เตือนขุดศพโรฮิงญาต้องมาตรฐานสากล
นักสิทธิมนุษยชน เตือนหน่วยงานรัฐ ขุดศพโรฮิงญาต้องยึดหลักสากล ระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านพิสูจน์อัตลักษณ์ นิติวิทยาศาสตร์ และอื่นเข้าร่วมกระบวนการ ชี้แม้แต่แมลง หนอน หรือเชื้อราที่พบ ก็เป็นหลักฐานสำคัญทางคดี
อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและคนหาย เขียนบทความเรื่อง "ความจำเป็นในการพัฒนาองค์ความรู้ในการขุดพิสูจน์ศพ : ข้อสังเกตกรณีศพนิรนามโรฮิงญา" ระบุว่า กรณีการพบหลุมฝังศพจำนวนมากบริเวณเขาแก้ว บ้านตะโละ หมู่ 8 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนน่าเชื่อว่าบริเวณนี้เป็นสถานที่ซึ่งขบวนการค้ามนุษย์ในไทยใช้เป็นที่กักขังชาวโรฮิงญาจำนวนนับพันคน โดยหลุมศพที่พบมีมากมายจนสื่อต่างประเทศบางฉบับเรียกบริเวณนี้ว่า "ทุ่งสังหาร" อีกทั้งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่ประเทศไทยกำลังถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และชุมชนนานาชาติเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงของการค้ามนุษย์นั้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาดังกล่าวจึงสร้างความสะเทือนใจอย่างยิ่งไม่เฉพาะคนไทย แต่ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์นี้ โดยถือว่าเป็นเสมือน "การค้าทาส" ยุคใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนมีส่วนรู้เห็น อันอาจทำให้การหาความจริงและความยุติธรรมเป็นไปได้อย่างยากลำบาก อีกทั้งเมื่อชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เป็นเสมือน "บุคคลไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ" ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นไปอีก
การพบศพจำนวนมากถึง 26 ศพที่เขาแก้ว มีผู้ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าน่าจะมีชาวโรฮิงญาที่เสียชีวิตและศพถูกนำไปฝังอำพรางในบริเวณพื้นที่ชายแดนจำนวนมากนั้น จากภาพข่าวจะเห็นการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรยกย่องชื่นชม แต่ในขณะเดียวกันการขุดศพเพื่อพิสูจน์ทราบอัตลักษณ์บุคคล หรือการหาพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ของการเสียชีวิตนั้น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการขุดพิสูจน์ศพ (Exhumation) เพื่อที่จะสามารถหาพยานหลักฐานการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย และคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อ ที่สำคัญจะเป็นการพิสูจน์ความจริงใจของประเทศไทยในการการยุติการค้ามนุษย์และการงดเว้นโทษต่อผู้กระทำผิด
การขุดศพเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์และเพื่อหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์นั้นตามหลักวิชาการสากลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ทั้งผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี (Archaeology) นิติวิทยาศาสตร์ (Forensic science) รวมถึงการตรวจวิเคราะห์ข้อมูลศพนิรนามที่ได้มาจากการตรวจทางนิติมานุษยวิทยา (Forensic anthropology) พยาธิวิทยา (Pathology) กีฏวิทยา(Entomology) รังสีวิทยา (Radiology) และทันตกรรม (Odontology) เพื่อใช้ในการระบุยืนยันบุคคล และนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลบุคคลสูญหาย รวมทั้งหาสาเหตุ รูปแบบการเสียชีวิต และเพื่อนำศพผู้เสียชีวิตส่งคืนญาติ
ดังนั้นการตรวจสถานที่เกิดเหตุและการขุดศพ (Exhumation) จึงจำเป็นต้องกระทำด้วยความรอบคอบและระมัดระวังอย่างสูง ต้องเก็บรายละเอียดทุกอย่างที่พบทั้งภายนอกและภายในหลุมศพ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น หนอน แมลง พืช หรือเชื้อราที่พบบริเวณศพ ซึ่งจะบอกได้ว่าศพนั้นเสียชีวิตมานานเท่าไร และเสียชีวิตอย่างไร
นอกจากนั้นการตรวจหาวัตถุพยานอื่นก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน เช่น เส้นผม กระดุม เศษเสื้อผ้า หรือวัตถุอื่นที่พบในหลุมศพก็สามารถนำไปสู่การหาพยานหลักฐาน ไม่เฉพาะการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล แต่ยังหมายถึงการหาความจริง และการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายด้วย
ไม่นานมานี้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้รับความร่วมมือจากองค์กร Argentine Forensic Anthropology Team (EAAF) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเทคนิคด้าน "นิติมานุษยวิทยา" เพื่อช่วยค้นหาและพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลในการฝึกอบรมงานด้านนิติมานุษยวิทยาและนิติโบราณคดี เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือและองค์ความรู้ทางวิชาการในการตรวจพิสูจน์ศพ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่องานด้านการพิสูจน์อัตลักษณ์และการหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การพัฒนากระบวนการขุดศพ (Exhumation) ในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลในประเทศไทยยังเป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านนิติมานุษยวิทยาก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งในการรวมรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ทราบอัตลักษณ์ และการหาความจริงในการเสียชีวิตของบุคคลนิรนาม
กรณีการขุดหาศพชาวโรฮิงญาที่บ้านตะโละ อำเภอสะเดา เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องชื่นชมความเสียสละของบรรดาอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และทุกฝ่ายที่ทำงานอย่างหนักในการขุดศพผู้เสียชีวิตมาพิสูจน์ทราบ และประกอบพิธีทางศาสนา รวมถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าประสบการณ์ และองค์ความรู้ด้านการขุดพิสูจน์ศพ (Exhumation) ในประเทศไทยอาจยังไม่ได้มาตรฐานตามหลักสากล
และนี่จะเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งในการเข้าถึงความจริงและความยุติธรรมของเหยื่อ โดยเฉพาะการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายในสถานการณ์ที่ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดซึ่งอาจเป็นผู้มีอิทธิพล หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง และพยานอาจถูกคุกคามจนไม่สามารถให้ข้อมูลหรือให้การเป็นพยานจนถึงชั้นศาลได้ การใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
กรณีการพบศพที่เขาแก้ว บ้านตะโละ ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบหลักฐานการค้ามนุษย์ในประเทศไทยและเหยื่อถูกทำให้เสียชีวิต โดยอาจเป็นการถูกทำร้าย ถูกทรมานด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงการบังคับอดอาหาร และอำพรางศพ แต่ทุกครั้งที่ผ่านมารัฐบาลไทยล้มเหลวในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
ปัจจุบันในช่วงที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและยุติการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย และให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับสูญหาย ขององค์การสหประชาชาติ ฉะนั้นประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการปฏิรูปกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อให้มีมาตรฐานระดับสากล มีความโปร่งใส ไม่ลำเอียง ตรวจสอบได้ และไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าเหยื่อ หรือผู้เสียหายจะเป็นคนไทย เป็นพลเมือง หรือเป็นบุคคลใดก็ตาม
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ศพชาวโรฮิงญาที่ถูกขุดขึ้นมาจากเขาแก้ว ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา