‘ศรีสุวรรณ’ รับไม่ได้ร่าง กม.อุทยานฯ ปล่อยนายทุนกอบโกยประโยชน์ป่าอนุรักษ์นาน 30 ปี
นักวิชาการ-ภาคประชาสังคม ชงกรมอุทยานฯ ทบทวนร่าง พ.ร.บ.กรมอุทยานแห่งชาติ-พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า ชี้ให้อำนาจทุนใช้ประโยชน์ป่าอนุรักษ์มากเกินไป หวั่นทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ‘ศรีสุวรรณ’ ซัดเลิกอ้างแก้ปัญหา ระบุปัญหาเกิดจากการไม่บังคับใช้กม.
วันที่ 6 พฤษภาคม 2558 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนา ‘แก้ไขกฎหมายป่าไม้-สัตว์ป่า ประโยชน์เพื่อใคร’ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ในเวทีมีข้อสรุป ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ...และพ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. ...เป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ จากเดิมอนุรักษ์ทรัพยากรไว้ แต่ปัจจุบันให้นำไปใช้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนข้อดีข้อเสียของร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับแล้ว ยังมีข้อดีจำนวนน้อย ดังนั้นควรใช้วิธีแก้ไขกฎหมายฉบับเดิมที่มีเนื้อหามุ่งอนุรักษ์เข้มแข็งดีกว่าการยกร่างกฎหมายใหม่ให้สิทธินายทุนเข้าไปใช้ประโยชน์ และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ให้ความสำคัญเสียงของประชาชนให้มากกว่านี้
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ...และพ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. ...ว่า ไม่เห็นด้วยทั้งสองฉบับ เพราะเป็นการดำเนินกลยุทธ์เปิดป่าให้ถูกกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การค้าขายสัตว์ป่าอย่างโจ่งครึ่ม ซึ่งในเวทีสากลยอมรับกันไม่ได้ และการอ้างจะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ยืนยันปัจจุบันไม่มีปัญหาใด ๆ ยกเว้นการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ถ้าทำได้จะช่วยปกป้องทรัพยากรของชาติอย่างยั่งยืน
“ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า เปลี่ยนเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนจากการสงวนคุ้มครองเป็นการส่งเสริม ซึ่งคำว่า ส่งเสริม เป็นการพูดให้ไพเราะเพราะพริ้ง ทั้งที่ประเด็นหลัก คือ ส่งเสริมให้นักธุรกิจนายทุนค้าสัตว์ป่าได้อย่างถูกกฎหมาย” นายกสมาคมต่อต่านสภาวะโลกร้อน กล่าว และว่า ทำให้กลุ่มทุนกระดี๊กระด๊า สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเดิมดีอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนเป็นร่างกฎหมายใหม่คือผักชีโรยหน้า แต่เนื้อในต้องการให้นายทุนเข้ามาทำธุรกิจสัตว์ป่าชัดเจน พร้อมตั้งคำถามหากหน่วยงานรัฐร่างกฎหมายแบบนี้ยิ่งทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อกลุ่มทุน
นายศรีสุวรรณ ยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ไม่สามารถรับมาตรา 38 ได้ เพราะให้กลุ่มทุนเข้าไปใช้ประโยชน์ในอุทยานฯ ถึง 30 ปี ถามว่าจะมีนายทุนกี่คนเข้าไปในพื้นที่แล้วจะไม่แสวงหาผลประโยชน์เต็มที่ ไม่มีนายทุนที่มีจิตใจเพื่อการอนุรักษ์และหวังทะนุถนอม แม้อุทยานฯ จะมีกฎห้ามนักท่องเที่ยวเดินป่า สุดท้ายโดนจ่ายค่าหัวก็ทำได้ ประเทศสารขันธ์ทำได้ เพราะระบบคอร์รัปชันไทยเข้มแข็ง ระบบตรวจสอบอ่อนแอ แม้จะมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
ด้านอาจารย์เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าว่า เป็นแนวคิดการนำสิ่งของใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน ขึ้นทะเบียนและบริหารจัดการให้อยู่ในขอบเขต เพราะปัจจุบันมีการลักลอบเพาะพันธุ์สัตว์ป่านำไปขาย แต่ไม่ทราบว่า แนวคิดดังกล่าวจะดีมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจ คือ การนำเข้า-ถอนรายชื่อสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองออกจากบัญชี จะต้องรับฟังความคิดเห็นให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีกระบวนการเหล่านี้อยู่ แต่การรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้นเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น แตกต่างจากในต่างประเทศจะถือเป็นเรื่องใหญ่
นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ กังวลจะกระทบชุมชน แม้ในร่างรัฐธรรมนูญจะเขียนรับรองสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ฉะนั้นภาครัฐต้องให้ชุมชนที่อยู่มาก่อนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยใช้วิธีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง
ขณะที่นายนิติพงษ์ แสนจันทร์ ผู้แทนกองนิติการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า ว่าส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อการค้า และเป็นประโยชน์ของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ยืนยันเป็นสัตว์ป่าบางชนิดเท่านั้นและต้องไม่กระทบกับความเป็นมาของสัตว์ป่า ร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้ให้สิทธิเพาะพันธุ์ทุกชนิด ทั้งนี้ การปรับปรุงพยายามควบคุมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ขณะนี้กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งจะต้องนำความคิดเห็นต่าง ๆ ไปใช้ประกอบด้วย
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ได้เพิ่มเรื่องการฟ้องร้องทางแพ่ง เพราะเดิมไม่มีการฟ้องร้องค่าเสียหายดังกล่าวในกรณีบุกรุกทำลายอุทยานแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ภาครัฐกำลังกำลังทวงคืนผืนป่า และเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้
เมื่อถามถึงความแผนการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้แทนกรมอุทยานฯ กล่าวว่า จะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนพฤษภาคม 2558 และจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ไม่เกินเดือนกรกฎาคม 2558 .