป็นมูลค่าฐานคำนวณ ซึ่งระบุราคาต่าง ๆ เช่น ราคาประกาศ ราคาตลาด ราคามาตรฐาน ราคาจำหน่ายจริง และยังอ้างอิงไปมาระหว่างราคาใช้คำนวณค่าภาคหลวงกับราคาต้องรับรู้รายได้การเสียภาษีปิโตรเลียม ดังนั้นต้องเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่ที่เข้าใจและควบคุมง่ายขึ้น
นายประภาส ยังกล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายกำหนดอัตราค่าภาคหลวงเป็นร้อยละ โดยคิดจากมูลค่าของค่าภาคหลวง แต่กลับมีปริมาณเข้ามากำกับด้วย แม้จะกำหนดเป็นขั้นบันไดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ถือมูลค่านั้น จึงควรยกเลิกระบบดังกล่าว และเปลี่ยนมาคิดร้อยละจากมูลค่าในแต่ละช่วงแทน โดยไม่ต้องมีปริมาณกำกับกำหนดอัตรา ทั้งนี้ เมื่อเสียค่าภาคหลวงจะต้องคำนวณเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าและปริมาณ และเลือกใช้วิธีที่เกิดประโยชน์มากกว่า เหมือนกับภาษีสรรพสามิตในปัจจุบันในระบบคำนวณดังกล่าว
ขณะที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เครือข่ายประชาชานปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวถึงภาพรวมการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นด้วย แต่สิ่งที่ควรแก้ไขเพิ่มเติมหรือดำเนินการเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ เนื่องจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมยังมีข้อบกพร่องจำนวนมาก จึงควรยกเลิกกฎหมายทั้งสองฉบับและร่างกฎหมายขึ้นใหม่แทน
นอกจากนี้ควรแก้ไขใหม่ให้ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นของปวงชนชาวไทย และรัฐในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทยมีหน้าที่บริหารจัดการเพื่อความมั่นคงของรัฐ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน ให้เขียนให้ชัดเจน และไม่ว่าจะระบบสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือระบบสัญญาจ้างผลิตหรือบริการ ต้องใช้การประมูลแข่งขันเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ และรัฐต้องจัดสภาพแวดล้อมเพื่อเกิดการแข่งขันประมูลอย่างเป็นธรรมต่อเอกชนทุกราย
ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวต่อว่า เมื่อดำเนินการแข่งขันระบบประมูลแล้ว รัฐควรจัดการแข่งขันในระบบแบ่งปันผลตอบแทนของรัฐ โดยไม่หักต้นทุน เพื่อป้องกันการทุจริตหรือใช้ดุลยพินิจในอนาคตที่แฝงมาในรูปต้นทุนเกินจริงเพื่อลดผลตอบแทนของรัฐ แล้วกำหนดค่าใช้จ่ายในสัดส่วนภาษีแทน และต้องกำหนดจำนวนแปลงสัมปทานในแต่ละรอบให้น้อยกว่าจำนวนผุ้เข้าแข่งขัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฮั้วหรือทุจริตกัน
“ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน รัฐควรพิจารณาไม่ให้ขาดแคลนปิโตรเลียมในสัมปทานที่จะหมดอายุใน 6-7 ปี ดังนั้นต้องอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 เปิดประมูลแข่งขันแบ่งปันผลผลิตเฉพาะแปลงปิโตรเลียมที่ชัดเจน และรัฐยอมรับว่ามีศักยภาพสูงสุดเกือบ 5 แสนล้านบาท คือ เเปลง G4 เเละ G5 ในทะเล เพื่อไม่ให้เกิดข้ออ้างการเปิดสัมปทานทั้งหมด 49 แปลง” นายปานเทพ กล่าว
ด้านพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เเละพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 กล่าวว่า จะนำความคิดเห็นทั้งหมดเสนอต่อ สนช.ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 เพื่อให้พิจารณา ก่อนจะยื่นต่อ ครม.เเละ คสช. เเต่ไม่สามารถบังคับให้ปฏิบัติตามได้ ต้องปล่อยให้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เเละหัวหน้า คสช.จะนำไปปฏิบัติ เพราะเป็นคนในกว้างเเละรับฟังความคิดเห็นของทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้ามีการอภิปรายอย่างกว้างขวางจากภาคประชาชน โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และร่างขึ้นใหม่แทน พร้อมเรียกร้องให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 พร้อมเร่งเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะปิโตรเลียมในหลายพื้นที่ .