วสท.แนะบังคับใช้กม.ให้ทุกอาคารสูงรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับ 7
วสท.นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมลงพื้นที่ภัยพิบัติที่เนปาล พบ อาคารที่พังส่วนใหญ่ไม่ได้เสริมเหล็กที่ออกแบบมาเพื่อต้านแรงแผ่นดินไหว ระบุพร้อมนำประสบการณ์มาใช้ในการเรียนการสอนและพัฒนาวิจัยนวัตกรรมการเฝ้าระวัง
เมื่อเร็วๆ นี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และการบินไทย แถลงข่าว หลังส่งทีมผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมลงพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวเนปาล ในชื่อโครงการ Thailand Hugs for Nepal ตั้งแต่ช่วงวันที่ 29 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2558 ณ อาคารวสท.
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวสท. กล่าวถึงการลงพื้นที่พบว่าความเสียหายของแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลมีมูลค่าสูงถึง 20% ของจีดีพี ซึ่งการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญและทีมงานนักศึกษาเดินทางลงสำรวจพื้นที่พร้อมให้ความช่วยเหลือทางวิชาการวิศวกรรมที่ นครกาฎมาณฑุนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งการกู้ภัยในพื้นที่ห่างไกลเป็นความจำเป็นเร่งด่วนและความต้องการในอนาคตอันใกล้เป็นขั้นตอนการตรวจสอบอาคาร ประเมินผลเยียวยาและฟื้นฟู
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีการวิจัย แต่ก็ยังไม่สามารถคาดเดาแผ่นดินไหวได้ ในด้านเทคโนโลยีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวซึ่งมีราคาสูงมากมีใช้ในชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ญี่ปุ่น และเม็กซิโก อีกทั้งสถานีวัดความสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวที่สามารถจับคลื่นพี เดินทางผ่านเปลือกโลกได้เร็วกว่าคลื่นเอส เป็นคลื่นที่ทำให้แผ่นดินเกิดการสั่นไหวสามารถเตือนภัยได้ไม่กี่นาทีก่อนเกิดแผ่นดินไหวและจะมีเวลาเพียง 15-20 วินาทีเท่านั้นในการหาที่หลบหรือวิ่งออกจากอาคาร ดังนั้นการเตรียมความพร้อมและเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับคนไทยและเนปาลจะต้องพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนและเอเชีย ทั้งด้านวิศวกรรม ข้อมูล นวัตกรรม การกู้ภัยแผ่นดินไหว ที่จะต้องดำเนินการอย่างยั่งยืนและเสริมสร้างระบบการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลประสิทธิภาพ
ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ อุปนายกวสท. และเป็นหัวหน้าทีมในการเดินทางครั้งนี้ กล่าวถึงสาเหตุหลักที่อาคารพังเสียหายเนื่องจากอาคารส่วนใหญ่ไม่ได้เสริมเหล็ก และภายหลังการหารือกับเอกอัครราชทูตไทยประจำเนปาล ภารกิจการดำเนินงานนั้นมี 3 ส่วน คือ การดูแลความปลอดภัยสำหรับคนไทยในกรุงกาฎมาณฑุ การช่วยเหลือภาครัฐของเนปาล ด้วยการให้คำแนะนำและการให้คำปรึกษาในการกู้ภัย รื้อถอนซากปรักหักพังของอาคาร และการก่อสร้าง และความร่วมมือระหว่างไทยกับเนปาล ในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ ประสบการณ์และบูรณาการเพื่อการเรียนรู้เชิงวิชาการ เพื่อที่จะพัฒนาวิชาชีพในเชิงเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยจากภัยพิบัติ
ขณะที่ผศ.ดร.นันทวัฒน์ จรัสโรจน์ธนเดช หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ได้ออกไปในพื้นที่ชนบท พบว่าโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อาคารสถานที่ราชการ โรงเรียน โรงแรม บ้านที่พักอาศัย ที่ก่อสร้างขึ้นเองนั้นพังทลายหมดเนื่องจากการก่อสร้างอาคารเป็นอิฐผนังหินก่อที่มีน้ำหนักมากจะเสียหายมากที่สุด สำหรับโครงสร้างที่เป็นหอคอยทรงสูง อาคารยกสูงก็มีความเสียหายทุกที่ ส่วนอาคารใดที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ออกแบบให้รับแรงแผ่นดินไหวและควบคุมการก่อสร้างด้วยคุณภาพนั้น ส่วนใหญ่จะมีความมั่นคงแข็งแรงและเสียหายเพียงเล็กน้อย
ส่วนรศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. กล่าวว่า แม้รอยเลื่อนในเนปาลจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือยังคงมีอยู่ เนื่องจากแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกในย่านนี้ค่อนข้างจะแอคทีฟ คือมีการสะสมพลังงานและปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง จากสถิติแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดในย่านนี้ตามลำดับ คือ
1.เกาะสุมาตราเหนือ อินโดนีเซีย ค.ศ. 2004
2.เกาะนีอาส อินโดนีเซีย ค.ศ.2005 และ 2007
3.เมืองเหวินฉวน จีน ค.ศ. 2008
4.หมู่เกาะอันดามัน อินเดีย ค.ศ.2009
5.มัณฑะเลย์ เมียนมาร์ ค.ศ.2011
6.เมืองชเวโบ เมียนมาร์ ค.ศ.2012
7.มหาสมุทรอินเดีย อินโดนีเซีย ค.ศ.2012
8.มณฑลเสฉวน จีน ค.ศ.2013
9.แม่ลาว จ.เชียงราย ค.ศ.2014
10.เนปาล ค.ศ.2015
สำหรับประเทศไทยโอกาสจะเกิดแผ่นดินไหวนั้น รศ.สิริวัฒน์ กล่าวว่า โอกาสเกิดครั้งใหญ่อย่างเนปาลน้อย แต่สิ่งสำคัญคือการเตรียมพร้อมรับมืออย่างถูกต้อง และควรบังคับใช้กฎหมายให้ทุกอาคารสูงต้องรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในระดับ 7 ได้ เนื่องจากอาคารที่มีความสูงจะมีผลกระทบสร้างความเสียหายรุนแรงอย่างมากโดยเฉพาะกับคนที่อยู่ภายใน วสท.จะนำประสบการณ์แผ่นดินไหวในเนปาลมาต่อยอดใช้ประโยชน์ในการบรรเทาช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจ.เชียงราย เตรียมความพร้อมเพื่อลดผลกระทบความสูญเสีย