4ข้อเสนอ“สุภิญญา” ชงกสทช.ปฏิรูปบทลงโทษ ให้ความเป็นธรรมผู้ประกอบการ
เปิด 4 ข้อเสนอ “สุภิญญา” ชงกรรมการ กสทช. ปฏิรูปบทลงโทษใหม่ ยันวิจารณ์ “แม่น้ำ 5 สาย” ไม่ขัดความมั่นคง ชี้สื่อ-พลเมืองมีบทบาทสำคัญปฏิรูปประเทศ ลั่นห้ามตัดสินคนอื่น “ล้มเจ้า” จนกว่าจะพิสูจน์ว่าผิดจริง แนะควรมุ่งเอาผิดโฆษณาเกินจริง อย่ามัวมุ่งดูเนื้อหาการเมือง ไม่เห็นด้วยสั่งปิด 3 วัน ควรปิดเฉพาะรายการที่ปลุกปั่นเท่านั้น
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ข้อเสนอแนะของ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงกรรมการ กสทช. ต่อมาตรการกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กรณีที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการออกอากาศ (MOU)
(อ่านประกอบ : “สุภิญญา”ชงกสทช.ปฏิรูปบทลงโทษใหม่-ยันวิจารณ์“แม่น้ำ 5 สาย”ไม่ผิด)
----
สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 ได้มีการพิจารณาเรื่องมาตรการมาตรการกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กรณีที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการออกอากาศ (MOU)
ซึ่งดิฉันได้แจ้งต่อที่ประชุม กสท. ว่าจะจัดส่งข้อเสนอแนะต่อมาตรการกำกับดูแล เพื่อให้สำนักงาน กสทช. นำไปพิจารณาประกอบการดำเนินการ ดังนี้
1.เนื่องจากการพิจารณาการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งหรือสร้างความแตกแยกในราชอาณาจักร อันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะนั้น เป็นเรื่องยากและมีมุมมองที่หลากหลายในการตีความว่าเนื้อหาใดเข้าข่ายในลักษณะดังกล่าว สำนักงานจึงควรมีแนวปฏิบัติหรือขอบเขตที่ชัดเจนในเรื่องรูปแบบหรือลักษณะการนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง หรือยั่วยุปลุกปั่น
เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการใช้อำนาจและไม่เลือกปฏิบัติตามอำเภอใจ จึงเห็นว่า การวิจารณ์การทำงานของคณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ควรนับรวมว่าเป็นเนื้อหารายการที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงบรรยากาศทางการเมืองที่อยู่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสื่อมวลชนและพลเมืองมีบทบาทอย่างสำคัญในการปฏิรูปการเมืองไทย
2.ในส่วนการพิจารณาการออกอากาศรายการเนื้อหาสาระ โดยกล่าวหาบุคคลอื่นว่าหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ล้มเจ้า” นั้น ดิฉันเห็นว่า กรณีนี้สำนักงานควรมีบรรทัดฐานในการพิจารณาการออกอากาศรายการเนื้อหาสาระของทุกฝ่ายทางการเมืองด้วยการกล่าวหาในลักษณะที่พิพากษา หรือตัดสินบุคคลอื่นทั้งที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายหรือกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยในข้อหา “ล้มเจ้า” ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนอย่างร้ายแรง เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไป และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกกล่าวหา
ในด้านหนึ่งจึงเป็นเรื่องจรรยาบรรณของผู้ดำเนินรายการหรือผู้สื่อข่าวที่จำเป็นต้องรักษาสิทธิของผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายตามหลักที่ว่า “ให้สันนิษฐานว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่ามีความผิด”
3.นอกจากนี้ ดิฉันยังเห็นว่า มาตรการกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุฯ ควรให้ความสำคัญกับการนำเสนอเนื้อหารายการ หรือโฆษณา ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายทุกชนิดอันส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง แทนการมุ่งกำหนดมาตรการออกอากาศเนื้อหารายการที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแต่ประเด็นเดียว
4.สำหรับการพิจารณาโทษทางปกครอง ดิฉันเห็นว่า การเสนอให้กำหนดโทษทางปกครองด้วยการพักใช้ใบอนุญาตนั้น อาจเข้าข่ายเป็นการลงโทษเกินกว่าเหตุได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้รับใบอนุญาต หากเห็นว่าเนื้อหาที่ออกอากาศขัดต่อกฎหมาย ควรพิจารณาระงับการออกอากาศเฉพาะรายการแทนการพักใช้ใบอนุญาตทั้งสถานีเป็นเบื้องต้น
หลังจากนั้นในการดำเนินการควรคำนึงถึงขั้นตอนตามลำดับของการพิจารณาโทษทางปกครอง แทนการเลือกใช้อำนาจให้พักใช้อนุญาตคราวละไม่เกิน 3 วัน หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามที่สำนักงานฯนำเสนอ
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.สุภิญญา จาก tnews